Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การทำเกษตร อาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่าย ดังจะเห็นว่ามีหลายคนที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ บางคนใช้เงินก้อนสุดท้ายลงทุนไปกับการเกษตรแต่ไม่ได้ผลเราจะมาถอดบทเรียนข้อคิดและปัญหาสำคัญที่ทำให้การทำเกษตรไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ต้องการ 

1.ไม่มีการตั้งเป้าหมายเพื่อทำเกษตร
การตั้งเป้าหมายก่อนว่าจะทำเกษตรไปเพื่ออะไรจะทำให้สามารถกำหนดรูปแบบการทำเกษตร ระยะเวลา แรงงานที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้การลงทุนนั้นมีความคุ้มค่ามากที่สุดไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่ทำเกษตรเป็นงานอดิเรกหรือวัยเกษียณมักจะทำเพื่อพักผ่อน ฟื้นฟูสุขภาพ มีการทำเกษตรเพื่อหวังเพียงรายได้เล็กน้อยนำมาใช้จ่ายหมุนเวียนและเป็นรายได้เสริม จึงมีความยืดหยุ่นในการทำเกษตรมากกว่า ขณะที่ผู้ที่ทำเป็นอาชีพหวังรายได้หลักจากการทำเกษตร จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ และมีการดูแลสวนหรือฟาร์มจริงจัง อาจจะมีการสร้างรายได้จากผลผลิตหลายๆรูปแบบเพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง การตั้งเป้าหมายทำเกษตรไปทีละลำดับขั้นจะทำให้สามารถพัฒนาธุรกิจเกษตรต่อไปได้ เพื่อไม่ให้เงินส่วนอื่นมาลงกับการทำเกษตรทั้งหมดโดยเสียเปล่า

2.ไม่มีรูปแบบการทำเกษตรที่เหมาะกับตัวเอง
เวลาและวัยเป็นตัวกำหนดรูปแบบการทำเกษตรได้เช่นกันผู้ที่ทำเกษตรตั้งแต่อายุยังน้อยสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า แม้ทำผิดพลาดก็ยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนหรือหาช่องทางใหม่ ๆ ในการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งยังมีกำลังในการลงมือทำมากกว่า สำหรับผู้ที่ทำเกษตรในวัยที่อายุมากอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการจัดการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน เครื่องมือที่นำมาใช้ รูปแบบการทำเกษตรยังควรเลือกให้เหมาะสมกับความสนใจหรือความถนัดจะทำให้รู้สึกสนุกกับการทำเกษตร และสนใจค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาการผลิต เช่นปลูกผัก สวนผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น หากมีพื้นที่ไม่มากก็อาจจะเลือกปลูกพืชที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของท้องตลาด หรือแปรรูปผลิตสร้างรายได้เพิ่ม หากไม่มีแรงงานก็อาจจะเลือกปลูกพืชที่ดูแลง่าย ให้ผลผลิตเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวด้วยตนเองได้สะดวกเป็นต้น

3.ไม่วางแผนการใช้ที่ดิน
หลายคนอาจจะเริ่มไม่ถูกเมื่อมาลงมือทำเกษตรครั้งแรก การวางผังสวนจะช่วยให้วางแผนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้คุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอันดับแรกต้องรู้จักพื้นที่ของตนเองว่าเหมาะในการทำเกษตรแบบไหน เช่นปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไรบ้างทั้งใกล้แหล่งวัตถุดิบ อยู่ใกล้โรงงานแปรรูปหรือส่งออก มีปัญหาดินเค็ม น้ำแล้ง เป็นต้น เพื่อให้วางแผนผลิตสินค้าได้เหมาะสม จากนั้นจึงกำหนดการใช้งานในสวนไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ สระน้ำ อาคารสิ่งก่อสร้าง ถนนหนทาง เป็นต้น หากพื้นที่เกษตรมีขนาดใหญ่อาจจะทำไปทีละส่วน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนทำในครั้งเดียว แต่ควรกำหนดล่วงหน้าว่าส่วนที่เหลือจะทำอะไรในอนาคต ระหว่างยังไม่ปลูกพืสร้างรายได้อาจจะปลูกไม้ยืนต้นเพื่อรอขายในระยะยาว สิ่งสำคัญคือพื้นที่เกษตรแต่ละจุดในฟาร์มควรเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สะดวกในการขนส่งผลผลิต หากมีการใช้เครื่องมือเกษตรจำเป็นต้องกำหนดระยะปลูกให้เหมาะสมตั้งแต่แรกเพื่อให้นำเครื่องมือเข้าไปใช้ได้ง่าย การวางผังพื้นที่ยังรวมไปถึงการกำหนดแปลงปลูกต้นไม้ที่ต้องคำนึงถึงทิศทางของแสงแดดและลมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากสภาพพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าขณะเดียวกันก็สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติเบื้องต้นได้

