Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

 “สี” ไม่ใช่แค่การมองเห็น แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึก

          ในวงการงานออกแบบเรื่องของทฤษฎีสี หรือ Color Theory ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่นักออกแบบทุกคนรู้จักกันดี เพราะเป็นการให้คำจำกัดความ แนวคิด ตลอดจนการประยุกต์ใช้สีสันต่าง ๆ ไว้อย่างครอบคลุม ซึ่งทฤษฎีสีในงานออกแบบ ว่าด้วย 3 เรื่องพื้นฐาน คือ วงล้อสี ความกลมกลืนของสี และบริบทของการใช้สี ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องท่องจำใด ๆ สำหรับผู้ที่คร่ำหวอดในด้านนี้ ทว่าสิ่งที่ต้องคำนึงอย่างมากประการหนึ่งในเรื่องการใช้สีในงานออกแบบ คือ การจับคู่สีอย่างไรให้เหมาะสมกับชิ้นงาน ให้ได้ทั้งอรรถรสของการมองเห็นและอารมณ์ความรู้สึกไปพร้อม ๆ กัน

5 หลักคิดการแมตช์คู่สีในงานออกแบบ
Color

1. คู่สีใกล้เคียง (Analogous Colors)
          คู่สีใกล้เคียง คือ กลุ่มสีที่อยู่ติดกันบนวงล้อสี (Color Wheel) ทำให้ดูกลมกลืนและสบายตา เหมาะกับการออกแบบที่ต้องการความนุ่มนวลและเป็นธรรมชาติ เช่น สีเหลือง–ส้ม–แดง หรือ ฟ้า–เขียว–น้ำเงิน เหมาะสำหรับงานออกแบบที่ต้องการสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่รบกวนสายตา เช่น เว็บสินค้าออร์แกนิก โปสเตอร์ท่องเที่ยว หรือการตกแต่งภายใน ข้อควรระวังในการใช้คู่สีใกล้เคียง คือ ชิ้นงานออกแบบอาจขาดจุดเด่นหากไม่มีสีตัด ซึ่งข้อนี้นักออกแบบอาจแก้ปัญหาโดยการเลือกใช้สีตัวอักษรมาเป็นสีตัด เพื่อเพิ่มความโดดเด่นให้ชิ้นงาน

2. คู่สีตรงกันข้าม (Complementary Colors)
          คู่สีตรงกันข้าม คือ สีที่อยู่ตรงข้ามกันบนวงล้อสี เช่น แดง–เขียว, น้ำเงิน–ส้ม, ม่วง–เหลือง ให้ความรู้สึกตัดกันอย่างชัดเจน ดึงดูดสายตา เหมาะกับการเน้นจุดสำคัญ เช่น ปุ่ม Call to Action ในเว็บไซต์ แบรนด์สินค้าที่ต้องการความสดใส โปสเตอร์โฆษณา หรือชิ้นงานออกแบบด้านความบันเทิงต่าง ๆ คู่สีตรงกันข้ามช่วยสร้างความโดดเด่นและมีพลังให้ชิ้นงาน แต่หากใช้มากเกินไปอาจทำให้ดูลายตา ซึ่งนักออกแบบจะต้องเลือกใช้ให้พอเหมาะพอดี เพื่อให้ชิ้นงานออกมีความสวยงามและสื่อความหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Color
Color

3. คู่สีโทนร้อน (Warm Colors)
          คู่สีโทนร้อน เปรียบดั่งสีสันแห่งฤดูใบไม้ร่วง สีในกลุ่มนี้ได้แก่ สีแดง ส้ม เหลือง และเฉดใกล้เคียง ซึ่งเหมาะกับงานที่ต้องการความกระตือรือร้น ความอบอุ่น หรือกระตุ้นความรู้สึก เช่น โฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ด งานเทศกาล หรือการตลาดที่เน้นพลัง คู่สีโทนร้อนที่นิยมแมตช์กัน เช่น แดง-ส้ม, เหลือง-น้ำตาลแดง ซึ่งช่วยกระตุ้นความรู้สึกเร็วและแรง ทว่าหากในชิ้นงานออกแบบที่มีการใช้คู่สีโทนร้อนมากจนเกินไป อาจทำให้เหนื่อยสายตาได้เช่นกัน

