Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

บันทึกการเดินทางเยือนอินโดนีเซีย, มิถุนายน 2565

โดย นฤมล กล้าทุกวัน

ระหว่างวันที่ 1-12 มิถุนายน 2565 คณาจารย์สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุรสิทธิ์ วชิรขจร คณบดี อาจารย์นฤมล กล้าทุกวัน รองคณบดี และอาจารย์เพ็ญศรี พานิช อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์/อาเซียนศึกษา ผู้สอนภาษาอินโดนีเซียและประสานงานด้านอินโดนีเซียศึกษา เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการในประเทศอินโดนีเซีย และพานักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษาจำนวน 10 คน ไปศึกษาในประเทศอินโดนีเซียเป็นระยะเวลา 6-10 เดือน

มหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลัง เมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก

หน่วยงานแรกที่คณะเดินทางไปเยือนระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2565 คือ มหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลัง (State University of Malang) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเจ้าภาพในการรับดูแลและจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษาเป็นระยะเวลา 2-3 ภาคการศึกษา คณะเดินทางได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากคณะอักษรศาสตร์ (Faculty of Letters) และสถาบันภาษาอินโดนีเซียสำหรับชาวต่างชาติ (Bahasa Indonesia bagi Penutur Asing: BIPA) นักศึกษาเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัย และ BIPA ได้จัดระบบติวเตอร์/บัดดี้ชาวอินโดนีเซียสำหรับช่วยเหลือดูแลนักศึกษาในช่วงแรกเริ่มเดินทางถึงเพื่อให้คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมาลังมีประสบการณ์ในการสอนภาษาอินโดนีเซียให้แก่ชาวต่างชาติหลายประเทศมาอย่างยาวนาน กับมีรูปแบบและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ นอกจากการเรียนการสอนในชั้นเรียน นักศึกษายังจะได้มีโอกาสไปโฮมสเตย์เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น รวมถึงการทัศนศึกษาในสถานที่สำคัญๆ ของประเทศ ตลอดจนโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย

Δ นักศึกษาหลักสูตรอาเซียนกับตัวแทนคณาจารย์ BIPA มหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลัง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลังมายาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และขยายความร่วมมือในหลายกิจกรรม ทั้งโครงการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซียในประเทศอินโดนีเซีย (Study Abroad) การรับอาจารย์แลกเปลี่ยนชาวอินโดนีเซียมาสอนและพัฒนาผลงานทางวิชาการร่วมกัน การจัดทำพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย-ไทย ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) การจัดทำข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซีย การปฏิบัติสหกิจศึกษาทั้งกรณีนักศึกษาไทยไปปฏิบัติสหกิจศึกษาที่อินโดนีเซียและนักศึกษาชาวอินโดนีเซียมาปฏิบัติสหกิจศึกษาในไทย การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติร่วมกัน ฯลฯ ตัวอย่างกิจกรรมเหล่านี้ที่ครอบคลุมหลายด้านและดำเนินการอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีการพัฒนามาโดยตลอดและศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือต่อไปในอนาคต การเดินทางเยือน State University of Malang ในครั้งนี้จึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นอกจากการเป็นการส่งนักศึกษาไปเรียนแล้ว ในการเดินทางเยือนมหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลังครั้งนี้ คณะเดินทางจากสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ยังได้ลงนามต่ออายุบันทึกข้อตกลง (MOA) ว่าด้วยการพัฒนาข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซียและแนวทางในการพัฒนาข้อสอบเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสร้างชุดข้อสอบให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ เป้าหมายของภารกิจความร่วมมือนี้ก็เพื่อให้การจัดสอบภาษาอินโดนีเซียในอนาคตสามารถรองรับการสอบสำหรับบุคคลทั่วไปชาวไทยได้ ขณะเดียวกันก็ได้มีการเจรจาแนวทางการจัดการเรียนการสอนในอนาคตสำหรับนักศึกษาหลักสูตรรัฐศาสตร์ที่เลือกเรียนเอกอาเซียนศึกษาที่จะมีลักษณะการเรียนการสอนและรายวิชาที่แตกต่างออกไปจากเดิมที่เป็นการสอนสำหรับนักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา

มหาวิทยาลัยบราวิจายา เมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก

สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ยังได้แสวงหาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในเมืองมาลัง คือ มหาวิทยาลัยบราวิจายา (University of Brawijaya) อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยได้เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการพร้อมประชุมกับคณบดีและคณาจารย์ของคณะบริหารศาสตร์ (Faculty of Administrative Science) ในวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ในการประชุมนี้ ได้มีการร่วมกันวางแผนที่จะดำเนินการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันระหว่างสองมหาวิทยาลัยต่อไป เป้าหมายหลักของการสร้างความร่วมมืออยู่ที่การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา การร่วมกันจัดสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ การตีพิมพ์ผลงานร่วม การจัดแข่งขันทางวิชาการสำหรับนักศึกษา ตลอดจนการพัฒนาแนวทางการเปรียบเทียบสมรรถนะในการประกันคุณภาพการศึกษาระหว่างสองหน่วยงาน นอกจากนี้ ด้วยทางคณะบริหารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบราวิจายามีหลักสูตรการบริหารทั้งสำหรับภาครัฐและเอกชน จึงมีความต้องการที่จะขยายความร่วมมือไปยังสำนักวิชาการจัดการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยในอนาคต

มหาวิทยาลัยบราวิจายาเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของอินโดนีเซีย มีนักศึกษาปัจจุบันรวมกันกว่า 55,000 คน ศึกษาอยู่ในหลักสูตรทั้งปริญญาตรี บัณฑิตศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ และอื่นๆ ใน 18 คณะ 221 ภาควิชา การเชื่อมความสัมพันธ์ทางวิชาการครั้งนี้เปิดโอกาสให้สำนักวิชาได้คิดริเริ่มกิจกรรมทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยบราวิจายาหลายด้าน และถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติสำหรับหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ รวมทั้งสำนักวิชาอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยเช่นกัน

Δ ประชุมและหารือความร่วมมือทางวิชาการกับคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยบราวิจายา

มหาวิทยาลัยทรูโนโจโยมาดูรา เกาะมาดูรา จังหวัดชวาตะวันออก

จากนั้น คณะเดินทางตัวแทนสำนักวิชาเดินทางจากเมืองมาลังเพื่อไปยังเมืองมาดูรา เกาะมาดูรา เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมพิธีลงนามต่ออายุบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ กับบันทึกข้อตกลง (MOA) ว่าด้วยการพัฒนาข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซีย กับมหาวิทยาลัยทรูโนโจโยมาดูรา (University of Trunojoyo Madura) ในวันที่ 5 มิถุนายน 2565

มหาวิทยาลัยทรูโนโจโยมาดูราเป็นหนึ่งในสถาบันที่ร่วมกันพัฒนาข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซีย กับหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ โดยให้การสนับสนุนทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอินโดนีเซียและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเรียนการสอน ในการเยือนครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับการขยายขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการกับคณะอื่นๆ จากเดิมที่เน้นทำกิจกรรมร่วมกับกับคณะศึกษาศาสตร์ (Faculty of Education) เป็นหลัก โดยมีจุดเน้นในการเจรจาคือการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ระหว่างกัน

มหาวิทยาลัยทรูโนโจโยมาดูรานับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสัมพันธ์อย่างดีกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาเกือบสิบปี ที่ผ่านมานอกจากการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซียแล้ว มหาวิทยาลัยทรูโนโจโยมาดูราได้เป็นเจ้าภาพจัดโครงการ ASEAN Summer Course ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนภาษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซียระยะสั้น รวมทั้งการพานักศึกษาของหลักสูตรอาเซียนศึกษาไปทัศนศึกษาในพื้นที่สำคัญของชวาตะวันออกในระยะ 2-3 สัปดาห์ ตลอดจนการส่งและรับนักศึกษาเพื่อปฏิบัติสหกิจศึกษาระหว่างสองมหาวิทยาลัย การส่งอาจารย์แลกเปลี่ยนมาช่วยพัฒนาข้อสอบฯ การทดสอบการเชื่อมโยงข้อสอบกับระบบคอมพิวเตอร์ การพัฒนาแอปพลิเคชันสื่อการสอน รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางออนไลน์และฝึกฝนภาษาขั้นสูงก่อนที่นักศึกษาไทยจะไปเรียนและใช้ชีวิตในต่างประเทศ ฯลฯ

Δ ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือและหารือกับตัวแทนคณาจารย์มหาวิทยาลัยทรูโนโจโยมาดูรา 

มหาวิทยาลัยรัฐแห่งสุราบายา เมืองสุราบายา จังหวัดชวาตะวันออก

ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 คณะเดินทางได้เยือนมหาวิทยาลัยรัฐแห่งสุราบายา (State University of Surabaya) เมืองสุราบายา จังหวัดชวาตะวันออก โดยร่วมประชุมกับรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและความร่วมมือ คณบดีและคณาจารย์จากหลายคณะ เช่น คณะศึกษาศาสตร์ (Faculty of Science Education) คณะภาษาและศิลปะ (Faculty of Language & Art) และคณะสังคมศาสตร์และกฎหมาย Faculty Of Social Sciences & Law) เพื่อลงนามต่ออายุบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ และบันทึกข้อตกลง (MOA) ว่าด้วยการพัฒนาข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซีย นอกจากจะมีการประชุมพัฒนาความร่วมมือทางด้านภาษาและวรรณกรรมที่อาจารย์ของสำนักวิชาได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งสุราบายามาอยู่ก่อนแล้ว ยังได้หารือถึงความร่วมมือกับสาขาวิชาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อให้ทราบความเชี่ยวชาญและความสนใจระหว่างคณาจารย์ทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการต่อไปในอนาคต

