Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

นักวิจัยในโฟกัส – อาจารย์ ดร. ตฤณ ไอยะรา

นักวิจัยในโฟกัส ครั้งนี้ได้มีโอกาสนั่งคุยกับอาจารย์ ดร. ตฤณ ไอยะรา อาจารย์ผู้ดูแลและรับผิดชอบสอนรายวิชาในกลุ่มวิชาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลักสูตรรัฐศาสตร์ อาจารย์ตฤณสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตทางด้าน Development Economics จาก University of East Anglia ประเทศอังกฤษ และระดับดุษฎีบัณฑิตสาขา International Development Studies จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง “The Rise of China and High-Speed Politics in Southeast Asia: Thailand’s Railway Development in Comparative Perspective”

การสนทนาค่อนข้างยาวครั้งนี้ที่คำถามจากทางเราครอบคลุมทั้งทางวิชาการ การงาน วลัยลักษณ์-ท่าศาลา และงานอดิเรก คงทำให้ผู้อ่านทั้งได้รู้จักอาจารย์ตฤณและเห็นภาพบางด้านของสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มากขึ้น เชิญอ่านค่ะ

อยากให้อาจารย์ได้ช่วยเล่าให้ฟังสักหน่อยค่ะว่า เป็นมาอย่างไรอาจารย์ถึงได้ลงเอยที่ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ในฐานะศาสตร์และสาขาความเชี่ยวชาญของตัวเองได้คะ รวมถึงได้ช่วยขยายความสักนิดว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” นั้นว่าด้วยเรื่องอะไรหรือคะ

เล่าแบบนี้ก่อนละกันครับ ถึงแม้ว่าผมจะสอนอยู่ในรัฐศาสตร์ แต่ผมไม่มีปริญญารัฐศาสตร์ซักใบเลย ปริญญาทุกใบของผมเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น โดยผมสนใจเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นหลัก อาจเป็นเพราะสมัยผมเรียนมัธยมและปริญญาตรีเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้งการรับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการเปลี่ยนโครงสร้างรัฐ การเข้ามาของรัฐบาลทักษิณซึ่งเป็นครั้งที่นโยบายมาจากฝ่ายการเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเกิดคำถามว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหล่านี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร แล้วไอ้รากฐานทางเศรษฐกิจกับการเมืองมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ถ้าถามว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” คืออะไร ผมมักนึกถึงสิ่งที่ Prof. Peter Katzenstein ได้สอนผมสัปดาห์หนึ่งช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกที่โตเกียว แกสอนว่าวิชานี้คือการตั้งคำถามสองประการพร้อมกัน หนึ่ง อะไรคือรากฐานทางเศรษฐกิจของปรากฏการณ์ทางการเมือง สอง อะไรคือรากฐานทางการเมืองของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ หรืออีกนัยหนึ่ง ความมั่งคั่งความยากจนสัมพันธ์กับอำนาจอย่างไร

คำถามหลายอย่างที่มาจากวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจไม่ใช่แค่เรื่องของอุปสงค์และอุปทาน แต่มันคือความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และทรัพยากรในจักรวาลนี้ วิชานี้ช่วยทำให้เราตั้งคำถามว่า ทำไมทรัพยากรจึงถูกจัดสรรและแบ่งปันไปในทิศทางที่ต่างกัน ในขณะเดียวกัน คำถามจากวิชานี้ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ทางการเมืองได้ดีขึ้น เพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงหรือปกป้องทรัพยากรซึ่งเป็นฐานที่มาของอำนาจเสมอ

อาจารย์จะเล่าถึงการวิจัยระดับปริญญาเอกให้ฟังสักนิดได้ไหมคะ ว่าข้อเสนอทางวิชาการของอาจารย์มีที่มาเช่นไร

การวิจัยระดับปริญญาเอกของผมเริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่า การผงาดของจีนในฐานะอำนาจทางเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร โดยผมใช้ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาหลัก แต่ถ้าศึกษาภาพรวมอาจได้ภาพที่กว้างและไม่เจาะจง ผมเลยเจาะลงไปที่เรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟบนรางขนาดมาตรฐาน 1.4 เมตร เพราะเป็นโครงการที่หน่วยงานของรัฐบาลจีนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในหลายประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และลาว ยิ่งกว่านั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงทำให้เห็นว่า กลุ่มผลประโยชน์ภายในประเทศและตัวแสดงจากจีนมีปฏิสัมพันธ์ในการก่อรูปนโยบายและจัดสรรทรัพยากรอย่างไร ดังนั้น โครงการเช่นนี้ไม่ได้เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนและรัฐในแถบนี้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้เห็นในเวลาเดียวกันว่า ลักษณะและทิศทางการเมืองภายในประเทศเป็นอย่างไร ผ่านทางลักษณะและชะตากรรมของรถไฟความเร็วสูงในแต่ละประเทศ

