Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ลมพัด 6 ทิศ @ปากพนัง

cover ลมพัด 6 ทิศ

ปากพนังนอกจากมี “นา” แล้วยังมี “ทะเล” อีก คนปากพนังจึงศึกษาเรื่องลมไว้
โดยมีชื่อเรียกลมที่พัดมาจากทิศต่าง ๆ ดังนี้ครับ

ชื่อเรียกลมที่พัดมาจากทิศต่าง ๆ

ลมทิศตะวันตก

ทิศตะวันตก

เรียกว่า “ลมพรัด”
มาจากภาษามลายูว่า บารัต (Barat)
แปลว่า ทิศตะวันตก

ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

เรียกว่า “ลมพัดหลวง”
มาจากภาษามลายูว่า บารัต ลาอุต (Barat laut)
แปลว่า ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เรียกว่า “ลมเภา” (ตะเภา)
มาจากตรงกับฤดูที่เรือสำเภาจากเมืองจีนแล่น
เข้ามาเทียบท่าเมืองนคร

ทิศตะวันออก

ทิศตะวันออก

เรียกว่า “ลมออก” หรือ “ลมมรสุม”
มาจากเป็นทิศที่มีฝนตกมากและมีคลื่นลมแรง

ทิศตะวันออกเฉียงใต้

ทิศตะวันออกเฉียงใต้

เรียกว่า “ลมสลาตัน”
มาจากภาษามลายูว่า สลาตัน (Selaton)
แปลว่าทิศใต้

ทิศตะวันตกเฉียงใต้

ทิศตะวันตกเฉียงใต้

เรียกว่า “ลมพัดยา” หรือ “ลมหัวเสา”
มาจากภาษามลายูว่า บารัต ดายา (Barat daya)
จะพัดมาในช่วงก่อนเข้าพรรษา

ขอสังเกตเรื่องชื่อลมที่ปากพนัง

ข้อสังเกต 1. เรือแขก

          หลังจากมีโรงสีไฟเกิดขึ้นในสมัย ร.5 จะมีเรือต่างประเทศเข้ามาค้าขายและซื้อข้าวสารกลับไปนอกจากเรือจากเมืองจีนแล้วยังมีเรือที่มาจากชวา สุมาตราตรังกานู เป็นต้น ซึ่งจะเรียกรวม ๆ กันว่า “เรือแขก” ทำให้มีคนเรือที่เป็นชาวมลายูอยู่ที่ปากพนัง เป็นเหตุที่ทำให้ชื่อลมหลายทิศมีอิทธิพลมาจากภาษามลายู เช่น ลมพรัด ลมพัดหลวง ลมพัดยา ลมสลาตัน เป็นต้น

ข้อสังเกต 2. ไก่ตายบาด

          ช่วงที่มีลมพัดมาจากทิศตะวันตก เช่น ลมพรัด ลมหัวสา จะมีฝนตกช่วงบ่ายแก่ ๆ ถึงเย็น และจะมีไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมากเรียกว่า “ไก่ตายบาด”

          ช่วงเวลานี้เป็นฤดูฝน จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากทะเลอันดามันเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ผ่านอ่าวไทย แล้วเข้าภาคกลาง ทำให้ฝนตกที่ภาคใต้ ฝั่งตะวันตกและภาคกลาง ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกเมฆจะลอยมาติดเทือกเขานครศรีธรรมราชในตอนเช้า พอตกบ่ายเมฆที่มาติดภูเขาจะมีมากพอจนล้นข้ามเทือกเขามาได้จึงทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกช่วงบ่ายแก่ ๆ ถึงเย็น

          ก่อนมีฝนตกจะผ่านหน้าแล้งมาก่อน บรรดาแมลงส่วนหนึ่งจะลงไปอาศัยทำรังอยู่ใต้ดิน พอฝนตกแมลงจำเป็นต้องขึ้นมาจากใต้ดิน เป็นโอกาสให้ไก่มีอาหารกินเป็นจำนวนมากจนย่อยไม่ทัน ไก่จึงท้องอืดตาย ชาวบ้านที่มีความชำนาญในการเลี้ยงไก่ในช่วงนี้เขาจะให้ไก่กินทรายหยาบ เข้าไปช่วยย่อยด้วยแล้วไก่จะรอดตาย

ข้อสังเกต 3. หาดทราย

          ช่วงที่ลมพัดมาจากทิศตะวันตก ที่ปากพนังลมจะพัดจากแผ่นดินออกทะเลทำให้หาดทรายงอกเพิ่มขึ้น แต่เมื่อลมเปลี่ยนทิศเป็นพัดมาจากทิศตะวันออกเป็นลมมรสุมลมจะพัดจากทะเลไกล ๆ เข้าสู่ฝั่ง ทำให้เกิดคลื่นเซินท์ชนฝั่งเป็นเหตุให้หาดทรายพังออกไปเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปีมีทั้งหาดทรายพังและหาดทรายงอก แต่ที่หาดงอกจะมากกว่าหาดพังให้สังเกตได้จากประวัติวัดพระธาตุนครฯ สร้างอยู่บนหาดทรายแก้ว ปัจจุบันอยู่ห่างจากทะเล 30 กว่ากิโลเมตร

          น้ำในอ่าวไทยจะไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือสังเกตได้จากแหลมทุกแหลมในอ่าวไทยจะชี้ไปทางทิศเหนือ กระแสน้ำได้นำทรายจากทิศใต้มาเติมให้ชายฝั่งตลอดมา ต่อมามีการสร้างเขื่อนกั้นทรายที่ปากน้ำสงขลาเพื่อให้เรือเข้าสงขลาได้สะดวก เป็นเหตุให้ไม่มีทรายไหลเข้ามาเติมหาดอีกแล้ว เป็นปฐมบทที่ทำให้หาดทรายที่จังหวัดนครศรีธรรมราชพังมากกว่างอก จนถึงปัจจุบันนี้

ข้อสังเกต 4. ลมเภา

          “ลมเภา” หรือ “ลมตะเภา” จะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เรือสำเภาจากเมืองจีนแล่นมาเมืองไทยได้ง่ายขึ้นในหน้านี้ ชาวจีนไหหลำที่มีความชำนาญในการเดินเรือจะเป็นพวกแรก ๆ ที่เดินทางมาปากพนังตั้งแต่ก่อนยุคโรงสี

ท่านใดที่อ่านมาถึงตรงนี้ วันนี้ท่านได้ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับปากพนังเพิ่มอีก 1 อย่างแล้วนะครับ
ในครั้งหน้าจะมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจากกรรมการสภาฯ
เรียบเรียงและจัดทำภาพประกอบ
Facebook Comments Box