Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เมื่อการเรียนรู้ในปัจจุบัน.......ต้องเรียนจากประสบการณ์

          หลายๆ คนตั้งคำถามกับการเรียนในปัจจุบันว่า เรียนไปแล้วจะจบไปทำงานได้จริงหรือเปล่า  อัตราบัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงานก็สูงขึ้น   ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ก็ส่งผลต่อวิถีการศึกษาด้วย  เราลองมาดูกันว่า  การศึกษาของประเทศไทย  โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษามีการขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมอย่างไร  และทำอย่างไรให้นักศึกษาได้เรียนรู้มากขึ้นผ่านประสบการณ์

          ปัจจุบันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตบัณฑิตให้มีสมรรถนะพร้อมก้าวสู่โลกแห่งการทำงานจริง และตรงกับความต้องการของตลาดงานในแต่ละยุคสมัย ภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงโลกของการศึกษากับการประกอบอาชีพ ให้นักศึกษาเรียนในมหาวิทยาลัยควบคู่กับการไปปฏิบัติงานจริง ในสถานประกอบการโดยเป็นลักษณะร่วมผลิต เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์จากการทำงานจริงเป็นหลัก จนในปี พ.ศ. 2562 กระทรวง อว.ได้ประกาศใช้แพลตฟอร์มการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ Cooperative and Work Integrated Education Platform เรียกสั้นๆ ว่า “CWIE Platform” ซึ่งต่อมาได้มีการตรากฎหมายใน พรบ.การอุดมศึกษา  ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาดังกล่าวไว้ในแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ

การพัฒนาบัณฑิตคุณภาพในรูปแบบ Experiential Education (EE) แนวโน้มการศึกษาโลก

          ปัจจุบันการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ นอกจากด้านวิชาการแล้ว ยังต้องคำนึงถึงประสบการณ์ที่จะได้นอกมหาวิทยาลัย

          แนวโน้มของการศึกษาโลก มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์โดยความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถาบันการศึกษาในรูปแบบ Experiential Education (EE)”
          สาเหตุที่การศึกษาทั่วโลกมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ขณะกำลังศึกษาอยู่ เพราะ ในยุคของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ก่อน หลักสูตรต่างๆ ปรับปรุงทุก 5 ปี ก็ถือว่าทันสมัยแล้วแต่อุตสาหกรรมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกปี หรืออาจจะทุกเดือน การศึกษาในมหาวิทยาลัยอาจจะเตรียมความพร้อมพื้นฐานวิชาการ แต่ด้านวิชาชีพเราต้องให้สถานประกอบการช่วย  

          จากการใช้ EE ของการศึกษาในตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นต้นกำเนิดของสหกิจศึกษาอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา   ประเทศแคนาดา ที่เป็นฐานการพัฒนา EE ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยในแคนาดา มีแต่ละมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาสหกิจศึกษากว่า 10,000 คน ประเทศในยุโรปที่มุ่งให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำงานหาประสบการณ์ ควบคู่กับการเรียน ทำให้เห็นถึงศักยภาพของบัณฑิตที่จบ

          นอกจากบัณฑิตแล้ว สถานประกอบการ บริษัทก็ได้กำลังคนที่มีความสามารถตามที่เค้าต้องการ สถานประกอบการไม่ต้องเสียเวลาในการเติม skill การทำงานให้ บัณฑิตอีก เพราะได้ร่วมมือกันบ่มเพาะมาตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว

รูปแบบการสร้างประสบการณ์ภายในมหาวิทยาลัย

          มหาวิทยาลัยเองก็ดูเหมือนจะมีการปรับ มีการใช้รูปแบบการเรียนแบบ Active Learning มากขึ้น บริษัทอาจจะได้รับรู้มาบ้างว่า การเรียนในปัจจุบัน นอกจากเน้นการเรียนบรรยาย เรายังเน้นการสร้างประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการ  การลงภาคสนาม  การเพี่มการศึกษาดูงาน และมีหลายสถาบันมาตรฐานการเรียนที่มีการพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนเป็นเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่น Advance Higher Education ของอังกฤษที่มีระบบ UKPSF ซึ่งตอนนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็มีการใช้เยอะ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็ถือเป็นผู้นำในการใช้ระบบนี้

