Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โยคะ ศาสตร์แห่งการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

โยคะ (Yoga) คือศาสตร์ที่เป็นวิถีแห่งการฝึกฝนพัฒนาตนเองที่มีมานานกว่า 5,000 ปี โยคะเป็นศาสตร์ที่มนุษย์รู้จัก (Walters, 2002, p. 23) (Brown, 2009, p. 8) มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย (Kent, 1999, p. 19) เป็นระบบปรัชญาเก่าแก่ของอินเดียที่นักปราชญ์โบราณ หรือโยคี (Yogi) คิดค้นขึ้นเพื่อนำ ไปสู่ความพ้นทุกข์โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนามนุษย์ในทุก ๆ มิติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณอย่างเป็นองค์รวม วิธีการปฏิบัติโยคะเป็นการพัฒนาร่างกายและจิตใจเพื่อฝึกหัดร่างกายให้แข็งแรง ไม่เป็นโรค ฝึกหัดการหายใจ และขั้นสุดท้ายเป็นการฝึกจิตเป็นสมาธิถึงระดับฌาน โยคะมีความหมายหลายอย่างในภาษาสันสกฤต โยคะมาจากคำว่า “ยุชริ” หรือ “ยุช” (Yui) (Metha, 2002, p. 8) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง “การรวมกัน” (Keown, 2003, p. 340) (สุนีย์ ยุวจิตติ, 2544, น. 14) ได้อธิบายความหมายของ ยุช ซึ่งแปลว่า เทียมเอก ผูกมัด ประกอบ หรือรวมกัน ตามความหมายของศัพท์ โยคะหมายถึงความเพ่งเล็ง หรืออาจเรียกได้ว่าสมาธิเพื่อการควบคุมความปรวนแปรแห่งจิตให้สิ้นไป (Feuerstein, 2002, p. 340) ได้อธิบายว่าโยคะมีความหมายว่าความเป็นหนึ่ง (Union) การเทียมเข้าด้วยกัน (Team) การเชื่อม (Conjunction) ความหมายที่แท้จริงของความเป็นหนึ่ง (Walters, 2002, p. 23) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของโยคะที่จะทำให้ผู้ฝึกโยคะ หรือโยคีมีสติ (Awareness) ไม่เพียงแต่จะเน้นความเป็นหนึ่งของทุกสิ่งแต่เน้นให้ผู้ฝึกเข้าถึงความเป็นจริงในตัวเองมากขึ้น

โยคะ เป็นเทคนิคหนึ่งของโยคีและเป็นการบริหารเชิงสมาธิที่มีจุดมุ่งหมายในการนำมนุษย์ออกจากวังวนแห่งโลกทางวัตถุเพื่อที่จะให้หวนรำลึกได้ใหม่แล้วกลับไปสู่ความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณ โยคะแสวงหาเพื่อที่จะคลี่คลายบุคคลออกจากความเกี่ยวข้องในความเป็นไปของโลกเพื่อที่จะให้คนตระหนักในเรื่องนี้และเป็นอิสระด้วยการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ (Kinsley, 1993) โยคะคือการบำเพ็ญเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณและศาสนาฮินดู และการควบคุมสมาธิการกำหนดลมหายใจและการฝึกฝนร่างกายเพื่อสุขภาพ และการผ่อนคลาย โยคะยังมีความเชื่อมโยงกับปรัชญาและศาสนาในประเทศอินเดีย (สาลี่ สุภาภรณ์, 2544, น. 1) ในประเด็นด้านปรัชญาโยคะถือว่าเป็นอีกหนึ่งปรัชญาของฮินดู (Kinsley, 1993, p. 189)

โยคะมีความหมายหลายนัย นัยหนึ่งหมายถึงการประกอบการลงมือกระทำการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ถึงจุดหมาย คือ โมกษะ ความหลุดพ้นจากทุกข์ นอกจากนั้นโยคะจะหมายถึง การรวมเอาอาตมันย่อยหรือชีวตมัน (Individual soul) ให้เข้ากับปรมาตมัน (Universal Soul) อันเป็นสากลหลายจักรวาลโดยการปฏิบัติโยคะ (แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ, 2542, น. 7)  นอกจากนี้ความหมายของโยคะในความหมายของท่านปตัญชลี ยังหมายถึงวิริยะความพากเพียร เพื่อให้จิตหลุดพ้น หรือความหมายอีกนัยหนึ่ง ยังหมายถึงการดับการเปลี่ยนแปลงของจิต เพราะปรัชญาโยคะเชื่อว่า จิตโดยสภาพของมัน ย่อมมีปกติ ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาให้อยู่กับที่ได้ยาก มีปกติหงุดหงิด และมักจะฟุ้งซ่านไปตามกิเลสตัณหา วิธีการที่จะดับอาการเหล่านี้ของจิตจะต้องปฏิบัติตามแนวของโยคะ  (แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ, 2542, น. 7) ตรงกับที่ราชบัณฑิตยสถานได้พิมพ์หนังสือเรื่องปรัชญาอินเดียที่ให้ความหมายโยคะตามท่านปตัญชลี ว่าโยคะ หมายถึง ความพยายามทางจิตเพื่อให้บรรลุถึงความสมบูรณ์เต็มที่โดยวิธีการควบคุมร่างกายและใจ โดยวิธีการปฏิบัติให้มีวิเวกญาณ  (อดิศักดิ์ ทองบุญ, 2555, น. 271)

บรรณานุกรม
Brown, C. (2009). The Yoga Bible. Godsfield.
Feuerstein, G. (2002). The Art and Science of Raja Yoga. Crystal Clarity Publishers.
Kent, H. (1999). The Complete Illustrated Guide to Yoga. Element Books Limited.
Keown, D. (2003). A Dictionary of Buddhism. Oxford University Press Inc.
Kinsley, D.R. (1993). Hinduism A Cultural Perspective. Prentice Hall.
Metha, M. (2002). How to Use Yoga. Lorenz Books.
Walters, J.D. (2002). The Art and Science of Raja Yoga. Ananda Publications.
แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ. (2542). โยคะเพื่อการพัฒนาร่างกายและจิตใจ. เอช.ที.ที เพรส.
สาลี่ สุภาภรณ์ (2544). ตำราไอเยนกะโยคะ.บริษัท เฟื่องฟ้า จำกัด.
สุนีย์ ยุวจิตติ. (2544). โยคะเพื่อพลังกายและพลังจิต. สายส่งสุขภาพใจ.
อดิศักดิ์ ทองบุญ. (2555). ปรัชญาอินเดีย (พิมพ์ครั้งที่ 4). ราชบัณฑิตยสถาน.

บทความโดย เพ็ญนภา วัยเวก ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box