Δ ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐแห่งสุราบายา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เริ่มความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัยรัฐแห่งสุราบายา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยมีกิจกรรมร่วมกันหลายลักษณะ ทั้งการส่งนักศึกษาไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรมยังประเทศอินโดนีเซีย (Study Abroad) การแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อปฏิบัติสหกิจศึกษาระหว่างสองมหาวิทยาลัย การสอนภาษาอินโดนีเซียเบื้องต้นทางออนไลน์ให้กับนักศึกษาไทย การสอนภาษาไทยออนไลน์ให้กับนักศึกษาอินโดนีเซีย การรับอาจารย์แลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาข้อสอบวัดระดับมาตรฐานความรู้ภาษาอินโดนีเซีย การร่วมพัฒนาการวิจัยด้านภาษาและการเรียนการสอน ฯลฯ

สำนักภาษาแห่งชวาตะวันออก

ในช่วงบ่ายวันที่ 6 มิถุนายน 2565 คณาจารย์สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ พร้อมด้วยคณะพัฒนาข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซียจากมหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลัง มหาวิทยาลัยรัฐแห่งสุราบายา และมหาวิทยาลัยทรูโนโจโยมาดูรา เดินทางเข้าพบผู้อำนวยการสำนักภาษาแห่งชวาตะวันออก (Balai Bahasa Provinsi Jawa Timur) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงรายละเอียดและหารือเกี่ยวกับเรื่องข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซียสำหรับบุคคลทั่วไปชาวไทย

สำนักภาษาแห่งชวาตะวันออกเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีหน้าที่ตามพันธกิจคือการพัฒนา สนับสนุน และสร้างสรรค์ระบบนิเวศด้านภาษาและวรรณกรรมของอินโดนีเซีย ส่งเสริมความเข้มแข็งของวัฒนธรรมด้านภาษา รวมถึงให้บริการความเชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม ตัวแทนของสำนักวิชากับคณะนักวิชาการชาวอินโดนีเซียเดินทางเยือนสำนักภาษาแห่งชวาตะวันออกครั้งนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางและขั้นตอนในการทำให้ข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซียสำหรับชาวไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมพัฒนากับสี่สถาบันด้านการศึกษาในอินโดนีเซีย เป็นที่รับรู้และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานราชการของอินโดนีเซียที่ดูแลในกิจการด้านนี้ เพื่อว่านอกเหนือไปจากการใช้สำหรับสอบวัดความรู้ของนักศึกษาในหลักสูตรอาเซียนแล้ว จะขยายไปสู่การจัดสอบแก่บุคคลทั่วไปในอนาคต

Δ เยือนสำนักภาษาแห่งชวาตะวันออกเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาข้อสอบมาตรฐานวัดระดับความรู้ภาษาอินโดนีเซียสำหรับชาวไทย

มหาวิทยาลัยมะตะรัม เมืองมะตะรัม จังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก

ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 คณาจารย์ได้เดินทางต่อไปยังเมืองมะตะรัม เกาะลอมบอก เพื่อร่วมกิจกรรมทางวิชาการที่จัดโดยภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations Department) รวมทั้งศูนย์อาเซียนศึกษา (ASEAN Studies Center) มหาวิทยาลัยมะตะรัม (University of Mataram) โดยมีการนำเสนอข้อมูลความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายและหารือความร่วมมือด้านการวิจัย และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ในการเจรจาเบื้องต้นได้วางแนวทางในการริเริ่มความร่วมมือแรกด้วยการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระยะสั้น นอกจากนี้ด้วยพื้นที่เกาะลอมบอกที่มีความน่าสนใจในเชิงวิชาการสูงทั้งในประเด็นชาติพันธุ์ ศาสนา ความมั่นคงในมนุษย์ ตลอดจนการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความสนใจที่ใกล้เคียงกันกับคณาจารย์ในหลักสูตรรัฐศาสตร์ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาประเด็นทางวิชาการเหล่านี้ได้ต่อไปในอนาคต

Δ หารือและลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยมะตะรัม

นับว่าการริเริ่มความร่วมมือไปยังสถาบันแห่งใหม่อย่างมหาวิทยาลัยมะตะรัมเป็นโอกาสอันดีในการขยายความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในหลักสูตรทางด้านอินโดนีเซียศึกษาให้มากไปกว่าพื้นที่เกาะชวาซึ่งเป็นพื้นที่หลักของความร่วมมือเดิม อีกทั้งยังเป็นการขยายความเชี่ยวชาญทางวิชาการให้ไปสู่ประเด็นทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอาเซียนศึกษา จากที่เดิมเน้นการพัฒนาในทางด้านภาษาศาสตร์และวรรณกรรมซึ่งได้ดำเนินมาอย่างมั่นคงพอสมควรแล้ว

* * * * * * * * *

ในภาพรวมของการเยือนอินโดนีเซียครั้งนี้จึงช่วยส่งเสริมให้สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์สามารถขยายความร่วมมือด้านการต่างประเทศไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และนำไปสู่การกำหนดทิศทางของสำนักวิชาฯ โดยให้ความสำคัญต่อการขยายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่คณาจารย์ในสำนักวิชาฯ มีเครือข่ายความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมาแต่เดิม ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการส่งเสริมแนวทางความเป็นนานาชาติอย่างดียิ่ง •

ที่มา : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box