Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ตลาดชุมชนท้องถิ่น ชายแดนไทย-ลาว ด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โอกาสใหม่ของ SMEs ไทย

จากข่าวเปิดตลาดส่งออกสินค้า SMEs ที่บริเวณด่านการค้าชายแดนถาวรในเขตภาคอีสาน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานสินค้าไทย ก้าวไกลทั่วโลก ในงานนี้ก็ได้มีการจัดให้ผู้ประกอบการหลากหลายสินค้าด้วยกันเข้าร่วมจัดแสดงสินค้า พร้อมทั้งมีบริการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบที่ต้องส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในขณะนี้ด่านพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นด่านพรมแดนถาวรที่เชื่อมระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ได้เปิดตัวตลาดชุมชนท้องถิ่นแห่งใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวลาว ได้นำสินค้าและบริการของตนเองมาวางจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน

โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าในปี 2565 อัตราการเจริญเติบทางเศรษฐกิจประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย เช่น พม่า จะเพิ่มจากร้อยละ 7.8 ในปี 2561 เป็น 9 กัมพูชา อัตราการเจริญเติบโตยังอยู่ที่ร้อยละ 7.3 สปป.ลาว จะเติบโตจากร้อยละ 7.4 เป็น 8 มาเลเชียยังเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 5.4 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวขยายตัวสวนทางกับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น จีน สหรัฐและยุโรป ทำให้กำลังซื้อจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วยโดยตัวเลขข้อมูลการค้าที่แท้จริงจะมีมูลค่าสูงกว่านี้มาก เนื่องจากยังมีการค้าชายแดนอีกไม่น้อยที่ไม่ได้บันทึกรายการผ่านระบบที่มีการสำรวจข้อมูลดังกล่าว และประเทศที่คาดว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด ร้อยละ 9 ที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน คือประเทศพม่า ที่ค้าขายผ่านชายแดนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นทำเลการค้าชายแดนที่มีศักยภาพอย่างยิ่ง เนื่องจากเส้นทางแม่สอด-เมียวดี เป็นเส้นทางที่เข้าถึงเมืองย่างกุ้งได้ใกล้ที่สุด และในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อไปยังบังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย เข้าสู่ยุโรป สินค้าจากประเทศไทยได้รับความนิยมมาก รัฐบาลของไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสินค้า SMEs เพื่อให้ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศ CLMV ได้ โดยอาศัยตลาดชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้า

ตลาดชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการส่งเสริมอาชีพ การมีงานทำลดการอพยพแรงงาน และ ยังมีส่วนสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจชุมชนภายในท้องถิ่น ตลาดชุมชนท้องถิ่นเป็นตลาดซื้อ-ขายสินค้าอุปโภคและบริโภค ระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ท้องถิ่นเป็นหลักและเป็นส่วนหนึ่งของตลาดซื้อ-ขายสินค้าทั่วไปของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ นอกจากตลาดชุมชนท้องถิ่นภายในประเทศแล้วทางรัฐบาลได้มีนโยบายเปิดการค้าชายแดนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนของประเทศไทยได้แลกเปลี่ยน ซื้อ-ขาย สินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านบริเวณชายแดนมากขึ้น ทั้งนี้การเปิดตลาดการค้าบริเวณชายแดนของไทยส่งผลดีอย่างมากในด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินสะพัดเข้ามาในประเทศ จำนวนมาก อีกทั้งประชาชน กลุ่มอาชีพ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันกับประเทศเพื่อนบ้าน การเดินทางข้ามไปมาของคนชายแดนกลายเป็นวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่ไม่มีมิติของกฎหมายคนเข้าเมือง เส้นเขตแดน การเก็บภาษีและความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตลาดชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-ลาว ด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ติดกับ บ้านวังเต่า แขวงจำปาสักของลาว เป็นตลาดซื้อขายสินค้าอุปโภคและบริโภคระหว่างประชาชนชายแดนทั้งสองประเทศโดยเฉพาะประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่มีความสามารถในการผลิตเพื่อการบริโภคและเพื่อจำหน่าย รวมทั้งการจัดหาสินค้าจาก ทรัพยากรธรรมชาติมาจำหน่ายภายในตลาดชุมชนท้องถิ่นชายแดนโดยมีวัฒนธรรมชุมชนของคนสองฝั่งโขงที่แสดงออกอย่างเด่นชัดผ่านผลิตภัณฑ์ในตลาดชุมชนท้องถิ่นดังกล่าว อีกทั้งชาวบ้านทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวต่างก็มีปฏิสัมพันธ์กันดั่งเครือญาติแม้ว่าจะใช้ภาษาที่ต่างกันก็ตาม ตลาดชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมของคนสองฝั่งโขงและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ถือได้ว่าตลาดชุมชนท้องถิ่นด่านช่องเม็กนี้เป็นอีกตลาดที่ประชาชนในท้องถิ่นไดร่วมกันทำกิจกรรมการค้าขายเพื่อการพึ่งตนเองและพึ่งพากันในชุมชนท้องถิ่น

