Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“ต้นไม้คือเพื่อนชีวิต เมื่อเราเห็นคุณค่าและใส่ใจ…”

เวลานี้สภาพอากาศของบ้านเราสุดแสนจะร้อนเหลือทน บ่ายหน้าไปทางไหนก็รังแต่หงุดหงิดและอารมณ์เสีย เมื่อภายนอกร้อนก็ยิ่งทำให้ภายในร้อนเดือดตามไปด้วย หากตั้งคำถามว่าเพราะอะไรอากาศบ้านเราโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครถึงได้ร้อนเพียงนี้ หลายคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะ “ภาวะโลกร้อน” และหากมองไปรอบๆ ก็ยิ่งพบว่าในสังคมเมืองขาดแคลนต้นไม้ใหญ่ ตามริมถนนที่ควรมี หรือในสถานที่อันน่ารื่นรมย์กายใจเช่นวัดวาอารามทุกวันนี้ ยิ่งมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย เพราะวัดในเมืองกรุงปัจจุบันได้นำเอาพื้นที่สีเขียวไปพัฒนา (หรือทำลายไม่ทราบได้) สร้างเป็นตึก เป็นที่จอดรถเสียหมดสิ้น
 
วันนี้หลายฝ่ายตระหนักว่าพื้นที่สีเขียวอันเสมือนเป็นปอดของเมืองหลวงได้ลดน้อยหดหายไปทุกขณะ จึงมีกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้ จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้ชาวกรุงตื่นตัว หันมารักษาดูแลต้นไม้ให้มากขึ้นกว่าเก่า เพื่อความหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้า อากาศที่เราสูดอยู่จะบริสุทธิ์และร่มเย็น
 
“Big tree Project” เป็นกลุ่มรักษ์ต้นไม้ที่เกิดจากการรวมตัวของชาวเฟสบุ๊ค ต่อสู้เรียกร้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากปรากฏการณ์ “สุขุมวิท ๓๕” ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชน แต่มีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปียืนต้นอยู่ โดยที่เจ้าของต้องการตัดทิ้งเพื่อพัฒนาที่ดิน  แม้การเคลื่อนไหวครั้งนั้นไม่สามารถหยุดยั้งคมเลื่อยของเหล่านายทุนที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นสวนคอนกรีตได้ แต่ไม่ได้ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้หมดกำลังใจต่อสู้แต่อย่างใด
 
ล่าสุดได้จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ต้นไม้มีชีวิตที่…คลองสาน” เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ เมษายน ๒๕๕๕  โดยใช้พื้นที่สถาบันจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นที่จัดกิจกรรมการเสวนา และเป็นแหล่งศึกษาต้นไม้ในตัว  เหตุผลหนึ่งเพราะเขตคลองสานยังมีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่ไม่น้อย ทั้งในสถาบันเองและชุมชนใกล้เคียง โดยกลุ่ม Big tree Project ต้องการใช้เวทีนี้สื่อถึงชาวคลองสานให้หันมาอนุรักษ์ต้นไม้ไว้เป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนต่อไป
 

บรรยากาศการลงทะเบียนในช่วงเช้า
 
“…..ถ้าต้นไม้ต้นนี้ปลูกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วต้นไม้ต้นนี้ปลูกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นอยู่นี้ เราได้อะไร? …เราได้รู้ว่ามันแก่กว่าเราตั้งเป็นร้อยปีใช่ไหม แล้วจะตัดดีหรือไม่ละครับ?…”  รศ. ยงยุทธ จรรยารักษ์ นักพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรร่วมเสวนา กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ฉุกคิดเรื่องการอนุรักษ์ และสื่อไปถึงผู้คนทุกภาคส่วนได้รู้สึกผูกพันกับต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ ด้วยเรื่องราว ชื่อต้นไม้ และอายุของมัน สิ่งเหล่านี้นับเป็นการสร้างจิตสำนึกรักษ์และต่อยอดไปถึงการปลูกต้นไม้รอบๆ บ้านของตัวเองให้เหมาะสมกับชนิดและประโยชน์ใช้สอย เช่น ปลูกต้นมะยมไว้หน้าบ้าน เพื่อให้เป็นร่มเงาพอรำไร ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ฝั่งหัวนอน เพื่อให้ร่มเงาของไม้บดบังแสงแดดและลดอุณหภูมิในห้องลง รวมถึงควรปลูกต้นตะลิงปลิงไว้ในสวนมากกว่าบริเวณตัวบ้าน ที่ใกล้ไม้ใกล้มือ เพราะหากเด็ดผลรับประทานมากเกินไป จะทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้
 
นอกจากนี้ในวงเสวนายังมีการพูดคุยถึงการให้ความสำคัญของคนไทย กับท้องถนน ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม โรงงานอุตสาหกรรม มากกว่าพื้นที่สีเขียว ซ้ำร้ายกว่านั้นยังจ้องแต่ทำลาย ทั้งๆ ที่ต้นไม้เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงให้ปัจจัยสี่กับมนุษย์ อีกอย่างหนึ่ง ต้นไม้ยังประโยชน์ในการซับน้ำได้ดีกว่าเขื่อน ซึ่งมีอายุการใช้งานน้อยกว่าผืนป่ามากมายนัก ด้วยต้นไม้หลายต้นรวมกันเป็นป่าผืนใหญ่ ยิ่งนานไปการกักเก็บน้ำจะดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าเก่า อีกทั้งต้นไม้ยังเป็นตัวช่วยย่อยภูเขากลายเป็นดินตะกอน เมื่อถูกน้ำพัดพาลงมาจากที่สูงก็ทับถมกลายเป็นพื้นดินให้เราได้อยู่อาศัยอีกด้วย
 