ข้อเสนอทางวิชาการของผมเกิดจากการไปไล่ศึกษารายละเอียดของโครงการรถไฟความเร็วสูงแต่ละประเทศ โดยเฉพาะกระบวนการก่อรูปทางนโยบาย ผมเน้นศึกษาลักษณะสามประการได้แก่ รูปแบบการเจรจา รูปแบบการก่อสร้าง และรูปแบบการระดมทรัพยากร ผมพบว่าลักษณะทั้งสามประการเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่าง ๆ ภายในประเทศ และตัวละครจากจีนที่ถูกดึงมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โดยลักษณะของปฏิสัมพันธ์ที่นำไปสู่การก่อรูปนโยบายของประเทศต่าง ๆ ถูกกำหนดจากโครงสร้างเชิงสถาบันทางการเมืองของแต่ละประเทศด้วย การวิจัยของผมจึงไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องนโยบายรถไฟ แต่ยังต้องไปศึกษาเงื่อนไขทางการเมือง โดยเฉพาะสถาบันในฐานะกฎกติกาในการเล่นเกม และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวละครต่าง ๆ ภายในประเทศด้วย

เราจะได้คำอธิบายใหม่ๆ น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมภาคใต้บ้างไหมคะ ถ้ามองผ่านประเด็นวิชาการที่อาจารย์สนใจและเชี่ยวชาญ

ถ้ามองผ่านแว่นของวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมคิดว่าตัวเองเห็นประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับสังคมภาคใต้ในหลายประการ เพียงแต่ผมไม่กล้าบอกว่าสิ่งที่ผมตั้งคำถามเป็นเรื่องใหม่ เพราะยังมีข้อจำกัดในการคิดวิเคราะห์อีกหลายประเด็น

หนึ่ง ทำไมเศรษฐกิจภาคใต้ถึงอิงอยู่กับภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวขึ้นมาบ้างในบางพื้นที่ แต่ภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร ในการศึกษาสังคมสมัยใหม่ ภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดของเมืองและการจ้างงานจำนวนมหาศาล

สอง ระบบเศรษฐกิจในภาคใต้มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น เช่นกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคอื่นในไทยอย่างไร และพื้นที่ภายนอกประเทศ ตั้งแต่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันอย่างมาเลเซีย และพม่า ไปจนถึงประเทศที่อยู่ห่างไกลเช่น จีน สหรัฐอเมริกา หรือทวีปในยุโรปอย่างไร ภาพความเข้าใจเช่นนี้ทำให้เราเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ได้ดีขึ้น เพราะลักษณะของภาคใต้ไม่ได้เป็นผลจากเงื่อนไขภายในเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ที่มีกับระบบเศรษฐกิจภายนอกด้วย

สาม พัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคใต้นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังสามารถอธิบายผ่านการเปลี่ยนแปลงสองระนาบ คือการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจพึ่งพิงตนเองที่อยู่กับวัฒนธรรมการปลูกข้าว ไปเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่อิงกับการปลุกพืชเชิงพาณิชย์เพื่อป้อนภาคการผลิตและบริโภคสมัยใหม่อย่างไร และการเปลี่ยนแปลงของภูมิศาสตร์ทางการเมืองจากส่วนหนึ่งของโลกคาบสมุทรที่เป็นแหล่งพักสินค้า ทั้งในยุคก่อนอาณานิคมและยุคอาณานิคม มาจนถึงยุคที่รัฐไทยเริ่มเข้ามาควบคุมทั้งการมอบหมายเจ้าภาษีนายอากรและการตั้งระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคอย่างไร คำถามย่อยประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงพวกนี้แยกขาดจากกันหรือไม่ หรือมีด้านที่เหลื่อมกันอย่างไร คำถามย่อยอีกประการคือ การอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่หลุดไม่พ้นจากกรอบนี้มีส่วนในการสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์แก่ภาคใต้อย่างไร

เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักละแวกนี้มากขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อแปดปีที่แล้วที่อาจารย์เริ่มต้นทำงานที่วลัยลักษณ์ ความรู้สึกแรกต่อ “ท่าศาลา” เป็นเช่นไร แล้วจนถึงวันนี้ ท่าศาลาเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนคะ

ผมไม่แน่ใจว่าผมให้ความรู้สึกตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะระหว่างที่ทำงานที่นี่แปดปี มีช่วงที่ผมย้ายไปพำนักอยู่ที่โตเกียวประมาณสี่ปีได้ ถ้ามองจากมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมรู้สึกว่าการมาอยู่รอบแรกและรอบหลัง ท่าศาลายังเปลี่ยนไปไม่เยอะมาก เพราะความเป็นทวิลักษณ์ของอำเภอนี้ยังชัดเจน และอาจยิ่งชัดเจนมากขึ้นด้วยซ้ำเมื่อสถานการณ์โควิดมาเยือน กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง ท่าศาลาเป็นพื้นที่อิงกับรูปแบบของสังคมเกษตรกรรม ทั้งเศรษฐกิจที่อยู่กับการสะสมทุนที่อิงอยู่กับการผลิตสินค้าแบบปฐมภูมิทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน การประมง การเลี้ยงสัตว์ การทำเหมืองแร่ และการแปรรูปอาหารทะเล รายได้ของผู้คนในอำเภอนี้จึงขึ้นอยู่กับราคาสินค้าประเภทนี้ และความสัมพันธ์ของผู้คนยังอิงอยู่กับปทัสถานและเครือข่ายทางสังคมเยอะ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ท่าศาลาก็มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เป็นภาคเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับการให้บริการ และเงินเดือนของบุคลากรและการใช้จ่ายของนักศึกษาที่นี่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอำเภอนี้เช่นกัน กระนั้น เศรษฐกิจทั้งสองลักษณะนี้ไม่ได้แยกขาดกันอย่างชัดเจน เพราะผู้คนและทรัพยากรต่างเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างกัน เช่น ผู้ประกอบการก่อสร้างในอำเภอท่าศาลาเข้ามารับจ้างมหาวิทยาลัยที่ใช้งบประมาณในการสร้างอาคาร หรือบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าไปจับจ่ายใช้สอยในตลาดนัดของอีกฟากถนน และระบบเศรษฐกิจทั้งสองต่างผูกพันกับโลกภายนอกในแบบของตน โดยระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรผูกอยู่กับตลาดสินค้าพวกนี้ในระดับชาติและระดับโลก ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผูกอยู่กับการจัดระดับโลกที่ไปส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณของรัฐอีกต่อหนึ่ง

แต่สถานการณ์โควิดทำให้สถานการณ์เช่นนี้เด่นชัดขึ้นด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่ง ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง สอง ผู้คนพึ่งพิงเทคโนโลยีดิจิตัลในการเข้าถึงสินค้าและบริการหลายอย่างมากขึ้น การพึ่งพิงเช่นนี้ทำให้เราเห็นลักษณะที่แตกต่างของระบบเศรษฐกิจทั้งสองเด่นชัดขึ้นไปอีก

นักศึกษาที่จะลงทะเบียนเรียนกับอาจารย์ จำเป็นต้องเตรียมตัวเตรียมใจอะไรบ้างไหม และอาจารย์คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่พวกเขาจะได้ไปจากชั้นเรียนของอาจารย์คะ

สำหรับคนที่ลงทะเบียนกับผม สิ่งที่ผมเรียกร้องค่อนข้างสูงมีด้วยกันสามข้อ หนึ่ง คุณจำเป็นต้องอ่านงานภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการฝึกทักษะที่จำเป็น พร้อมไปกับเปิดโลกทางความรู้ของคุณ ในสังคมที่ไม่ค่อยให้คุณค่ากับการแปลนัก ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเข้าถึงประสบการณ์ โลกทัศน์ และภูมิปัญญาของผู้คนจากพื้นที่อื่น หรือผู้คนในประเทศที่ไม่สามารถพูดบางเรื่องในสังคมไทยได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาได้

สอง คุณจำเป็นต้องฝึกทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการพูดและการเขียนที่เป็นด้านการส่งสาร และการอ่านและฟังที่เป็นด้านของการรับสารอย่างดี ไม่ใช่เพียงเพราะทักษะเหล่านี้ทำให้คุณได้คะแนนสอบดีหรือทำงานได้ดี แต่เพราะทักษะพวกนี้ทำให้คุณบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งในด้านของการรับสารที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น และการส่งสารที่จำเป็นต่อการเสนอมุมมองที่สร้างสรรค์และถูกต้อง ในความหมายที่ว่าผู้อื่นไม่เข้าใจสารของคุณเพี้ยนไปนัก

