Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“Tech neck pain”ศัพท์ชื่อใหม่สำหรับปัญหาเก่า

1 มิถุนายน 2565

บทความโดย อาจารย์ กุลวดี กาญจนะ
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

“Tech neck pain” ศัพท์ชื่อใหม่สำหรับปัญหาเก่า

Tech neck pain คืออะไรนั้น ก่อนอื่น ลองมองไปรอบตัว ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะพบแต่ผู้คนใช้สื่อดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าเป็นการใช้โทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์แทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน บนท้องถนน รอขึ้นลิฟท์ เข้าห้องน้ำ แม้กระทั่งขณะขับรถ ยิ่งเป็นช่วงระบาดของการติดเชื้อโควิด-19 เด็กๆ ต้องเรียนผ่านทางอินเทอร์เน็ตทั้งวัน ดังนั้น Tech neck pain จึงหมายถึงอาการปวดคอที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นเวลานาน จนเกิดเป็นความเครียดซ้ำๆ การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและโครงสร้างเนื้อเยื่ออื่นๆ รอบกระดูกสันหลังส่วนคอ 

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่าปี 2563 ที่ผ่านมา คนไทยอายุมากกว่า 6 ขวบ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 60.5 ล้านคน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 29.8 ล้านคน (ปี 2559) เป็น 51.1 ล้านคน (ปี 2563)  เวลาเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที จากพฤติกรรมดังกล่าวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จากทุกคนที่ใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้นานๆ จะบ่นเกี่ยวกับอาการปวดคอ ไหล่ ตึง เกร็ง ที่แย่ลงหรือเกิดบ่อยขึ้น

อาการ tech neck pain เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ตามหลักกายวิภาคศาสตร์ ศีรษะของผู้ใหญ่จะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 4.5-5.5 กิโลกรัม (10-12 ปอนด์)  ซึ่งรองรับโดยโครงสร้างกระดูก หมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นที่คอ แต่เมื่อคุณเอียงศีรษะไปข้างหน้าหรือก้มหน้าลงเพื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ ซึ่งเป็นท่าทางทั่วไปในการส่งข้อความ น้ำหนักของศีรษะจะส่งแรงไปที่คอ             22.7-27.2 กิโลกรัม (50-60 ปอนด์) ซึ่งนั่นแปลว่ากล้ามเนื้อบริเวณหลังคอจะต้องเกร็งตัว ดังนั้น ยิ่งคุณก้มหน้าลง กล้ามเนื้อยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น 

ภาพแสดง มุมการก้มที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอรับน้ำหนักมากขึ้น

แต่โดยธรรมชาติ คอของเราไม่ได้ถูกสร้างมาให้ทนต่อแรงแบบนั้นเป็นเวลานาน ผลที่ได้คือกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตึงเกร็ง กล้ามเนื้อเหล่านี้อาจเหนื่อยล้าและเจ็บมากเกินไป รวมทั้งน้ำหนักของแรงกดที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อหมอนรองกระดูก (intervertebral disc) ระดับคอ ทำให้เกิดการสึกหรอเร็วขึ้น ยิ่งกดนานๆ หมอนรองกระดูกก็จะนูนหรือแตกได้ หากทิ้งไว้อาจกดทับเส้นประสาทส่งผลให้มีอาการปวด อ่อนแรง หรือชาที่แขนจนต้องเข้ารับ              การรักษาด้วยการผ่าตัด

Tech neck pain มีอาการอย่างไร?

อาการ tech neck pain มักจะไม่รุนแรงในระยะเริ่มต้น เช่น อาการปวดหัว คอเคล็ด คอกระตุก และปวดระหว่างสะบัก แต่จะเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นการปวดเรื้อรัง โดยอาการที่พบบ่อยคือ เหน็บชา ปวดแสบปวดร้อน รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่แขนและมือเนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับที่คอ 

จะบรรเทาอาการได้อย่างไร?

เคล็ดลับ: ทำให้โทรศัพท์หรือหน้าจออยู่ในระดับสายตา

A picture containing text, sport, exercise device

Description automatically generated

1. ลุกขึ้นจากที่นั่ง เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หรือเดินไปมาจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น อย่างน้อยทุกๆ 15-30 นาที แม้ว่าจะเป็นเวลาหนึ่งนาทีก็ตาม

2. ปรับท่านั่ง ให้เก้าอี้ปรับเอน 25-30 องศา ซึ่งเมื่อคุณเอนหลังน้ำหนักส่วนหนึ่งของร่างกายจะเทไปที่เก้าอี้แทน และกล้ามเนื้อหลังคอไม่ต้องเกร็ง ท่านี้หมอนรองกระดูกระดับคอและหลังจะได้รับแรงน้อยกว่าการนั่งตัวตรง ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ควรมีหมอนรองรับบริเวณเอวจะช่วยรองรับส่วนโค้งของกระดูกเอวได้อีกด้วย

3. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำอย่างต่อเนื่องประมาณ 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ 

4. แนะนำยืดกล้ามเนื้อแบบแอคทีฟ โดยเคลื่อนไหวคอตามนี้วันละ 2-3 ครั้ง

  • แนบคางไปที่หน้าอก ค้างไว้ 5-10 วินาที
  • แหงนมองขึ้นไปบนเพดาน ค้างไว้ 5-10 วินาที
  • เอียงหูไปที่ไหล่ทั้งสองข้าง ค้างไว้ 5-10 วินาที
  • หันคางไปที่ไหล่ทั้งสองข้าง ค้างไว้ 5-10 วินาที

ปรับพฤติกรรมเพียงนิดหน่อยก็อาจช่วยให้คุณห่างไกลจากภาวะ tech neck pain ได้

Source: 

Hansraj, Kenneth K. (2014). Assessment of stresses in the cervical spine caused by posture and position of the head. Surg Technol Int, 25(25), 277-279.

Neumann, Donald A. (2016). Kinesiology of the musculoskeletal system-e-book: foundations for rehabilitation: Elsevier Health Sciences.

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.). (2022, 9 เมษายน). Foresight https://www.etda.or.th/th/newsevents/pr-news/ETDA-released-IUB-2020.aspx

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2563). สรุปผลที่สำคัญ สำรวจการมรการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรื่อย พ.ศ. 2563. http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/2563/Pocketbook63.pdf