โดย อาจารย์ ดร.ชุติพงศ์ สุขคะนนท์
สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
‘ยุง’ เป็นแมลงที่เป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขทั่วโลก นอกจากสร้างความรำคาญแล้ว ยังเป็นพาหะของโรคติดเชื้อหลายชนิด เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง ฯลฯ การควบคุมยุงพาหะจึงเป็นวิธีการสำคัญเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วย ‘สารไล่แมลง’ (repellent) ซึ่งในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ไล่แมลงวางจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ โดยอาจเป็นสารเคมี หรือสารสกัดจากพืช อย่างไรก็ตาม ต้องมีการทดสอบฤทธิ์ไล่แมลงของสารดังกล่าวก่อนจะพัฒนาเป็นผลิตภัฑณ์ไล่ยุงต่อไป
ชุดทดสอบ Excito-repellency Assay System (ER assay) เป็นอุปกรณ์สำหรับศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองของยุงพาหะต่อสารไล่ ER assay ถูกพัฒนาโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชุดทดสอบนี้สามารถจำแนกได้ว่าสารไล่นั้นมีกลไกการออกฤทธิ์แบบ ‘ไล่แบบไม่สัมผัส’ (noncontact repellency) หรือ ‘ระคายเคือง’ (contact irritancy) ซึ่งข้อมูลกลไกการออกฤทธิ์จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัฑณ์ไล่ยุงต่อไป

ER assay ประกอบด้วยกล่องทดสอบ 2 แบบ คือ (1) กล่อง noncontact ซึ่งภายในกล่องมีตาข่ายกั้นไม่ให้ยุงพาหะสัมผัสกับกระดาษชุบสารที่ต้องการทดสอบ ในขณะที่ (2) กล่อง contact กระดาษชุบสารจะถูกติดภายในกล่องเพื่อให้ยุงได้มีโอกาสสัมผัสกับสารทดสอบโดยตรง หากสารมีฤทธิ์ไล่ยุง ยุงจะบินหนีออกจากกล่องทดสอบ ในปัจจุบัน มีการศึกษาฤทธิ์ไล่แมลงของสารสกัดจากพืชหลายชนิดต่อยุงพาหะด้วย ER assay เช่น
- น้ำมันดอกกระดังงา (Cananga odorata) จะมีฤทธิ์ระคายเคืองที่ความเข้มข้นต่ำ (0.5-1.0%) แต่เมื่อเพิ่มความเข้มข้นเป็น 2.5-5.0% จะออกฤทธิ์ไล่ได้ดีต่อยุงก้นปล่องและยุงรำคาญ
- น้ำมันใบมะกรูด (Citrus hystrix) ความเข้มข้น 2.5-5.0% มีฤทธิ์ระคายเคืองสูงต่อยุงลาย
- น้ำมันใบฝรั่ง (Psidium guajava) ออกฤทธิ์ได้ดีต่อยุงก้นปล่อง ทั้งแบบไล่และระคายเคือง
- สารสกัดหยาบใบฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata) ความเข้มข้ม 0.5% สามารไล่ยุงลายได้ดี แต่ออกฤทธิ์เพียงเล็กน้อยต่อยุงก้นปล่องและยุงรำคาญ

ทั้งนี้ เมื่อทราบกลไกการทำงานของสารไล่ในห้องปฏิบัติการแล้ว ควรทำการทดสอบเพิ่มเติมในกึ่งภาคสนาม (semi-field trial) โดยการจำลองสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และทดสอบกับยุงพาหะสายพันธุ์ห้องปฏิบัติการ หรือทำการศึกษาในภาคสนาม (field trial) ด้วยการใช้สารไล่ในสถานการณ์จริง เพื่อให้ทราบว่าสารไล่ดังกล่าว และ/หรือผลิตภัฑณ์ไล่ยุง มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้จริง