Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การจดทะเบียนสิทธิบัตร

หลายๆ ท่านเคยได้ยิน คำว่า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร แต่น้อยคนที่จะทราบว่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร มีความแตกต่างกันทั้งในผลงาน หรือแม้แต่ความคุ้มครองของผลงาน ถ้าอยากรู้แล้ว…เราจะสรุปให้ฟัง

 

ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร คืออะไร?

ลิขสิทธิ์ หมายถึง ผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ เช่น งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ เป็นต้น ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ของตนได้ (ที่มา : กรมทรัพย์ทางปัญญา)

สิทธิบัตร (Patent) คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด โดยสิทธิบัตรสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

(1) สิทธิบัตรการประดิษฐิ์ (Invention Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ ในการคิดค้นเกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุง คุณภาพของผลิตภัณ

(2) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับการผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรมได้ และมีความแตกต่างไปจากเดิม

อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์จะมีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตการรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น กลไกของเครื่องยนต์, ยารักษาโรค, วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น

เป็นอย่างไรกันบ้าง เราพอจะทราบกันแล้วใช่มั้ยว่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่เดี๋ยวก่อน ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ทั้งหมดที่กล่าวยังมีอีก 1 ประเด็นที่ขาดไม่ได้ คือ ระยะเวลาอายุความคุ้มครองผลงานของเรา ไปดูกันเลย

ระยะเวลาความคุ้มครอง สามารถแบ่งออกได้ตามประเภทของสิธิบัตร ได้ดังนี้

  1. ลิขสิทธิ์ จะมีความคุ้มครองตลอดอายุของสร้างสรรค์ และจะได้รับความคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างเสียชีวิต แต่ทั้งนี้ การคุ้มครองผลงานแต่ละประเภทจะมีอายุการคุ้มครองที่แตกต่างกัน ดังนี้
    1. อายุการคุ้มครองทั่วไป ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น กรณีที่ผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝง หรือไม่ปรากฎชื่อผู้สร้างสรรค์ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้ สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
    2. งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
    3. งานที่สร้างสรรค์โดยการจ้างหรือตามคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ให้มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
    4. งานศิลปประยุกต์ ลิขสิทธิ์มีอายุ 25 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น กรณีที่ได้มีการโฆษณางานตาม 1 – 3 ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ยกเว้นในกรณีงานตาม 4 ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 25 ปีนับแต่ได้มีการโฆษณา เป็นครั้งแรก

  • สิทธิบัตรการประดิษฐิ์ จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 20 ปี
  • สิทธิบัตรการออกแบบ จะมีความคุ้มครองอยู่ที่ 10 ปี
  • อนุสิทธิบัตร มีความคุ้มครองอยู่ที่ 6 ปี

เมื่อเรารู้ว่า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร คืออะไร ใช้คุ้มครองผลงานประเภทใด และมีระยะเวลาในการคุ้มครองอย่างไร ก็จะทำให้เราสามารถคุ้มครองผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ถูกต้องตามประเภทของผลงานและเกิดประโยชน์สูงสุดกับเราในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน

Facebook Comments Box