Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

24 มีนาคม 2565
บทความโดย นายอาวุธ แก่นเพชร นักวิทยาศาสตร์
อุทยานพฤกษศาสตร์

เมื่อต้องรับบทบาทเป็นพ่อครัวใจกล้า ในการไปซื้อของสดในตลาดสดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่บ้าน ในขณะที่เดินจับจ่ายใช้สอย ก็ยังไม่ทิ้งวิญญาณความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในการสังเกตสัตว์ชนิดที่ต่าง ๆ ที่พบในตลาดสด สำหรับบทความนี้ก็จะหยิบยกเรื่องของปูทะเลที่พบเจอในตลาดสด ซึ่งเป็นปูที่จับมาได้จากท้องถิ่นชุมชนมาเล่าให้ฟังกันครับ 

ปูทะเล มีชื่อสามัญว่า Mud crab เป็นปูกลุ่มเดียวกับปูม้า ปูดาว ปูลาย ปูกะตอยเขียว ปูหินก้ามฟ้า และปูตายาว  เป็นต้น ปูกลุ่มนี้มีขาคู่สุดท้ายมีลักษณะแบนเหมือนใบพาย ใช้สำหรับการว่ายน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่พบได้ในปูกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นปูในวงศ์  Portunidae ซึ่งมีการจัดลำดับทางอนุกรมวิธานดังนี้

อาณาจักร (Kingdom) Animalia

          ไฟลัม (Phylum) Arthropoda

                   ไฟลัมย่อย (Subphylum) Crustacea

                             ชั้น (Class) Malacostraca

                                      อันดับ (Order) Decapoda

                                                วงศ์ (Family) Portunidae
            โดยปูในวงศ์นี้แต่ละกลุ่มจะมีจำนวนฟันข้างกระดองแตกต่างกัน ปูทะเลมีฟันข้างกระดองข้างละ 9 อัน มีขนาดใกล้เคียงกัน ปูม้าและปูดาว มีฟันข้างกระดองข้างละ 9 อัน อันสุดท้ายยาวที่สุด ปูลายและปูกะตอยเขียวมีฟันข้างกระดองข้างละ 6 อัน ปูหินก้ามฟ้ามีฟันข้างกระดองข้างละ 5 อัน ส่วนปูตายาวมีฟันข้างกระดองข้างละ 2 อันและมีก้านตายาว ปูเหล่านี้เป็นปูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสามารถนำมาบริโภคได้

ปูม้า
Portunus pelagicus

ปูลาย
Charybdis (Charybdis) feriata

ปูลาย
Thranita crenata

ปูดาว
Portunus sanguinolentus

ปูกะตอยเขียว
Charybdis (Charybdis) anisodon

ปูตายาว
Podophthalmus vigil

ภาพโดย อาวุธ แก่นเพชร

ปูทะเล มี 4 ชนิด

            1. ปูดำ หรือปูแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Scylla olivacea
            2. ปูขาว หรือปูทองหลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scylla paramamosain
            3. ปูเขียว หรือปูทองโหลง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scylla serrata
            4. ปูม่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scylla tranquebarica
           
ปูเขียวและปูม่วงเป็นปูทะเลที่พบได้ยาก ส่วนปูดำและปูขาว เป็นปูทะเลที่พบได้ง่าย ในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชก็พบปูทะเลทั้ง 2 ชนิดนี้ และในตลาดที่มีการจำหน่ายก็เป็นปู 2 ชนิดนี้ โดยปูขาวจะเป็นปูที่มีรสชาติดีและเป็นที่นิยมซื้อมาบริโภค ซึ่งปูทั้ง 2 ชนิดมีลักษณะสำคัญดังนี้ 

ปูดำ

กระดองทรงรีรูปไข่ สีเขียวอมน้ำตาล ฟันที่อยู่ระหว่างตา 4 ซี่ ปลายมน  ก้ามมีสีส้ม

ปูขาว

กระดองทรงรีรูปไข่ สีเขียวหรือเขียวอ่อน ฟันที่อยู่ระหว่างตา 4 ซี่ ปลายแหลม ก้ามส่วนบนสีเขียว ส่วนล่างสีเหลืองอ่อน

ที่มา อาวุธ แก่นเพชร, อุดมศักดิ์ ดรุมาศ และ ศักดิ์ดา ใบมิเด็น (2559)

แหล่งอาศัยของปูทะเล

            ปูดำ พบอาศัยบริเวณป่าชายเลน
            ปูขาว ส่วนใหญ่พบบริเวณชายฝั่งและไกลจากชายฝั่งออกไป (ผ่องพิศ ประจักษ์วิมล, 2544)