4. คู่สีโทนเย็น (Cool Colors)
          หากคู่สีโทร้อน เปรียบดั่งสีสันแห่งฤดูใบไม้ร่วง คู่สีโทนเย็น ย่อมเปรียบเสมือนสีสันแห่งฤดูหนาว ซึ่งสีโทนเย็น ได้แก่ สีในกลุ่มเขียว ฟ้า ม่วง และเฉดใกล้เคียง ให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และเป็นมืออาชีพ เหมาะกับงานที่ต้องการความมั่นคงอย่าง เว็บไซต์บริการ โรงพยาบาล แอปการเงิน หรือสปา คู่สีโทนเย็นที่มักพบเห็นในชิ้นงานออกแบบ เช่น ฟ้า-น้ำเงิน, เขียว-ม่วง ซึ่งให้ความรู้สึกสงบและน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันหากในชิ้นงานออกแบบมีการใช้สีโทนเย็นมากเกินไปอาจทให้ดูเย็นชาหรือเฉื่อยชาจนเกินไปได้เช่นกัน

Color
Color

5. คู่สีแปลกแยก (Clashing Colors)
          คู่สีแปลกแยก คือ คู่สีที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่เมื่อนำมาใช้อย่างถูกวิธีจะดูน่าสนใจมาก ในยุคก่อนไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นนักออกแบบหยิบเอาคู่สีแปลกแยกมาใส่ในชิ้นงาน นั่นเพราะการใช้คู่สีแปลกแยกเป็นการท้ายทายอารมณ์ความรู้สึกของผู้เสพชิ้นงานอย่างหนักหน่วง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การใช้คู่สีแปลกแยกก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป ทั้งนี้ คู่สีแปลกแยก เหมาะสำหรับงานสร้างสรรค์ งานแฟชั่น หรือแบรนด์ที่ต้องการเอกลักษณ์ เช่น งานศิลปะนามธรรม หรือโปสเตอร์ดนตรีแนวอินดี้ ซึ่งคู่สีที่มักพบเห็น เช่น เขียวสะท้อนแสง-ม่วงสด, แดง-ฟ้าเทอร์ควอยซ์ คู่สีเหล่านี้เมื่อแมตช์กันแล้วทำให้ดูไม่ซ้ำใคร และเป็นที่ดึงดูดความสนใจได้ง่าย แต่ขึ้นชื่อว่าคู่สีแปลกแยก ก็ต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง นักออกแบบที่มีความชำนาญเท่านั้นที่กล้าหยิบเอาคู่สีแปลกแยกมาสร้างสรรค์ผลงาน

          แน่นอนว่า ศิลปะย่อมไม่มีผิด ไม่มีถูก เรื่องของการใช้สีก็เช่นกัน ท้ายที่สุดไม่ว่านักออกแบบจะเลือกใช้คู่สีไหน หรือยึดหลักการใดในการใช้สี หากสามารถตอบโจทย์ของชิ้นงานได้ว่าต้องการจะสื่อถึงอะไร ด้วยอารมณ์ ความรู้สึกประมาณไหน นั่นคือความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานแล้วในขั้นต้น ส่วนผลสำเร็จขั้นสูงสุด อยู่ที่ผู้เสพผลงานนั้น ๆ ชื่นชมและมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมต่อชิ้นงาน เฉกเช่นที่ผู้รังสรรค์ปรารถนาจะสื่อ ถึงจะเรียกได้ว่า การเลือกใช้คู่สีในชิ้นงานออกแบบนั้นสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง

อ้างอิง
Morton, J. L. (2025). ทฤษฎีสีพื้นฐาน [Basic Color Theory]. ใน Color Matters. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2025 จาก https://www.colormatters.com/color-and-design/basic-color-theory

Facebook Comments Box