สาม คุณจำเป็นต้องคิด วิเคราะห์ และแยกแยะตลอดเวลา สิ่งที่จำเป็นมากในโลกยุคหน้าคือความสามารถในการปรับตัว การพยายามพิจารณาถึงโลกภายนอกและเงื่อนไขของตนเองคือสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดทางเลือกที่เหมาะกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ การคิดเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์จึงเป็นอะไรที่ผมฝึกผู้ที่มาเรียนกับผมมาก ทั้งการให้โจทย์รายสัปดาห์ การให้สรุปประเด็นที่ได้จากการเปิดภาพยนตร์ให้ชม หรือการตั้งคำถามให้พวกเขา/เธอตอบหลังจากที่ทำการนำเสนอไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยขัดเกลาความสามารถส่วนนี้ให้คือ การมอบหมายให้พวกเขาทำงานที่เรียกร้องการอ่านความรู้และประสบการณ์ที่ต่างกาละเทศะ หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่อันนอกเหนือไปจากสังคมไทย หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่นการมอบหมายให้เขาทำรายงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติสหรัฐอเมริกาหรือขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยในช่วงพุทธทศวรรษ 2510

คำถามสุดท้ายค่ะ อาจารย์มีงานอดิเรกหรือความสนใจอื่นๆ นอกเหนือจากงานสอนและการวิจัยอะไรบ้างคะ

งานอดิเรกผมในช่วงหลังมีด้วยกันสองสามอย่าง อย่างแรกคือ ผมเริ่มเรียนภาษาสเปนมาได้เกือบสองปีแล้ว เพราะต้องการได้ภาษาที่สาม เหตุผลที่ผมเรียนภาษาสเปนคือ การสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะบางประการคล้ายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็มีความต่างกันอยู่พอสมควรเช่นกัน พูดง่าย ๆ ผมเรียนไปเพื่ออยากทำการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบของสองภูมิภาคนี้ และผมเป็นคนชอบติดตามฟุตบอลอเมริกาใต้ การรู้เพียงแค่ภาษาอังกฤษทำให้การรับรู้ของผมในเรื่องนี้ถูกจำกัดมากเกินไป แบบที่ปัญญาชนหลายท่านมักกล่าวไว้เสมอว่า การเรียนรู้ภาษาไม่ใช่แค่เรื่องของการสื่อสาร แต่คือการนำตัวเองไปเผชิญกับความแปลกของวัฒนธรรมและโลกทัศน์ของผู้คนในที่อื่นด้วย

อย่างที่สองคือ ผมมักหาโอกาสเดินทางทางกายภาพไปที่ต่าง ๆ เพื่อรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และพูดคุยกับผู้คนที่ทำให้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้ ดังนั้น ในการเดินทาง ผมจึงมักพยายามเปิดมุมมองตัวเองตลอดเวลา เพื่อหวังว่าได้จุ่มตัวเองในพื้นที่นั้น ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็พยายามตั้งคำถามต่าง ๆ ในหัวตลอดเวลาขณะกำลังเดินทาง เพราะการตั้งคำถามในหัวทำให้เราเข้าใจตัวเองและพื้นที่เราอาศัยมากขึ้นจากการเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างจากสถานที่อื่นซึ่งเราไม่คุ้นเคย ในท้ายที่สุด ผมคิดว่าการเดินทางทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเองและโลกภายนอกได้ดีขึ้น

อย่างที่สาม คือ การเสพสื่อบันเทิง ทั้งการอ่านหนังสือนิทาน นิยาย มังงะ การชมภาพยนตร์ สารคดี เพราะการทำพวกนี้เป็นทั้งการผ่อนคลายสมอง และชวนให้เรามองโลกจากมุมใหม่ผ่านวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดความเครียดจนเกินไป รวมทั้งหล่อเลี้ยงจินตนาการต่อโลกและเพื่อนมนุษย์ของเราด้วย ยิ่งกว่านั้น การเสพอะไรแบบนี้ทำให้คลังภาษาในหัวผมขยายขึ้นด้วยครับ เรียนรู้ทั้งคำศัพท์และวิธีการเล่าเรื่อง ผูกเรื่อง แบบใหม่ไปพร้อมกัน

ที่มา : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box