Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
ผลไม้กินอย่างไรให้ไม่อ้วน

บทความวิจัย เรื่อง Sugar profiles and recommended portion sizes of geographical indication fruits in Southern Thailand

ผู้แต่ง Jaruneth Petchoo, Litavadee Chuaboon and Phisit Pouyfung
บทความโดยอาจารย์ประจำสำนักสาธารณสุขศาสตร์ : ผศ.ดร. พิสิษฐ์ พวยฟุ้ง ร่วมกับอาจารย์จารุเนตร เพ็ชรชู
และ ผศ.ดร. ลิตวดี เจือบุญ จากสำนักวิชาเภสัชศาสตร์
ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Asia-Pacific Journal of Science and Technology

           ผลไม้ถือว่าเป็นแหล่งของ วิตามิน แร่ธาตุ และ สารพฤษเคมี (Phytochemicals) ที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายหลากหลายชนิด เช่น วิตามิน C ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดีการบริโภคผลไม้เกินความต้องการของร่างกายอาจจะส่งผลต่อภาวะน้ำหนักเกิน เพราะนอกจากผลไม้เป็นแหล่งของวิตามิน และ แร่ธาตุ แต่ผลไม้ยังเป็นแหล่งของน้ำตาลทราย หรือ น้ำตาล ฟรุกโตส และเมื่อน้ำตาลที่เกินความต้องการเข้าสู่ร่างกายน้ำตาลเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนเป็นไขมันที่สะสมในร่างกาย และ ไขมันสะสมในช่องท้อง ตามลำดับ ทีมวิจัยนี้ได้เริ่มต้นศึกษาและวิเคราะห์ชนิดของน้ำตาลในผลไม้ที่นิยมบริโภคในภาคใต้ตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) ของภาคใต้ประเทศไทย และเสนอแนะปริมาณที่ควรบริโภค (1 ส่วน) สำหรับผลไม้เหล่านั้น

           ผลไม้ที่ถูกเลือกมาศึกษา ได้แก่ มังคุด เงาะ ลองกอง ส้มโอ และ จำปาดะ ที่เก็บมาจากพื้นที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ จากการวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Liquid Chromatography – Mass Spectrometry (LC-MS/MS) พบว่าผลไม้มีองค์ประกอบของน้ำตาล ฟรุกโตส (Fructose) กลูโคส (Glucose) และ ซูโครส (น้ำตาลทราย Sucrose) ตามลำดับ ซึ่งสามารถสร้างเป็นข้อมูล หนึ่งหน่วยบริโภคหรือหนึ่งส่วนที่กินได้ของผลไม้แต่ละชนิด (1 ส่วน) มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต เท่ากับ 15 กรัม ที่อ้างอิงจากฐานข้อมูล Thai Food Composition Database ของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และข้อมูลรายการอาหารแลกเปลี่ยน จากการศึกษานี้จึงแนะนำปริมาณที่ควรบริโภคของผลไม้แต่ละชนิดในรูปแบบ 1 ส่วน ดังนี้

            มังคุด จำนวน 3-4 ผล หรือ 85 กรัม
            เงาะ จำนวน 5-7 ผล หรือ 90 กรัม
            ส้มโอ จำนวน 2-4 กลีบ หรือ 177 กรัม
            ลองกอง จำนวน 6-9 ผล หรือ 109 กรัม
            จำปาดะ จำนวน 3-5 ชิ้น หรือ 58 กรัม

            ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพให้แก่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจำกัดการบริโภคผลไม้ วันละ 3-5 ส่วน เพื่อป้องกันโรคอ้วน และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อไป

อ้างอิง
Petchoo, J., Chuaboon, L. ., & Pouyfung, P. (2023). Sugar Profile and Recommended Portion Size of Geographical Indication Fruits in Southern Thailand. Asia-Pacific Journal of Science and Technology, 28(03), APST–28. https://doi.org/10.14456/apst.2023.45
Link : https://doi.org/10.14456/apst.2023.45

Facebook Comments Box