4.ควรรู้จักดินในพื้นที่
การเตรียมพื้นที่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการทำเกษตรแบบเพาะปลูกก่อนอื่นควรตรวจสอบสภาพดินในพื้นที่ว่ามีลักษณะอย่างไรหากเป็นดินเดิมที่มีในพื้นที่เหมาะสำหรับปลูกพืชประเภทไหน หากเป็นดินที่นำมาถมใหม่ ดินนั้น ๆมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง หรือมีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถปรับปรุงดินได้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอคำปรึกษาได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน

5.ขาดแหล่งน้ำ 
น้ำคือหัวใจสำคัญในการทำเกษตร หากพื้นที่เกษตรนั้น ๆ มีแหล่งน้ำเดิมหรืออยู่ติดกับแหล่งน้ำที่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เจ้าของที่ดินได้อย่างมหาศาล แต่หากเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่ที่ไม่มีแหล่งน้ำอาจจำเป็นต้องขุดบ่อน้ำเพื่อใช้กักเก็บน้ำ ขนาดบ่อให้คำนวณจากปริมาณใช้น้ำตลอดปี หรือทำบ่อบาดาลก็ได้เช่นกัน ซึ่งการขุดบ่อถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงในการทำเกษตร การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนได้ เช่น หากพื้นที่นั้น ๆ มีแหล่งน้ำไม่เพียงพอและมีปริมาณน้ำฝนน้อยก็อาจจะเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือทนแล้งได้ดี ปลูกพืชให้เกื้อกูลกันเป็นลำดับชั้น

6.ไม่วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
การวางแผนปลูกพืชหรือผลิตสินค้าเกษตรใดๆก็ตามควรมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อให้ผลิตสินค้ามาแล้วมีแหล่งซื้อสินค้ารองรับ สำหรับผู้เริ่มต้นที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญควรเริ่มจากเล็ก ๆ ทดลองทำจนชำนาญแล้วจึงขยับขยาย หรืออาจจะทำเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีรายได้หลากหลายช่องทาง หากสินค้าใดราคาตกก็หรือเกิดโรคแมลงระบาดก็ยังมีสินค้าตัวอื่นไปต่อได้ เมื่อเริ่มเข้าใจตลาดและมองเห็นความเป็นไปได้จึงเพิ่มและลดสัดส่วนการผลิตตามความเหมาะสม

7.ขาดแรงงาน..ควรมีเครื่องทุ่นแรงมาช่วย
หลายคนวาดฝันการทำเกษตรมีภาพฟาร์มสวย ๆและชีวิตที่แสนสงบอยู่กับธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงอาจจะลืมนึกไปว่าการทำเกษตรต้องใช้แรงงานในการลงมือลงแรงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้องการการทำเกษตรที่ต้องพึ่งพาแรงงานเพียงอย่างเดียวจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ให้หลายคนเกิดความท้อถอยและล้มเลิกทำเกษตรอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าในปัจจุบันแรงงานจะเป็นสิ่งที่หายากแต่ก็นับว่ามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นเพราะสามารถนำเครื่องทุ่นแรงและเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยลดการใช้แรงงานจากคนมากขึ้น อีกทั้งยังคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเตรียมดิน แทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า เครื่องหว่านปุ๋ย ระบบให้น้ำอัตโนมัติ เป็นต้น รวมทั้งให้หลายพื้นที่ยังมีเครื่องมือให้เช่าพร้อมผู้บังคับแทนที่จะต้องซื้อและเสียค่าบำรุงรักษา ไม่ว่าจะเป็น โดรนเพื่อการเกษตร รถดำนา รถเกี่ยวข้าว รถไถ เป็นต้น

