Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

กินน้อย ชะลอวัย จริงหรือ?

31 มกราคม 2566

บทความโดย ผศ.ดร.จิรพรรณ ทองสร้อย 
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจกันมาซักพักหนึ่งแล้วว่า การกินอาหารแต่น้อย หรือการอดอาหาร จะทำให้มีอายุที่ยืนยาวได้จริงหรือไม่ และเรื่องนี้ยิ่งกลับมาเป็นกระแสที่มีผู้คนให้ความสนใจกันมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีคุณหมอชาวญี่ปุ่นออกมาเผยข้อมูลที่ทำให้เราต้องตาโตด้วยความแปลกใจที่ว่า “ยิ่งเราปล่อยให้ท้องหิว จะยิ่งอ่อนเยาว์ สุขภาพดี” แล้วเรื่องนี้จะจริงหรือเท็จอย่างไร? มาอ่านกันค่ะ…

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นที่ทราบกันมาหลายทศวรรษแล้วว่า การอดอาหาร จะช่วยทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆมีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยการมีอายุยืนยาวจะถูกควบคุมด้วยยีนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ยีนเชอร์ทูอิน “Sirtuins” (1) โดยยีนกลุ่มนี้มีทั้งในยีสต์จนถึงมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่า การทำงานของ Sirtuins จะลดลง เมื่อสิ่งมีชีวิตมีอายุมากขึ้น หรือจะพูดง่ายๆก็คือ เมื่อเราทุกคนอายุมากขึ้น เราจะมีการทำงานของ Sirtuins ที่ลดลงเองตามธรรมชาติ และการที่ Sirtuins ทำงานลดลงนี้เอง จะส่งผลให้ร่างกายของเรามีความเสื่อมสภาพ ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ความชรา ดังนั้นหากเราสามารถทำให้ Sirtuins ไม่ลดการทำงานลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการกระตุ้นให้ Sirtuins ยังคงทำงานได้เหมือนเดิม แม้จะมีอายุที่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลทำให้เราเข้าสู่ความชราช้าลง อันอาจเป็นการยืดอายุได้ทางอ้อม

มีการศึกษาก่อนหน้านี้ ที่แสดงให้เห็นว่า ยีสต์กลุ่มที่โตในอาหารเลี้ยงเชื้อที่ลดปริมาณน้ำตาล (กลุ่มกินน้อย) จะมีอายุที่ยืนยาวกว่ายีสต์ที่โตในอาหารที่มีน้ำตาลปริมาณปกติ (กลุ่มกินปกติ) และเมื่อวัดการทำงานของ Sirtuins พบว่า ในยีสต์กลุ่มที่กินน้อย จะมีการทำงานของ Sirtuins ที่มากกว่ายีสต์กลุ่มกินปกติ เมื่อทำการวัดในช่วงวัน/เวลาเดียวกัน (2) ทั้งนี้จึงสรุปได้ว่าในยีสต์กลุ่มที่กินน้อย จะมีการทำงานของ Sirtuins ลงลงช้ากว่าในกลุ่มที่กินปกติ จึงส่งผลให้ยีสต์กลุ่มที่กินน้อยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น 

การศึกษาการทำงานของ Sirtuins ยังให้ผลที่สอดคล้องกันในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่น หนอน แมลง หรือแม้กระทั่งหนู (3,4) แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการมีข้อจำกัดหลายอย่างในการทดลองในคน จึงยังไม่มีผลการทดลองที่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า ยิ่งเราอดอาหารจะทำให้เรากลับมาเป็นหนุ่มสาว หรือมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่จากสมมุติฐานข้างต้นก็อาจจะพอสรุปได้ว่าการจำกัดอาหารที่กินในละวันไม่ให้มากจนเกินไป กินแต่น้อย หรือกินแต่พอดี ย่อมส่งผลให้เรามีสุขภาพที่ดี ชะลอการเข้าสู่ความชรา ได้ดีกว่าการกินอาหารในปริมาณมาก หรือกินเกินความจำเป็นของร่างกายอย่างแน่นอน

เอกสารอ้างอิง

1. Sinclair, D. and E. Verdin, The longevity of sirtuins. Cell reports, 2012. 2(6): p. 1473-1474.

2. Kaeberlein, M., et al., Sir2-independent life span extension by calorie restriction in yeast. 

    PLoS biology, 2004. 2(9): p. e296.

3. Guarente, L. Sirtuins in aging and disease. in Cold Spring Harbor symposia on quantitative 

     biology. 2007. Cold Spring Harbor Laboratory Press.

4. Boily, G., et al., SirT1 regulates energy metabolism and response to caloric restriction in mice. 

    PloS one, 2008. 3(3): p. e1759.