ห่มดิน เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงเรา

การทำห่มดิน เลี้ยงดิน ดูแลดินแล้วให้ดินเลี้ยงพืช
การห่มดิน คือ เป็นการป้องกันการระเหยของความชื้นที่อยู่ในดิน ซึ่งความชื้นในดินมีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งการควบคุมความชื้นของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละชนิด สามารถทำได้ด้วยการใช้เซ็นเซอร์เข้ามาช่วยตรวจวัด
ระดับความชื้นที่พืชสามารถรับได้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้
ความชื้น 80% – 100% : สภาวะอันตรายต่อพืช ถ้ามีความชื้นสูงในระดับนี้เป็นเวลานาน มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้รากเน่า หรือเกิดเชื้อราขึ้นได้
ความชื้น 70% – 79% : สภาวะดินแฉะ หากไม่ควบคุมให้ดี หรือปล่อยเป็นเวลานานก็อาจเข้าสู่สภาวะอันตรายได้
ความชื้น 50% -69% : สภาวะที่พืชชอบ เนื่องจากพืชจะมีการเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในสภาวะนี้
ความชื้น 40% – 49% : สภาวะแห้ง ควรเพิ่มความชื้นให้แก่ดิน เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้
ความชื้น 0% – 39% : สภาวะวิกฤติ สามารถทำให้พืชแห้งและเหี่ยวเฉาตายได้
หากความชื้นในดินต่ำ สามารถเพิ่มการให้น้ำ เพื่อเพิ่มความชื้นให้กับดิน แต่ถ้าหากเป็นพื้นที่แห้งแล้งมาก มีการระเหยของน้ำสูง อาจต้องใช้วิทีห่มดินเข้ามาช่วย โดยหลักการคือ นำวัสดุต่างๆ มาปกคลุมไว้ที่หน้าดินเพื่อกักเก็บความชื้นไว้ในดิน
วิธีการห่มดิน

1.ห่มดินใหม่ก่อนเริ่มทำการเพาะปลูก ก่อนเริ่มการเพาะปลูก ให้ทำการ ไถกลบหน้าดินใหม่แล้วคลุมหน้าดินด้วยฟางข้าว หรือ ใบไม้ ให้หนาอย่างน้อย 1 ฟุต ทั้งแปลง หลังจากนั้น โรยปุ๋ยคอก แล้วรดด้วยน้ำหมัก EM

2.ห่มดินรอบโคนต้นไม้ใหญ่ประเภทไม้ยืนต้น โดยเว้นให้ห่างจากโคนต้นไม้ 1 คืบ ห่มหนา 1-2 คืบ ทำเป็นวงเหมือนโดนัท โรยด้วยปุ๋ยคอก บางๆ และ รดด้วยน้ำ EM
ข้อดีของการห่มดิน

1.หลังจากทำการห่มดิน จะทำให้ในดินมีความชื้นและมืด เกิดการทับถมของดิน ซึ่งจะช่วยให้จุลินทรีย์ที่ดีสำหรับพืชในดินขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

2.การห่มดิน เป็นการปรับปรุงดินก่อนการเพาะปลูก จะทำให้ดินมีความชื้น มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นส่งผลใช้พืชเจริญเติบโตดีขึ้น
แนวพระราชดำริ "ห่มดิน" เพื่อการฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพ

“…การปรับปรุงดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน…”
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้าของชาวไทย มีแนวพระราชดำริที่สำคัญหลายโครงการในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน “ ทรงเป็นปราชญ์แห่งน้ำและดินแห่งโลก ” ปี 2013 (พ.ศ.2556) ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติมีมติประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “ วันดินโลก ” และในปี 2015 (พ.ศ.2558) กำหนดให้เป็น “ ปีแห่งดินสากล ” วันนี้มาต่อในเรื่องแนวพระราชดำริ “โครงการห่มดิน”
ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต เพราะคนเราใช้ทรัพยากรดินเป็นทั้งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งสร้างอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค แถมยังใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค จึงกล่าวได้ว่า ดินเป็นทรัพยากรขั้นมูลฐาน เป็นตัวการให้มนุษย์เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรอื่น ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล
ดิน (Soil) ถือเป็นเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งเคียงคู่กับ “น้ำ” ในการทำเกษตร ต่อให้มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่มีดินที่เลว กล่าวคือ โครงสร้างแน่น อัดตัวเป็นก้อน ปราศจากซึ่งธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช ก็เป็นการยากต่อการปลูกพืชไม่ว่าพืชชนิดใดๆ
ดังนั้น การเกษตรที่ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายดิน ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อดิน และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงดิน เป็นหัวใจสำคัญที่จะรักษาดินเอาไว้ได้

การ “ห่มดิน” หรือ “คลุมดิน” โดยใช้ฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และใส่อาหารให้แก่ดิน ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไป เพื่อให้อาหารแก่ดิน แล้วดินจะปล่อยธาตุอาหารให้พืช โดยกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เรียกหลักการนี้ว่า “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” การปฏิบัติเช่นนี้ จะทำให้ดินกลับมามีชีวิต เป็นการ “คืนชีวิตให้แผ่นดิน”
วิธีการห่มดิน
ห่มดินด้วยฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ รอบโคนต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้น โดยเว้นให้ห่างจากโคนต้นไม้ 1 คืบ ห่มหนา 1 คืบ–1 ฟุต ทำเป็นวงเหมือนโดนัท โรยด้วยปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) บาง ๆ และรดด้วยน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำเจือจาง อัตราส่วน 1 : 50-100
ห่มดินในที่ดินผืนใหม่ที่เพิ่งขุดปรับพื้นที่ หรือดินที่เสื่อมสภาพ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินก่อนเริ่มการเพาะปลูก ด้วยการห่มฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ ให้หนาอย่างน้อย 1 ฟุต ทั้งแปลง โรยด้วยปุ๋ยคอก แล้วราดรดด้วยน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำเข้มข้น อัตราส่วน 1 : 10
โดยวิธีนี้ เป็นการระเบิดดินที่แห้งแข็ง ให้มีความชุ่มชื้น (ฟางห่มคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำในดิน ปุ๋ยคอกที่ใส่เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ น้ำหมักทำหน้าที่ย่อยสลายทั้งปุ๋ยและฟาง ให้กลายเป็นอินทรียวัตถุได้เร็วขึ้น) ซึ่งวิธีนี้อาจต้องใช้เวลา 3 เดือนขึ้นไป โดยยังไม่ควรปลูกพืชใด ๆ เพราะน้ำหมักที่เข้มข้นอาจทำให้ต้นไม้ตายได้
