1 ตุลาคม พ.ศ.2565
บทความโดย อาจารย์ปาลิกา เวชกุล
สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ในยุคปัจจุบันมีการนำเอาสมุนไพรไทยกลับมาใช้ในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น ปวดเมื่อยร่างกาย เจ็บคอ ไข้ หวัด คัดจมูก อาการภูมิแพ้อากาศยามเช้า หรือแดดเผาผิวในตอนกลางวัน ตลอดจนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมัน เป็นต้น ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีการนำสมุนไพรไทยมาใช้ทั้งเพื่อป้องกัน รักษา และฟื้นฟูอาการจากการติดเชื้อไวรัสอีกด้วย โดยวันนี้จะมาเล่าถึงสมุนไพรใกล้ตัวที่นอกจากทำอาหารได้แล้ว ยังมีสรรพคุณดี ๆ มากมาย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันเหมาะกับสถานการณ์ช่วงนี้ด้วยค่ะ
กะเพรา (Ocimum tenuiflorum L.)

เมนูสุดฮิตของคนไทยคงหนีไม่พ้น ผัดกะเพราที่นอกจากมีกลิ่นหอมชวนหิวแล้ว ใบกะเพราเองยังเป็นยารสร้อน ที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการจุดเสียดแน่นท้อง ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันเกิดหวัด ซึ่งใบกะเพรานั้นยังเป็นส่วนประกอบหลัก หรือยาหลักของตำรับยาประสะกะเพรา ที่ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุดเสียด ตามบัญชียาหลักแห่งชาติอีกด้วย
กระชาย (Boesenbergia rotunda L.)

เมนูอาหารไทยนิยมนำมาประกอบอาหารรสเด็ดหลากหลาย โดยในปัจจุบันมีการนำกระชายมาปรับเป็นเครื่องดื่มเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งนอกจากกระชายจะมีรสยาเผ็ดร้อน ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อแล้ว ยังมีการนำมาใช้ในการต้านการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยสารสำคัญแพนดูราทินเอ และพิโนสโตรบิน ที่พบในกระชายขาวอีกด้วย
หอมแดง (Allium ascalonicum L.)

ในทางการแพทย์พื้นบ้านของไทยสมัยก่อน มีการนำหอมแดงทุบพอแตกแล้วนำมาวางใกล้คนที่มีอาการหวัด คัดจมูก จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ สอดคล้องกับการศึกษาในปัจจุบันพบว่าสารสำคัญเควอซิทิน ที่พบในหอมแดงสามารถต้านการอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และปรับการทำงานของภูมิคุ้มกันให้สมดุล นอกจากนี้หอมแดงยังช่วยลดไขมันเลว (LDL) และรักษาระดับไขมันดี (HDL) ได้อีกด้วย
พริกขี้หนู (Capsicum frutescens L.)

พริกขี้หนู เป็นอีกสมุนไพรที่มีติดครัวเรือนทุกบ้าน นอกจากนำมาประกอบอาหารให้สรจัดจ้านแล้ว พริกขี้หนูมีสารแคปไซซินที่ช่วยขับลม เจริญอาหาร ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ละลายลิ่มเลือด ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด ลดการหดตัวของเส้นเลือด และยังยับยั้งการดูดซึมไขมันในเส้นเลือดได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ควรระวังในการใช้ร่วมกับยากลุ่มสลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันการเสริมฤทธิ์กัน
กล่าวโดยสรุป สมุนไพรไทยมีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาเพื่อช่วยบรรเทาและรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ที่สำคัญสมุนไพรไทยส่วนใหญ่ยังสามารถหาได้ทั่วไป มีอยู่ใกล้ตัว และหลายชนิดก็อยู่ในครัวบ้านเรา เรียกได้ว่าเป็น “ยาไทยใกล้ตัว ในครัวบ้านเรา” นั่นเอง สำหรับท่านที่อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุรไพรไทย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
แหล่งที่มาข้อมูล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยวลัยมหิดล. (2564). สารสกัดกระชายขาว ต้าน COVID-19. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2565. จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramaclinic/article/09sep2020-1522.
Arpornchayanon, W., Klinprung, S., Chansakaow, S., Hanprasertpong, N., Chaiyasate, S., Tokuda, M., & Tamura, H. (2019). Antiallergic activities of shallot (Allium ascalonicum L.) and its therapeutic effects in allergic rhinitis. Asian Pacific Journal of Allergy and Immunology, 18, 1-8.
Baidoo, P. K., & Mochiah, M. B. (2016). Comparing the effectiveness of garlic (Allium sativum L.) and hot pepper (Capsicum frutescens L.) in the management of the major pests of cabbage Brassica oleracea (L.). Sustainable Agriculture Research, 5(526-2016-37884).
Saeed, M., Naveed, M., Arain, M. A., Arif, M., Abd El-Hack, M. E., Alagawany, M., … & Sun, C. (2017). Quercetin: Nutritional and beneficial effects in poultry. World’s Poultry Science Journal, 73(2), 355-364.
Shahrajabian, M. H., Sun, W., & Cheng, Q. (2020). Chemical components and pharmacological benefits of Basil (Ocimum basilicum): A review. International Journal of Food Properties, 23(1), 1961-1970.