Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ให้ทานไฟ ประเพณีพื้นถิ่นนครศรีธรรมราช

ประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  เป็นสิ่งที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งประพฤติปฏิบัติเหมือน ๆ กัน และทำกันต่อเนื่องสืบมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มคนที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันประกอบด้วยความคิด ค่านิยม ความเชื่อที่เห็นว่าดีงามและเหมาะสมแล้วจึงร่วมใจกันกระทำกิจอย่างนั้นสืบต่อกันมา

ลักษณะของประเพณีท้องถิ่นภาคใต้
แบ่งแบบกว้าง ๆ ได้ เป็น 2 ลักษณะคือ
1. ประเพณีที่มีลักษณะร่วมกับภาคอื่นของไทยมีหลายประเพณีที่มีเอกลักษณ์ร่วมคือ  เชื่อถือประพฤติปฏิบัติเหมือน ๆ กับประชาชนในภาคอื่น เช่น ประเพณีวันเข้าพรรษา ประเพณีวันวิสาขบูชา  ประเพณีวันสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น
2. ประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น เป็นประเพณีที่มีลักษณ์พิเศษเฉพาะภาคใต้ แม้ว่าจะมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกันแต่มีอีกหลายส่วนที่มีลักษณะแตกต่างไป เพราะสภาพภูมิศาสตร์ หรือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ การติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ ทำให้เกิดลักษณะพิเศษเฉพาะท้องถิ่น  ตามสภาพของกลุ่มชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
–  ประเพณีชาวไทยพุทธ เช่น การทำขวัญข้าว การทำบุญวันสารทเดือนสิบ  การไหว้ศาลพระภูมิ การแห่ผ้าขึ้นธาตุ  การให้ทานไฟ  การทำบุญต่ออายุ และบังสุกุลบัว  เป็นต้น
– ประเพณีชาวไทยมุสลิม  เช่น การละหมาด พิธีเข้าสุหนัต (มาโซะยาวี) ฮารีรายอ  วันเมาลิด  วันอาซูเรอ  พิธีฮัจย์  การบริจาคทาน (ซะกาต) และประเพณีแห่นก เป็นต้น
–  ประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีน  เช่น ตรุษจีน ไหว้พระจันทร์ กินเจ  วันเชงเม้ง และงานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นต้น

ประเพณีให้ทานไฟ
ประเพณีให้ทานไฟ คือการทำบุญถวายอาหารเช้าแด่ภิกษุสงฆ์ในฤดูหนาว เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความอบอุ่นในระหว่างการฉันภัตตาหารด้วยวิธีก่อกองไฟแล้วปรุงอาหารและขนมถวายพระ

วัตถุประสงค์หรือแก่นแท้
ในเช้าตรู่วันใดวันหนึ่งในฤดูหนาว  ชาวพุทธในละแวกวัดจะนัดหมายนำไม้ฟืนมาก่อกองไฟ และร่วมกันปรุงอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์สามเณร แล้วก่อกองไฟเอาไว้ นิมนต์พระสงฆ์มาฉันรอบกองไฟ  เพื่อให้เกิดความอบอุ่นขณะฉันอาหาร หลังจากนั้นแบ่งปันแก่ผู้เข้าร่วมพิธีไปรับประทานร่วมกัน พร้อมกับนำปัจจัยที่ได้ถวายวัดทั้งหมด เป็นการร่วมแรงร่วมใจและพลังศรัทธา เป็นวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง เชื่อว่าได้บุญกุศลที่แรงกล้า

วันเวลาและสถานที่ประกอบพิธี/กิจกรรม
การให้ทานไฟไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกของเจ้าภาพ แต่ส่วนใหญ่จะปฏิบัติในช่วงเดือนอ้าย – เดือนยี่ ซึ่งป็นช่วงที่มีอากาศเย็น ชาวพุทธแต่ละชุมชนจะนัดหมายไปพร้อมกันที่วัดในเวลาย่ำรุ่ง

พิธีกรรม
1. การก่อกองไฟ ชาวบ้านจะเตรียมไม้ฟืน ถ่าน หรือเตาไฟ สำหรับก่อให้เกิดความอบอุ่นแก่พระสงฆ์ นิยมใช้ไม้ฟืนหลายอันมาซ้อนกันเป็นเพิงก่อไฟ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มานั่งผิงรอบกองไฟ
2. การทำอาหารและขนมถวายพระ ส่วนใหญ่จะนิยมปรุงแบบง่าย ๆ และเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนขนมที่ปรุงมักเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ในปัจจุบันมีขนมและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น น้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวหลาม ขนมปังปิ้ง ชาวบ้านจะปรุงขึ้นมาร้อน ๆ ไปถวายพระสงฆ์ ขณะที่ทำขนม พระสงฆ์ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน
3. เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน หลังจากนั้นพระสงฆ์ก็สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาร่วมพิธีเป็นอันเสร็จพิธี

กำเนิดและพัฒนาการของประเพณี
ประเพณีให้ทานไฟ ชาวพุทธริเริ่มกันขึ้นเอง สืบเนื่องมาจากเหตุอุณหภูมิลดต่ำ  ชาวพุทธจึงคิดจะอุปัฏฐากภิกษุสามเณรให้ได้รับความอบอุ่นจากกองไฟ และให้ได้ฉันอาหารหวานคาวที่ปรุงขึ้นขณะยังร้อน ๆ โดยยึดเอาเรื่องราวอันมีมาใน “ขุททกนิกายชาดก” ซึ่งกล่าวถึงเศรษฐีโกสิยะผู้สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์แต่มีความตระหนี่ถี่เหนียว  เมื่อได้รับฟังพระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะมหาเถระจึงเกิดเลื่อมใสได้นำเอาขนมเบื้องไปทำถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสาวก จำนวน 500 รูป ณ พระเชตวันวิหาร

ในปัจจุบันนอกจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว   ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้  (ราว พ.ศ. 2540) ยังมีการจัดทำบุญให้ทานไฟในสถาบันการศึกษาด้วย การขยายประเพณีเข้าสู่สถานศึกษาสะท้อนถึงการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแม้ในปัจจุบันเหลือวัดจำนวนน้อยมากที่จะจัดกิจกรรมประเพณีให้ทานไฟ แต่พุทธศาสนิกชนมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะอนุรักษ์หรือสืบสานประเพณีการให้ทานไฟเอาไว้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เริ่มจัดประเพณีบุญให้ทานไฟขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ลานธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box