หากพิจารณาจากสถิติการค้าชายแดนของกรมศุลกากรในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ที่ผ่านมามูลค่าการค้าชายแดนบริเวณด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า มูลค่าการค้าชายแดนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งดุลการค้าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ด่านช่องเม็กมีการส่งออกและนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 2,105.56 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร ผู้เขียนเห็นว่าการค้าชายแดนกำลังมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตไปในทิศทางที่ดี และความสัมพันธ์ชายแดนก็เป็นไปในทางที่ดีเช่นกัน ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนเศรษฐกิจการค้าชายแดนเพื่อให้คนไทยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนได้มีอาชีพเสริม และมีรายได้ จากการค้า ทั้งนี้ จากตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดน ส่งผลให้พ่อค้า แม่ค้า ชาวลาว และชาวไทย หันมาส่งออก และนำเข้าสินค้ากันเพิ่มมากขึ้น ทั้งสินค้าที่มาจากกลุ่มอาชีพภายในชุมชน และสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด ทำให้บริเวณชายแดนคึกคักมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา

บริเวณด่านช่อเม็กยังมีตลาดชุมชนท้องถิ่นที่เป็นศูนย์รวมสินค้าพื้นบ้าน และของป่าหายาก ของพ่อค้าแม่ค้าชาวลาวและชาวไทย ที่มาค้าขาย มูลค่าการค้าของตลาดชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้จากสถิติขององค์การบริหารส่วนตำบลช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า มูลค่าการค้าในตลาดชุมชนท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกันจากปีที่แล้ว (2560) มีมูลค่า 998.23 ล้านบาท และปี 2563 ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม พบว่า มูลค่าการค้า 543.67 ล้านบาท ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสถิติการค้าเหล่านี้นั้นมักจะล้อไปตามมูลค่าการค้าชายแดนทั้งสองส่วนนี้จึงมีความสัมพันธ์กัน ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าชายแดนและพยายามที่จะเร่งพัฒนาการค้าชายแดนอย่างมาก เพื่อให้ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศที่อยู่ในเครือ AEC โดยอาศัยวัฒนธรรมของผู้คนทั้งสองฝั่งโขงเข้ามาช่วยให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างง่ายขึ้น

นอกจากนี้กรมการค้าระหว่างประเทศ ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการรายเล็กของไทย (YEN-D) โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2015 ให้ความรู้ด้านการลงทุนในตลาดภูมิภาค เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมและกฎระเบียบอย่างลึกซึ้ง มีการอบรมไปแล้ว 14 รุ่น มีจำนวนนักธุรกิจในเครือข่าย 860 คน และมีแผนที่จะจัด YEN-D Frontier ตามแนวตะเข็บชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้นักธุรกิจได้ขยายเครือข่ายธุรกิจระหว่าง กันด้วย พร้อมกันนั้น สินค้า SMEs ที่ตลาดชุมชนท้องถิ่นมีอยู่ด้วยกันหลากลายประเภท อาทิ กะหล่ำปลี ตะกร้าจักสาน งานหัตถกรรม และสินค้าบริโภคที่ทำจากวัตถุดิบภายในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งตามสถิติพบว่าประเทศไทยของเราส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากในแต่ละปีโดยเฉลี่ย แต่ในปัจจุบันภาครัฐหันมาให้ความสนใจมากขึ้นกับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อหวังให้สินค้าที่มาจากการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านได้ออกสู่ตลาดโลก ซึ่งตลาดชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-ลาวนี้มีชาวไทยและชาวลาวเดินทางมาค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากันเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามแดนเพื่อมาจับจ่ายซื้อสินที่ตลาดนี้ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของตลาดแห่งนี้ คือ การอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกสัญชาติ เชื้อชาติกัน มีปฏิสัมพันธ์กันฉันท์เครือญาติ

ช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจ SMEs เยอะติดอันดับ 1 ใน 10 ของสินค้าส่งออกบริเวณชายแดนไทย-ลาว ได้แก่ ผลไม้อบแห้ง งานหัตถกรรม เป็นต้น จากสถิติมูลค่าการส่งออกของกรมศุลกากรในช่วงปี 2560 พบว่า ไทยส่งออกผลไม้อบแห้งมีมูลค่าเฉลี่ย 998,466,989.58 บาท ซึ่งจากตัวเลขนี้ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกิดแรงกระตุ้นในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากจะเป็นสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดนได้อีกหนึ่งทาง (ตารางที่ 1)