ความแตกต่างระหว่างเพศ

            ปูเพศผู้มีส่วนท้อง (จับปิ้ง) แคบ ใต้ส่วนท้องมีอวัยวะเพศผู้ (Gonopods) ปูแต่ละชนิดจะมีอวัยวะคู่นี้แตกต่างกันจึงเป็นลักษณะสำคัญที่ใช้ในการจัดจำแนกชนิดของปูได้ด้วย ช่องเปิดสำหรับปล่อยสเปิร์มอยู่ที่โคนขาเดินคู่ที่ 5
            ปูเพศเมียมีส่วนท้อง (จับปิ้ง) กว้าง ใต้ส่วนท้องมีรยางค์ลักษณะคล้ายขาว่ายน้ำ (Pleopods) ช่องเปิดสำหรับปล่อยไข่อยู่ที่โคนขาเดินคู่ที่ 3

ฤดูวางไข่ของปูทะเล

            จากข้อมูลการศึกษาฤดูวางไข่ของปูทะเลในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบว่า ฤดูวางไข่ของปูขาว คือเดือน ตุลาคม – ธันวาคม และเดือนเมษายน – พฤษภาคม ฤดูวางไข่ของปูดำ คือเดือน พฤศจิกายน-มกราคม  (ผ่องพิศ ประจักษ์วิมล, 2544) ทั้งนี้ปูทะเลในแต่ละพื้นที่อาจจะมีฤดูกาลในการพัฒนารังไข่และช่วงเวลาในการวางไข่แตกต่างกันออกไป แสดงให้เห็นว่าปูทะเลมีการวางไข่ได้ตลอดปี (ชลี ไพบูลย์กิจกุล, สาลินี ธาราพรรค์, ศศิลา ฉิมพลี และ เบญจมาศ ไพบูลย์กิจกุล, 2559)     

 

วงจรชีวิตของปูทะเล

            ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำกร่อย ที่มีการอพยพย้ายถิ่นเพื่อการแพร่พันธุ์ โดยปูเพศเมียจะอพยพจากแหล่งหากินในเขตน้ำกร่อย ออกไปวางไข่ในทะเล ซึ่งการอพยพนี้มีขึ้นภายหลังจากทีได้จับคู่ผสมพันธุ์แล้ว ในขณะที่กำลังเดินทางออกไปสู่ทะเล ปูบางตัวจะปล่อยไข่ออกมาไว้ที่ส่วนท้อง ลูกปูที่ออกจากไข่ ระยะแรกเรียกว่า ระยะ Zoea เป็นระยะที่รยางค์ว่ายน้ำยังไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ จึงดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน ล่องลอยหากินตามกระแสน้ำ (ระยะ Zoea มี 5 ระยะ ปูจะมีการลอกคราบเป็นระยะ ๆ เพื่อการเจริญเติบโต)  ระยะต่อมาเรียกว่า Megalopa มีการว่ายน้ำสลับกับการหยุดเกาะอยู่กับที่เป็นครั้งคราว เริ่มมีการแพร่กระจายกลับเข้ามาหากินในเขตน้ำกร่อย แล้วมีการลอกคราบเปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นเหมือนพ่อแม่ปูทุกประการ   (สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต, 2564)

ทั้งนี้ก็ได้ทราบรายละเอียดไปพอหอมปากหอมคอ เวลาเจอปูทะเลก็สามารถบอกได้ว่าเป็นชนิดไหน และหากเราต้องการให้ปูทะเลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เราก็ไม่จับปูในช่วงที่ปูวางไข่ ปล่อยให้ปูได้ออกลูกออกหลาน จับปูในขนาดที่เหมาะสมไม่เล็กจนเกินไป นอกจากนี้เราก็ต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรชายฝั่งทะเล เช่น ป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ พื้นที่นี้ก็จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เจริญเติบโต สืบพันธุ์ ออกลูกออกหลาน เพื่อคงความยั่งยืนให้กับทรัพยากรปูทะเลตลอดไป 

 

เอกสารอ้างอิง

ชลี ไพบูลย์กิจกุล, สาลินี ธาราพรรค์, ศศิลา ฉิมพลี และ เบญจมาศ ไพบูลย์กิจกุล. (2559).
ชีววิทยาบางประการปูทะเล
Scylla olivacea บริเวณชายฝั่งชุมชนบ้านบางสะเก้า จังหวัดจันทบุรี. แก่นเกษตร, 44 (ฉบับพิเศษ 1), 717-722.

ผ่องพิศ ประจักษ์วิมล. (2544). ฤดูวางไข่และขนาดเพศเมียแรกเริ่มสมบูรณ์เพศของปูทะเลขาว (Scylla
paramamosain
) และปูทะเลดำ (Scylla olivacea)
ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์).

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต. (2564). ปูดำ. สืบค้นจาก https://phuketaquarium.org/knowleadge/
         ปูดำ-scylla-serrata-serrated-mud-crab/

อาวุธ แก่นเพชรอุดมศักดิ์ ดรุมาศ และ ศักดิ์ดา ใบมิเด็น. (2559). คู่มือศึกษาสัตว์ที่พบในป่าชายเลน
จังหวัดนครศรีธรรมราช
. เชียงใหม่
: นันทกานต์ กราฟฟิคการพิมพ์.

 

Facebook Comments Box