Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

วัฒนธรรม “ชากัญ” ในร้านน้ำชา

ผู้เขียน ฟารีดา เจะเอาะ

ปัจจุบัน ‘กัญชา’ เป็นประเด็นร้อนที่หลายคนกำลังตื่นตัวและให้ความสนใจ และมีหลายเรื่องชวนให้ถกเถียงกันในวงกว้าง ตั้งแต่ที่ประเทศไทยประกาศนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในปี 2562 กระทั่งผลักดันให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ

cannabis
Photo: Freepik

กัญชาจากที่เคยมีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มานานกว่า 90 ปี ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขประกาศของกระทรวงให้สามารถนำกัญชามาใช้ปรุงอาหาร หรือวัตถุดิบในการทำอาหารต่างๆ ได้ ภายใต้อัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถนำส่วนใบ ราก ต้น (ยกเว้นช่อดอก ใบที่ติดกับ
ช่อดอก และเมล็ดกัญชา) ของกัญชาประกอบอาหารได้ แต่ต้องบริโภคในปริมาณที่พอดี (ไม่เกิน 8 ใบต่อวัน) 

หน่วยงานในเครือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร (อภัยภูเบศร เดย์สปา) เริ่มนำร่องเปิดเมนูอาหารจากกัญชา ทำให้ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร คาเฟ่ ต่างพยายามนำกัญชามาขึ้นจาน จัดสำรับ สร้างจุดขายให้กับสารพัดเมนูอาหารที่มี “กัญชา” เป็นนางเอก ทว่าการนำกัญชามาใช้เป็นเครื่องประกอบอาหารและการปลูกในระดับครัวเรือนในลักษณะพืชผักสวนครัวของไทยนั้นมีมาอย่างยาวนาน (กันนิษฐา มาเห็ม และคณะ, 2545) ก่อนที่ประเทศไทยจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมและกำกับการใช้และการเข้าถึงกัญชาในฐานะที่เป็นยาเสพติดเมื่อปี พ.ศ. 2468 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ
ที่กระแสกัญชากับการเมืองจะมาบรรจบกันอีกครั้ง

ภาพข่าวคนแห่ชิมเมนูไข่เจียว-เทมปุระใบกัญชา ขนมปังหน้าหมูกับใบกัญชา ต้มแซ่บใส่กัญชา ชาบูกัญชา สารพัดเมนูของการนำใบกัญชามารังสรรค์ ต้ม ผัด ยำ ทอด ฯ อาหารคาว-หวาน ไปจนถึงโอกาสทางธุรกิจ “อาหารสายกัญ” ความหวังของผู้ประกอบการไทย เหล่านี้ถูกประกอบสร้างความหมายโดยเชื่อมโยงกับเรื่องของสุขภาพ ซึ่งสะท้อนถึงแก่นของมายาคติอยู่ที่เรื่องอำนาจ (power) กล่าวคือ ใครมีอำนาจมากกว่าก็จะสามารถย้ายความหมายแฝงให้เป็นความหมายโดยตรงได้ เช่นนี้เองที่บาร์ธ (Roland Barth) พยายามอธิบายเรื่องของมายาคติที่สถาบันที่มีอำนาจจะสามารถสร้างความหมายที่แฝงเร้นให้ดูเป็นธรรมดา ให้ดูไร้เดียงสาผ่านการสร้างวาทกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้คุณค่า การนิยาม การเล่าเรื่อง เป็นต้น

ในอีกด้านหนึ่งของสังคม กัญชาถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกลุ่มทางสังคมให้เกิดการปะทะสังสรรคในพื้นที่สาธารณะเฉพาะกิจอย่างร้านน้ำชา โดยสามารถทลายกรอบชนชั้นทางสังคมทั้งเพศ ระดับการศึกษา และอาชีพ เช่น ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ตำรวจ เกษตรกร ศิลปิน ค้าขาย อาศัยร้านน้ำเป็นพื้นที่ในการเสวนากันได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯ ไม่ต่างจากสภากาแฟซึ่งเป็นเอกลักษณ์ยามเช้าของคนใต้ที่พบเห็นได้ทั่วไป  

วัฒนธรรมกัญชาในร้านน้ำชาเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏ คำว่า น้ำชา+กัญชา = “ชากัญชา” หรือ “ชากัญ” เป็นวิถีชีวิตปกติในช่วงเช้าของชาวบ้าน โดยเฉพาะชายวัยฉกรรจ์จนถึงชายวัยชราที่สามารถพบเห็นได้ไม่ยากในชุมชนรอบนอก

เมื่อผู้เขียนได้สังเกตตำแหน่งแห่งที่ในการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ยังพบว่า ประสบการณ์การใช้กัญชาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการเลื่อนลำดับชั้น โดยผู้ที่มีประสบการณ์การใช้กัญชาที่มาก (หลากหลายรูปแบบ ระยะเวลามากกว่า 10 ปี) ประกอบกับหากเป็นผู้ที่มีคนนับหน้าถือตาหรือได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน/สังคมจะนั่งอยู่วงในสุด ส่วนผู้ที่มีประสบการณ์การใช้กัญชาน้อยกว่า แต่ได้สิทธิ์ในฐานคนในพื้นที่ก็จะนั่งในวงถัดออกไป ส่วนวงนอกสุดคือผู้ดื่มชากัญชาขาจรหรือคนใช้กัญชาหน้าใหม่ หรืออาจไม่ได้เป็นคนในชุมชน/พื้นที่ ตามลำดับ

แม้กระแสกัญชากำลังร้อนแรง ภายหลังการประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ด้านหนึ่งอาจเป็นเทรนด์ใหม่ของคนไทย แต่ในอีกด้านก็เป็นมรสุมที่น่ากังวลกับผลกระทบที่มองไม่เห็น เสมือนเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมการใช้กัญชาของชาวบ้านที่ไม่ได้โหนกระแส ไม่ได้แสดงตัว ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ดำรงอยู่กับชุมชนอย่างเงียบๆ เช่นเดิม.

Facebook Comments Box