          ดังนั้นเรามั่นใจว่าในเชิงวิชาการ เราพร้อมเต็มที่ในการทำให้บัณฑิตมีคุณภาพ  โดยอาจารย์คุณภาพ

รูปแบบการพัฒนาบัณฑิตร่วมกับสถานประกอบการ

          สำหรับการศึกษาที่สร้างประสบการณ์ หรือ Experiential Education หรือ EE นั้น ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันมาก โดยเฉพาะที่เป็น CWIL ในฝั่งตะวันตก ส่วนประเทศไทยก็เรียกว่า CWIE ต่างกันตรงที่ ในต่างประเทศ รูปแบบการสร้างประสบการณ์มักจะแยกระหว่างอาจารย์กับสถานประกอบการ แต่ของไทยเป็นการร่วมมือกัน เลยไม่ใช่ แค่ Learning แต่มันเป็น Education
          รูปแบบต่างๆ ที่รู้จักกันดี  ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงาน  การทำวิจัยร่วมกับสถานประกอบการ การร่วมสร้างหลักสูตรและอบรมกับสถานประกอบการ  หรือที่เรารู้จักมากสุดและเริ่มกันมานานแล้วก็คือ สหกิจศึกษา

สหกิจศึกษากับการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต

          ทำไมสหกิจศึกษาถึงกลายเป็นรูปแบบที่นิยมและถือเป็นรูปแบบที่มีคุณภาพ เพราะเป็นรูปแบบที่มีมาตรฐาน มีการคัดเลือก มีกระบวนการสรรหาสถานประกอบการ กระบวนการทำงานและการประเมินที่ชัดเจน ไม่เหมือนรูปแบบอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับหลักสูตรกำหนดกันเอง อันนี้ขอยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประกอบการสร้างความเข้าใจ

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เองเริ่มใช้สหกิจศึกษาตั้งแต่ปี 2541 นับถึงปัจจุบันก็กว่า 25 ปีแล้ว ในแต่ละปีเรามีนักศึกษาสหกิจศึกษากว่า 2,000 คน และคาดว่าจะเกินกว่า 3,000 คนในอีกสองปีข้างหน้า เพราะตอนนี้ ม.เรามีนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี

          ที่สำคัญ วลัยลักษณ์กำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องมีการสร้างประสบการณ์ในสถานประกอบการ นักศึกษาสายวิทย์สุภาพเค้ามีสภาวิชาชีพ มีรูปแบบที่ชัดเจน เช่น แพทย์ไป intern Extern ที่โรงพยาบาล พยาบาลขึ้นวอท เภสัชไปร้านยา แต่หลักสูตรอื่นๆ อีกกว่า 34 หลักสูตร ไม่ได้มีสภาบังคับในการสร้างประสบการณ์วิชาชีพ เราเห็นว่าเพื่อเป็นประโยชน์กับนักศึกษาดังนั้น หลักสูตรที่ไม่มีบังคับ เราก็บังคับเอง โดยใช้รูปแบบการสหกิจศึกษา ทำให้เราสามารถบอกได้ว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 100% มีการสร้างประสบการณ์กับสถานประกอบการณ์ก่อนจบ

          จากกว่า 20 ปีที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไปสหกิจศึกษา และพบว่าสหกิจศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้นักศึกษากลายเป็นบัณฑิตคุณภาพ และกลายเป็นบัณฑิตพร้อมใช้ หรือ ready graduate นักศึกษาเราได้รับการจองตัวก่อนจบกว่า 80% สำหรับบริษัทเอกชน ซึ่งนั้นก็เพราะว่าบริษัทเห็นแล้วว่า นักศึกษาของเรามีคุณภาพ อีกทั้งบริษัทได้เห็นศักยภาพ การพัฒนาและก็สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง

นโยบายการขับเคลื่อนนโยบายการผลิตกำลังคนของ กระทรวงอุดมศึกษา

          อว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ได้เห็นว่าการเอารูปแบบสหกิจศึกษาและการให้สถานประกอบการร่วมผลิตบัณฑิตเป็นเรื่องดี จึงสนุนสนุน CWIE Platform ตั้งแต่ปี 2562 ให้ทุกมหาวิทยาลัย ผลักดันให้มีการสหกิจศึกษาหรือรูปแบบอื่นที่ใกล้เคียง และได้มีการตรา พระราชบัญญัติการอุดมศึกษาพุทธศักราช 2562 มาตรา 35  ที่กำหนดว่า 

          “สถาบันอุดมศึกษาพึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุน การเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้ เรียนรู้โดยการปฏิบัติงานจริงและเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มี ความรู้ ทักษะ สมรรถนะและคุณลักษณะอื่นให้สอดคล้อง กับความต้องการของประเทศ” 

          จากข้อมูลปี 2564 ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่มีการใช้กระบวนการสหกิจศึกษามีอยู่จำนวน 92 สถาบัน  มีหลักสูตรที่จัดสหกิจศึกษาอยู่ 2,330 หลักสูตร มีสถานประกอบการดำเนินการสหกิจศึกษา 19,742 แห่ง

 “แต่วลัยลักษณ์ทำมาก่อนแล้วเกือบ 20 ปี เราทำแซงหน้าไปแล้ว” เราเลยถือเป็นมหาวิทยาลัยที่นำหน้าด้านนี้ โดยเฉพาะทางด้านสังคม

          ทำนอกเหนือมาตรฐานทุกหลักสูตรเราต้องไปสหกิจศึกษา 8 เดือน จากเดิม 4 เดือน จากการไปคุยกับสถานประกอบการ ก็พบว่า 4 เดือน นักศึกษาพึ่งเริ่มสามารถทำงาน ปล่อยเด็กได้ ก็กลับแล้ว บางแห่งกระบวนการเยอะ นักศึกษาเรียนรู้แค่บางกระบวนการ ไม่ได้เห็นทั้งหมดก็กลับละ

          ปีที่แล้วเป็นปีที่ มหาวิทยาลัยส่งนักศึกษาสหกิจสึกษา 30 หลักสูตรออกสหกิจ 8 เดือน ผลตอบรับดีมาก สถานประกอบการชอบ ถูกใจระยะเวลา โดยเฉพาะภาคเอกชน และก็น่ายินดีที่ นักศึกษากว่า 84% บริษัทเสนอให้ทำงานต่อเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี นักศึกษาไม่ต้องออกไปหางานทำอีก

          ปีนี้ มีสถานประกอบการติดต่อเข้ามาที่ศูนย์สหกิจศึกษาของเรา  มีความต้องการรับนักศึกษาไปสหกิจศึกษายังบริษัท  ถือเป็นเรื่องดีที่ตอนนี้ข้างนอกรู้จักและมั่นใจคุณภาพนักศึกษาของเรา

          จะเห็นว่าบัณฑิตที่จะมีคุณภาพ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ ถ้าบัณฑิตมีคุณภาพ สถานประกอบการก็จะได้กำลังพลที่มีคุณภาพไปด้วย และประเทศก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป

          การมุ่งมั่นในกระบวนการพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่จัดการเรียนการสอนโดยกระบวนการสหกิจศึกษา โดยศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มีการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น  มีองค์ประกอบจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้สหกิจศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต

          นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมนักศึกษา ผ่านรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาก่อนปฏิบัติงานจริง การเตรียมอาจารย์นิเทศคุณภาพ โดยกำหนดให้คณาจารย์นิเทศทุกคนต้องผ่านการอบรม 100 % กระวนการสหกิจศึกษาทั้งการสมัครงานและการคัดเลือกจากสถานประกอบการ การนิเทศงานคุณภาพ การประเมินผลนักศึกษาร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ การจัดกิจกรรมยกย่องเชิงชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ด้านสหกิจศึกษา นักศึกษา อาจารย์ และ  สถานประกอบการ เพื่อการร่วมมือพัฒนาการการดำเนินการจัดสหกิจศึกษา เพื่อเป้าหมายสำคัญ คือ บัณฑิตวลัยลักษณ์ ต้องเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม

ผู้เขียน อาจารย์ ดร.อัตนันท์ เตโชพิศาลวงศ์
ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ

Facebook Comments Box