กราฟ
ที่มา: www.thaitruckcenter.com

จากตารางข้างต้น เห็นได้ว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น ผนวกกับปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวชายแดนให้ยกระดับเป็นเศรษฐกิจชายแดนที่เปิดการค้าเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนที่ว่างงานและไม่มีรายได้ ให้นำเอาทุนชุมชนมารวมเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นผลิตเป็นสินค้าและบริการเพื่อส่งออกสู่สายตาชาวต่างชาติ

ดังนั้น การพัฒนาหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดนให้เกิดความยั่งยืนและเข้มแข็งจะต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน เพื่อที่จะทำให้สินค้าและบริการของเราเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ ทั้งนี้คาดว่าในปี 2562 ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าในกลุ่มธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะในบริเวณชายแดนนั้นสินค้า SMEs เหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นก็ตาม รัฐบาลจึงพยายามจะเปิดโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้อย่างหลากหลาย และมีแนวโน้มว่าอนาคตสินค้าในกลุ่มธุรกิจ SMEs ในตลาดชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-ลาว ด่านช่องเม็กอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี จะเป็นแห่งเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานีและของไทย ในส่วนของบริบทพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวที่บริเวณด่านช่อเม็กแห่งนี้ถือเป็นอีกทำเลที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง เหมาะกับการทำการค้าและส่งออกสินค้าได้เป็นอย่างดี ตัวตลาดชุมชนท้องถิ่นเองก็ได้มีการจัดตั้งชาวบ้านขึ้นมาบริหารจัดการตลาด มีหน่วยคัดกรองสินค้าที่จะวางจำหน่ายในตลาด และมีการโปรโมทตลาดผ่านเว็บไซต์ของจังหวัด และช่องทาง Social Media ต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้การมีส่วนร่วมระหว่างกันก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ตลาดชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-ลาว เกิดความเข้มแข็งและสามารถยืนหยัดอยู่ได้มาถึงปัจจุบัน ท้ายนี้การดำเนินงานใด ๆ หากปราศจากการมีส่วนร่วมแล้วนั้นก็ไม่สามารถที่จะไปสู่ความยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต และการเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อชีวิตและลมหายใจของชาวตลาดชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-ลาว ด่านช่องเม็ก ให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์การผสมผสานวัฒนธรรมชายแดนเช่นนี้เรื่อยไป และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สืบไป

บทความโดย: อาจารย์กนกกาญจน์ เมืองแก้ว

อ้างอิง:

กรมการค้าต่างประเทศ. (2561). สถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของประเทศไทย

ปี 2559 – 2561 (มกราคม-มีนาคม). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.dft.go.th [14 พฤษภาคม 2565].

กรมการค้าภายใน. (2558). โครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://mwsc.dit.go.th [27 เมษายน 2565].

ชิตพล ชัยมะดัน. (2558). การค้าชายแดนโอกาสของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน :

ไทย-กัมพูชา. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.gspa.buu.ac.th [27 เมษายน 2565].

ไชยรัตน์ ปราณี. วัฒนธรรมชุมชนกับการเสริมสร้างความสมานฉันท์ ในสังคมไทย โดยใช้วัฒนธรรมเป็นฐาน. วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต 2,2 (พ.ค.-ส.ค. 2557): 115-123.

ปรีดา พูลสิน. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม: กรณีศึกษาชุมชนวัดโสมนัส. วารสารวิจัยและพัฒนา 4,1 (2555): 60-66.

มธุรดา สมัยกุล. แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน กรณีศึกษาตลาดมิตรภาพชายแดนไทย-กัมพูชา. วารสารวิทยบริการ 25,1 (ม.ค.-เม.ย. 2557): 22-30.

ศรุติ สกุลรัตน์. (2556). ตลาดการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาจากวิถีชาวบ้านสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี. (2560). ข้อมูลการค้าชายแดนจังหวัดอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.aecthaibiz.com/province/edoc_list.html?pv=34 [16 พฤษภาคม 2565].

อุดมศักดิ์ สินธิพงษ์.  ชุมชนท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน. วารสารนักบริหาร 35,1 (ม.ค.-มิ.ย. 2558): 104-113 อุดร หลักทอง. แนวทางการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพหุวัฒนธรรม. วารสารสารสนเทศ 14,2               (ก.ค.-ธ.ค. 2558): 37-45.

Facebook Comments Box