8.ไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
หลายคนผลิตสินค้าเกษตรได้ดี ประสบความสำเร็จในการหาตลาดรองรับแต่กลับพบว่าไม่มีรายได้เหลือ….เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น การทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบจะทำให้มองเห็นภาพรวมว่าต้นทุนหรือรายจ่ายไปจมกับส่วนใด เพราะบางครั้งอาจจะพบว่ารายได้จากการขายผลผลิตเข้ามาก็จริง แต่ไม่ได้นำต้นทุนมาคิดคำนวณไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิต ต้นทุนแฝงอื่น ๆ เช่น มีการซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาแต่ไม่มีการนำมาคิดเป็นต้นทุน รวมทั้งค่าน้ำมันรถในการขนส่ง ค่าไฟฟ้าวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองต่าง ๆนอกจากนี้ยังควรจัดการให้มีการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้หลาย ๆรูปแบบทั้งรายได้ระยะสั้นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เพื่อลดความเสี่ยงลง และควรกันรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นเงินออมเพื่อใช้ในการลงทุนในโอกาสต่อไปภายหน้าหากต้องการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น

9.อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา
การทำเกษตรโดยหลงเชื่อคำชักชวน ลงทุนปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ตาม ๆกันเพราะเห็นว่าผู้อื่นปลูกได้ดีมีกำไรคืออีกปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการทำเกษตรได้ ต้องไม่ลืมว่าการปลูกตาม ๆ กันอาจเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด และราคาตกต่ำได้ หรือกรณีที่ถูกหลอกให้ซื้อต้นพันธุ์พืชโดยสัญญาว่าจะให้ราคาพิเศษแต่เมื่อผลผลิตเก็บเกี่ยวได้แล้วกลับไม่มีผู้รับซื้อเป็นต้น หากใครเริ่มต้นด้วยความโลภก็ยิ่งตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ดังนั้นการเริ่มลงมือทำเกษตรควรศึกษาหาข้อมูลให้ดี หาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อ รวมทั้งควรหมั่นหาข้อมูลสินค้าที่เราผลิต เพราะสินค้าบางอย่างในระยะแรกทำราคาดีขึ้นก็จริง แต่เมื่อวันหนึ่งที่ตลาดเปลี่ยน ได้รับความนิยมน้อยลงจนราคาตกไม่คุ้มกับเงินลงทุนที่เสียไปก็ควรติดตามข่าวสารเพื่อให้สามรถปรับตัวได้ทัน

10.ไม่ทำการตลาด ขาดการสร้างเครือข่ายธุรกิจเกษตร
การทำเกษตรถือว่าเป็นรูปแบบธุรกิจชนิดหนึ่งที่ต้องมีการวางแผนในการผลิตว่าจะทำอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ทำช่วงไหน ทำอย่างไร และต้องมองว่าเมื่อผลิตแล้วนำไปขายให้ใคร ขายรูปแบบไหนรวมทั้งควรวางแผนสำรองหากเกินเรื่องไม่คาดฝัน ภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตตกต่ำ โรคระบาด เป็นต้น ก่อนผลิตพืชใดก็ตรามควรศึกษาตลาดว่าผู้ซื้อสินค้าของเราเป็นคนกลุ่มใด เช่นลูกค้าทั่วไป ลูกค้าเฉพาะกลุ่มในออนไลน์ ปลูกเพื่อส่งบริษัทส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรสร้างเครือข่ายผู้ที่ทำการเกษตรรูปแบบเดียวกันเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคนิคการปลูก ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถรวมกลุ่มเพื่อต่อรองราคาให้เหมาะสมได้อีกด้วย

ที่มา : หนังสือ Garden & Farm Vol.17 เตรียมเกษียณไปทำเกษตร

Facebook Comments Box