ท้ายสุดในวงเสวนามีการเน้นย้ำให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันดูแลต้นไม้ให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ที่เปรียบเสมือนเพื่อน เหมือนบ้านของเรา
 
กิจกรรมเสวนาวันแรกผ่านเข้าสู่วันที่สองซึ่งเป็นภาคเดินชมธรรมชาติ  ในเวลาเช้า นพ. สีเงิน สุขสมปอง ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา พาผู้ร่วมกิจกรรมเดินชมต้นไม้ในสถาบันฯ  ที่ประกอบด้วยต้นจามจุรี ต้นประดู่ อายุกว่า ๑๐๐ ปี ปลูกขึ้นตั้งแต่สมัยที่สถาบันฯยังมีชื่อว่า โรงพยาบาลคนเสียจริต ซึ่งบางต้นก็อยู่มาตั้งแต่บริเวณนี้เป็นบ้านพักอาศัยของขุนนางตระกูลบุนนาค นามว่าเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเรียกอีกอย่างว่า “เจ้าคุณทหาร”
 

บรรยากาศที่ร่มรื่นในอุทยานฯ ช่วยให้ผู้ร่วมเสวนาฟังกันสบายๆ ไม่ร้อน
 
“…ข่อยต้นนี้บริเวณโคนมีขนาดใหญ่มาก อายุน่าจะร่วมร้อยปี ต้นข่อยเป็นไม้เนื้อแข็ง ในสมัยก่อนเราเอากิ่งข่อยเล็กๆ มาทำเป็นไม้สีฟัน ระหว่างแปรงจะมีน้ำยางช่วยดูแลรักษาฟันอีกด้วย นอกจากนี้ ต้นข่อยยังสามารถนำเอาเปลือกมาทำเป็นกระดาษเรียกว่า สมุดไทยขาว”ธีรนันท์ ช่วงพิชิต วิทยากรอีกท่านหนึ่งได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของไม้ยืนต้นชนิดนี้ ก่อนจะพาผู้ร่วมกิจกรรมไปบวชต้นจามจุรีใหญ่ที่เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจถูกโค่น หากมีการสร้างตึกหลังใหม่ขึ้นในพื้นที่ของสถาบันจิตเวชฯ  
 
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เดินออกจากสถาบันจิตเวชฯ ไปตามถนนเชียงใหม่สู่ชุมชนแถบท่าดินแดง เพื่อชมและร่วมบวชต้นกร่างใหญ่ในชุมชนกับต้นทองกวาวคู่ที่วัดทองธรรมชาติ ซึ่งทางวัดยังคงดูแลรักษาไว้แม้ต้นจะเอียงทอดยาวขนานไปกับพื้นถนนแล้วก็ตาม เสร็จจากกิจกรรมบวชไม้ใหญ่ยังคงเลาะเลียบชมวิถีชีวิตริมเจ้าพระยาในย่านคลองสาน-ท่าดินแดง ที่ในอดีตเป็นย่านการค้าที่คึกคัก หากปัจจุบันยังทิ้งร่องรอยของโกดังเก่าให้เห็นอยู่ในบริเวณนี้ อาทิ โรงเกลือแหลมทอง โกดังเก็บเครื่องเทศ รังนก หนังสัตว์ และอื่นๆ ก่อนจะพากันมุ่งสู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ร่มรื่นด้วยร่มเงาของไม้ขนาดใหญ่หลากชนิด โดยเฉพาะไม้ในตระกูลไทรที่มีครบทั้งสี่ชนิดในพื้นที่ ได้แก่ โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง และไม้หายากอย่างต้นแก้งก้นพระร่วง ที่ต้นสูงใหญ่และวิทยากรของอุทยานฯ ให้ความรู้ว่า เมื่อถึงฤดูฝน เมื่อไม้โดนน้ำ จะส่งกลิ่นประหนึ่งส้วมแตกขจรขจายไปทั่วบริเวณ
 
สุดท้ายเป็นกิจกรรมเสวนาใต้ร่มไม้ใหญ่ ที่ผู้เข้าร่วมนั่งฟังสามารถสัมผัสได้ถึงอากาศอันเย็นสบายที่เกิดจากการคายน้ำของต้นไม้ เมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศร้อนอบอ้าวด้านนอกอุทยานฯ ได้อย่างชัดเจน และยิ่งผู้ร่วมเสวนาชี้ให้เห็นถึงปัญหาสภาพอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพื้นที่สีเขีย;น้อยแห่ง บ่งบอกให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับต้นไม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ของต้นไม้ที่สามารถช่วยให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น เพราะต้นไม้ใหญ่ ๑ ต้นผลิตออกซิเจนให้มนุษย์หายใจได้ ๘-๑๐ คนต่อวัน และต้นไม้ใหญ่ยังช่วยดักซับฝุ่นละอองพิษขนาดเล็กที่เข้าอุดถุงลมปอดได้ด้วย ดังนั้นต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียว ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กรุงเทพฯ มีอากาศสดใสและส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิตของชาวกรุงได้เป็นอย่างดี จึงควรร่วมรักษ์ต้นไม้ใหญ่ไว้คู่กับมหานคร เพื่อประโยชน์ของเราเอง

เครดิตรูปและเนื้อหา : กรรชัย สุนทรอนุรักษ์ เรื่อง/ภาพ

ส่วนภูมิสถาปัยกรรมและสิ่งแวดล้อม

Facebook Comments Box