Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

หม้อแปลงไฟฟ้า ผู้ร้ายหรือพระเอกใกล้ตัวพวกเรา ?

จากภาพเป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุหม้อแปลงระเบิดในย่านใจกลางสำเพ็งในกรุงเทพมหานคร ในอุบัติเหตุครั้งนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นมากทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเหตุการณ์คงสร้างความหวาดผวาให้กับบุคคลทั่วไปอย่างมาก เพราะเราทุกคนล้วนใช้ชีวิตอยู่ใกล้เคียงกับหม้อแปลงไฟฟ้าด้วยกันหมดทั้งสิ้น

เรามาทำความรู้จักกับหม้อแปลงไฟฟ้ากันดีกว่า โดยเริ่มจากคำถามที่ว่า หม้อแปลงไฟฟ้า คือ อุปกรณ์อะไร

หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่แปลงแรงดันไฟฟ้าให้สูงขึ้น หรือ ต่ำลง เพื่อประโยชน์ในการใช้งานกำลังไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพที่สุดและปลอดภัยที่สุด หม้อแปลงไฟฟ้ามีองค์ประกอบง่ายๆ คือ แกนตัวนำสนามแม่เหล็กและขดลวดสองฝั่งของแม่แปลงต่อเข้ากับวงจรไฟฟ้าสองข้าง โดยกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านขดลวดข้างหนึ่งก็จะสร้างสนามแม่เหล็กรอบๆแกนนำ และการเปลี่ยนแปลงขนาดของกระแสไฟฟ้านี้ก็จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก และจะกระตุ้นให้เกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวดอีกข้าง ซึ่งผลลัพธ์ คือ การถ่ายเทพลังงานกระแสไฟฟ้าจากวงจรข้างหนึ่งไปยังวงจรอีกข้างหนึ่งโดยที่วงจรไม่สัมผัสกันโดยตรง และสามารถเปลี่ยนขนาดของกระแสไฟฟ้าได้ตามสัดส่วนของขดลวดทั้งสองข้าง โดยผู้ที่คิดค้นหม้อแปลงไฟฟ้าได้สำเร็จก็คือ นิโคไล เทสล่านักฟิสิกส์ชื่อดังผู้มีอัตชีวประวัติที่น่าสนใจจนกระทั่งสามารถเอามาทำเป็นภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดได้เลยทีเดียว รวมทั้งกลายมาเป็นที่มาของชื่อบริษัทรถไฟฟ้าเทสล่าที่มี CEO ชื่อดังเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกอย่างอีลอนมัสก์

หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในระบบส่งกระแสไฟฟ้าและได้รับการพัฒนามาต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปี ประเทศไทยเองก็มีบริษัทที่ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูงหลายบริษัทซึ่งผลิตหม้อแปลงส่งให้กับลูกค้าหลัก คือ การไฟฟ้าและประเทศเพื่อนบ้าน หม้อแปลงไฟฟ้าโดยทั่วไปมีการส่งผ่านกำลังไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดกลางไปยังชุมชนโดยทั่วไป หม้อแปลงขนาดใหญ่จะติดตั้งอยู่ในตัวอาคาร หรือในสถานที่ห่างไกลชุมชุนมีรั้วรอบขอบชิดปลอดภัยจากผู้คน แต่หม้อแปลงขนาดเล็กอาจได้รับการติดตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้าใกล้ชุมชน เพื่อแปลงขนาดของกระแสไฟฟ้าในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะถูกใช้ ซึ่งหม้อแปลงชนิดนี้ โดยทั่วไปก็มีความปลอดภัยสูง อยู่ห่างตัวอาคารตามข้อกำหนดความปลอดภัยทุกอย่าง แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่สุดวิสัย เช่น การใช้ไฟฟ้าที่อาจมีความต้องการพุ่งพรวดในบางวัน ทำให้หม้อแปลงรับภาระมากเกินกว่าพิกัดที่รับได้ (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะปกติก็มีการเผื่อความต้องการสูงสุดไว้มากพออยู่แล้ว) การเกิดฟ้าผ่าในฤดูกาลปกติ อาจทำให้หม้อแปลงระเบิดได้เช่นกัน แต่การระเบิดของหม้อแปลงก็ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมรอบตัวหม้อแปลงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ในชุมชนที่หนาแน่นมากๆ ประชาชนเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น การตั้งแผงลอยขายสินค้าบนฟุตบาททำให้มีผู้คนหนาแน่นใกล้กับหม้อแปลง การต่อเติมตัวอาคารเพิ่มเติมทำให้หม้อแปลงไฟฟ้ามีระยะห่างจากตัวอาคารไม่เพียงพอ การมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ไม่เหมาะสม การต่อสายเคเบิลสื่อสารรกรุงรังเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้กับไฟที่ลุกไหม้อันเนื่องมาจากการระเบิดของหม้อแปลง หรือ การเกิดประกายไฟจาก arc ของหม้อแปลง ทำให้อุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สินจากหม้อแปลงเริ่มมีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ประโยชน์จากหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีจำนวนมากมายในระบบส่งกระแสไฟฟ้าก็ยังมีมากกว่าอันตรายจากอุบัติเหตุหม้อแปลงระเบิด ที่ยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนหม้อแปลงไฟฟ้าทั้งหมด และสามารถป้องกันได้ง่าย โดยควรมีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆให้ชัดเจนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เราก็จะสามารถใช้หม้อแปลงไฟฟ้า และอยู่กับหม้อแปลงไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยและสบายใจกันทุกคน

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สราวุธ จันทเขต

Facebook Comments Box