Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

กินยาพาราเซตามอลมากไปส่งผลเสียต่อความจำหรือไม่

1 กรกฎาคม 2565

บทวามโดย อาจารย์ ดร.ลัดดาวรรณ ละเลิศ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

ยาพาราเซตามอล คือ ยาบรรเทาปวดและลดไข้ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากยานี้ได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมีราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ จึงทำให้ยาพาราเซตามอลกลายเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หลายๆ คนต่างรู้จักนั่นเอง แม้ว่ายาพาราเซตามอลถูกนำมาใช้เป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี แต่กลไกลการออกฤทธิ์ของยานี้กลับยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ผ่านมาเชื่อว่ายาพาราเซตามอลมีกลไกการออกฤทธิ์ในการบรรเทาปวดและลดไข้โดยการเข้าไปปรับเปลี่ยนสารเคมีและโปรตีนตัวรับหลายชนิดในระบบประสาท เช่น ซีโรโทนิน โอพิออยด์ คานาบินอยด์ ไนตริกออกไซด์ และพรอสต้าแกลนดิน เป็นต้น

Graphical user interface

Description automatically generated

ปรับแต่งภาพจาก: https://www.saffronarium.com/wp-content/uploads/2020/11/The-effects-of-saffron-on-the-central-nervous-system.jpg

เนื่องจากยาพาราเซตามอลสามารถผ่านโครงสร้างพิเศษของหลอดเลือดสมอง (Blood-brain barrier) ได้อย่างอิสระ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าผลของการได้รับยานี้ต่อการทำงานของสมองนั้นเป็นอย่างไร จากรายงานการศึกษาวิจัยได้พบว่านอกจากฤทธิ์ในการบรรเทาปวดและลดไข้แล้ว ยาพาราเซตามอลยังมีฤทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ การเรียนรู้ และความจำอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การให้ยาพาราเซตามอลขนาดต่ำๆ ในหนูทดลองเป็นระยะเวลาติดต่อกันส่งผลให้หนูทดลองมีการเรียนรู้และความจำดีขึ้น และค้นพบว่ายาพาราเซตามอลสามารถป้องกันความจำเสื่อมโดยมีฤทธิ์ในการลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) ในสมองของหนูทดลองที่ได้รับสารที่มีความเป็นพิษต่อระบบประสาท [1, 2] นอกจากนี้ ยังได้พบว่าการได้รับยาพาราเซตามอลขนาด 2 กรัม เพียง 1 ครั้ง ช่วยส่งเสริมความจำและเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจได้ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี [3]

อย่างไรก็ดี การศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งกลับค้นพบว่าการได้รับยาพาราเซตามอลนั้นอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง ซึ่งจากการศึกษาในเด็กที่มีมารดามีประวัติได้รับยาพาราเซตามอลเป็นเวลานานในขณะตั้งครรภ์ พบว่าเด็กมีภาวะสมาธิสั้น (hyperactivity disorder) ออทิสซึม (autism spectrum disorder) ไอคิวต่ำ และมีพัฒนาการทางภาษาช้ากว่าปกติ [4] และจากการศึกษาโดยการให้ยาพาราเซตามอลในหนูทดลองที่เกิดใหม่พบว่ายาพาราเซตามอลทำให้เกิดความแปรปรวนของโปรตีน Brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งเป็นโปรตีนในกลุ่มที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ในระบบประสาท โดยเมื่อทำการติดตามต่อไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์พบว่าหนูทดลองกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำลดลง [5, 6] นอกจากนี้งานวิจัยได้พบว่าหนูทดลองวัยเจริญพันธุ์ที่ได้รับยาพาราเซตามอลเป็นเวลานานติดต่อกัน 1 เดือน มีการลดลงของประสิทธิภาพของการประสานประสาท (Synapse) โดยสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของภาวะ oxidative stress ในสมองส่วน Frontal cortex และ Hippocampus ซึ่งเป็นบริเวณสมองที่สำคัญต่อการเกิดกระบวนการเรียนรู้และความจำ [7]

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแท้จริงแล้วการกินยาพาราเซตามอลส่งผลกระทบอย่างไรต่อการทำงานของสมอง แต่มีความเป็นไปได้ว่าผลการศึกษาที่แตกต่างกันทั้งหมดนั้นอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของยาพาราเซตามอลที่ใช้ในการศึกษา ระยะเวลาของการได้รับยา รวมไปจนถึงช่วงเวลาของการได้รับยาด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของยาชนิดนี้ต่อการทำงานของระบบประสาทต่อไป อย่างไรก็ดี ข้อมูลข้างต้นได้ชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาพาราเซตามอลในช่วงเวลาที่มีการพัฒนาของสมอง เช่น ในวัยเด็กหรือทารก หรือการใช้ยาพาราเซตามอลเป็นเวลานานเกินไปในกลุ่มที่มีภาวะปวดเรื้อรัง จำเป็นต้องมีการติดตามการใช้ยาอย่างใกล้ชิด และบุคคลทั่วไปควรปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้ยาอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทที่อาจเกิดขึ้นได้ 

เอกสารอ้างอิง

[1]. Ishida T, Sato T, Irifune M, Tanaka K, Nakamura N, Nishikawa T. Effect of acetaminophen, a cyclooxygenase inhibitor, on Morris water maze task performance in mice. J Psychopharmacol. 2007;21(7):757-67.

[2]. Pitchaimani V, Arumugam S, Thandavarayan RA, Thiyagarajan MK, Aiyalu R, Sreedhar R, et al. Nootropic activity of acetaminophen against colchicine induced cognitive impairment in rats. J Clin Biochem Nutr. 2012;50(3):241-4.

[3]. Pickering G, Macian N, Dubray C, Pereira B. Paracetamol sharpens reflection and spatial memory: a double-blind randomized controlled study in healthy volunteers. Drug design, development and therapy. 2016;10:3969-76.

[4]. Bauer AZ, Kriebel D, Herbert MR, Bornehag CG, Swan SH. Prenatal paracetamol exposure and child neurodevelopment: A review. Horm Behav. 2018;101:125-47.

[5]. Blecharz-Klin K, Wawer A, Jawna-Zboinska K, Pyrzanowska J, Piechal A, Mirowska-Guzel D, et al. Early paracetamol exposure decreases brain-derived neurotrophic factor (BDNF) in striatum and affects social behaviour and exploration in rats. Pharmacol Biochem Behav. 2018;168:25-32.

[6]. Viberg H, Eriksson P, Gordh T, Fredriksson A. Paracetamol (acetaminophen) administration during neonatal brain development affects cognitive function and alters its analgesic and anxiolytic response in adult male mice. Toxicol Sci. 2014;138(1):139-47.

[7]. Lalert L, Ji-Au W, Srikam S, Chotipinit T, Sanguanrungsirikul S, Srikiatkhachorn A, et al. Alterations in Synaptic Plasticity and Oxidative Stress Following Long-Term Paracetamol Treatment in Rat Brain. Neurotox Res. 2020;37(2):455-68.