Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

กว่าจะเป็นพิธีกรมืออาชีพ บทที่ 1 หน้าที่ของพิธีกร

    “ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพร กัญชา กัญชง และกระท่อม ระหว่าง……………” เคยสงสัยมั๊ย…? ว่าพิธีกรที่พูดอยู่บนเวทีเธอและเขาเหล่านั้นแท้จริงแล้วมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ต้องเตรียมความพร้อมมากแค่ไหนกว่าจะยืนพูดด้วยความมั่นใจบนเวทีเราไปไขความลับกัน

    พิธีกร คือ บุคคลที่รับผิดชอบหน้าที่ด้านพิธีการ มีหน้าที่ดำเนินรายการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่เตรียมไว้ ดังนั้น ผู้ทำหน้าที่พิธีกรในการดำเนินการกิจกรรมหรือรายการประเภทต่าง ๆ จะต้องมีความเข้าใจกระบวนการและรู้หลักการ วิธีการ บุคคลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่พิธีกรจึงจำเป็นต้องศึกษาบทบาทหน้าที่ให้ถ่องแท้ เพื่อประสิทธิผลของงานที่ต้องรับผิดชอบ บทบาทหน้าที่พิธีกรพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้ฟัง/ผู้ชม/ผู้เข้าร่วมงาน ตามลำดับในแต่ละกิจกรรม เช่น แจ้งกำหนดการ แจ้งรายละเอียดของงานและขั้นตอนการดำเนินรายการ แนะนำผู้พูด ผู้ร่วมกิจกรรม
  • เป็นผู้เริ่มกิจกรรม/งาน/พิธี/รายการ เช่น กล่าวทักทาย ต้อนรับเชิญเข้าสู่งาน พูดนำเข้าสู่พิธีการ เชิญประธานกล่าวเปิด-ปิด
  • เป็นผู้เชื่อมโยงกิจกรรม/งาน/พิธีการ/รายการต่าง ๆ เช่น กล่าวเชื่อมโยงเหตุการณ์ตามลำดับ แจ้งให้ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ
  • เป็นผู้สร้างสีสัน บรรยากาศของงาน/พิธี/รายการ เช่น ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเป็นระยะ สอดแทรกความบันเทิง สร้างบรรยากาศให้รื่นรมย์
  • เป็นผู้เสริมสร้างความสมานฉันท์ในงาน/กลุ่มผู้ร่วมงาน เช่น กล่าวละลายพฤติกรรม
  • เป็นผู้เติมช่องว่างและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในงานพิธีต่าง ๆ เช่น ชี้แจงกรณีบุคคลสำคัญไม่สามารถมาร่วมงานพิธีต่าง ๆ ได้

    จากความหมายที่ว่าพิธีกร คือ ผู้ดำเนินการในพิธี ดังนั้น พิธีกรจึงเป็นจุดเด่นของพิธีการในงานวันนั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้มาร่วมงานแทบทุกคนมักจะมุ่งความสนใจไปที่พิธีกร เพราะต้องการทราบว่าพิธีกรจะเริ่มอย่างไร ความสำคัญของงานมีอะไรบ้างและอยู่ช่วงไหน งานจะดำเนินการตามขั้นตอนและสิ้นสุดลงอย่างไร ผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกรเองก็คงจะกดดันไม่น้อยเลย

    นอกจากนั้นแล้วพิธีกรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบชัดเจนว่างานดังกล่าวเป็นงานประเภทไหน ซึ่งโดยทั่วไปที่พบเห็นจะมี 3 ประเภท คือ งานแบบพิธีการ งานแบบไม่เป็นพิธีการ และงานกึ่งพิธีการ ลักษณะของงงานถูกจำแนกเป็นประเภทตามบรรยากาศและรูปแบบของงาน พิธีกรจะต้องเรียนรู้ มีทักษะ ความชำนาญ และแยกแยะได้อย่างเข้าใจ เพราะงานบางงานอาจจะมีลักษณะบรรยากาศที่ผสมผสานกลืนกันทั้ง 3 ประเภทก็ได้ ในขณะที่บางงานจะมีบรรยากาศ และรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน การทำหน้าที่ของพิธีกรในแต่ละบรรยากาศของงานจึงแตกต่างกันออกไป ตอนต่อไปเรามาเจาะลึกพิธีกรในงานทั้ง 3 ประเภทกันว่ามีรายละเอียดอย่างไรบอกเลยว่าไม่ควรพลาด

โดย เจนจิรา พุมดวง ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ที่มา สุรัชณา ฤกษ์ชนะ “ความรู้พื้นฐานสำหรับงานพิธีกร” เอกสารประกอบการบรรยาย หลักสูตร เทคนิคการเป็นพิธีกร รุ่นที่ 39 สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ 23-26 มีนาคม 2564

Facebook Comments Box