Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ” : ตัวตนคนใต้ จาก “มหา’ลัยเหมืองแร่” ถึง “ผลการเลือกตั้งทั่วไป 2566” ในพื้นที่ภาคใต้

“เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ”
.
ประโยคเรียกน้ำตาจากตัวละครคนใต้อย่าง “พี่ก้อง” ซึ่งสะท้อนความศรัทธาและจริงใจอย่างเปี่ยมล้นต่อคนที่เขารัก ในที่นี้ก็คือ “อาจินต์” ตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่” (2548) กำกับโดย จิระ มะลิกุล สร้างจากเรื่องสั้นกว่าสองร้อยเรื่องในหนังสือชุด “เหมืองแร่” ของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” โดยเขียนจากประสบการณ์ช่วงหนึ่งที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนใต้หลายปี
.
นี่เป็นภาพสะท้อนของคนใต้หรือเปล่า ผมเองก็เป็นคนใต้ ถ้าจะให้อธิบายว่าคนใต้มีลักษณะอย่างไร ก็เกรงจะเข้าลักษณะ “นกอยู่ฟ้านกหากไม่เห็นฟ้า ปลาอยู่น้ำย่อมปลาเห็นน้ำไม่” (เพียงความเคลื่อนไหว, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, 2519) ทางหนึ่งที่จะรู้ว่าคนใต้เป็นอย่างไรโดยปราศจากอคติของคนใต้ ก็คงต้องมองผ่านกระจกที่สะท้อนโดยสายตาของผู้อื่น
.
เอกวิทย์ ณ ถลาง (2540) กล่าวไว้ในหนังสือ “ภูมิปัญญาชาวบ้านสี่ภาค” ว่า … คนปักษ์ใต้เป็นคนคล่องตัวทางภาษา ช่างเจรจา ช่างโต้แย้งตั้งปัญหา มีไหวพริบปฏิภาณ มีชั้นเชิง ไม่ยอมเสียเปรียบเสียรู้ใครง่าย ๆ ค่อนข้างจะเจ้าถ้อยหมอความ ปกครองยาก “แต่ถ้าเชื่อถือหรือไว้ใจกันแล้วก็ไม่ยาก เป็นคนทระนงในศักดิ์ศรี ไม่นับถือหรือนิยมยกย่องใครง่าย ๆ”
.
สอดคล้องกับ ณรงค์ บุญสวยขวัญ (2543) กล่าวถึงคนลุ่มน้ำปากพนังว่า … มีใจรักอิสระ เชื่อมั่นตนเอง มีใจนักเลง และรักพวกพ้อง (วิถีชีวิตของประชาชนในพี้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากการพัฒนาของรัฐ ในระยะแผนพัฒนาฉบับที่ 1-8)
.
นอกจากนี้ อาคม เดชไพศาล (2547) กล่าวไว้ในหนังสือ “หัวเชือกหัวชน” ว่า … คนปักษ์ใต้มีท่าทีแข็งกร้าว ตรงไปตรงมา มีความเชื่อมั่นในตนเองและมีอัตตาสูง ทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ ชิงการนำ ดิ่งเดี่ยว เสี่ยงสู้ ไม่ยอมรับนับถือหรือนิยมยกย่องใครง่าย ๆ … รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง
.
จากตัวอย่างข้างต้น เราพอจะเห็นภาพร่วมกันอย่างหนึ่งได้ว่า คนใต้ไม่ได้ยอมรับใครง่าย ๆ ถ้าใครจะเข้ามาทำให้คนใต้เชื่อใจ ก็ต้องพิสูจน์ตนเองจนเป็นที่ยอมรับเสียก่อน ในทางกลับกัน หากใครก็ตามสามารถซื้อใจคนใต้ได้แล้ว บุคคลนั้นก็จะได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยม
.
“พี่ก้อง” ในภาพยนตร์เรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่” ก็เช่นกัน การที่เขาจะยอมรับเด็กหนุ่มอย่าง “อาจินต์” ซึ่งอายุน้อยกว่าพี่ก้องเป็นสิบปี แถมยังมาจากบางกอกซึ่งถือเป็นคนต่างถิ่นอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่อาจินต์ก็ใช้ความจริงใจของตนเพื่อพิสูจน์ตนเอง จนในที่สุด เขาก็ชนะใจทุกคนในเหมืองแร่ รวมทั้งพี่ก้อง เจ้าของประโยคที่ว่า “อาจินต์ … เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ”
.
ภาพต้นฉบับจากภาพยนตร์นี้ถูกนำไปตัดต่อเป็นภาพล้อเลียน, ประชด, เสียดสี หรืออะไรก็แล้วแต่ อันสืบเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ภาพล้อเลียนที่ว่าอาจจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่ออะไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว อยากเขียนบันทึกเอาไว้ตรงนี้ เพื่อให้คนที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว หรือไม่ได้อ่านหนังสือชุดเหมืองแร่ จะได้ซาบซึ้งกับสาระสำคัญของต้นฉบับอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกกลืนหายไปกับบริบททางการเมือง ณ ชั่วเวลาขณะหนึ่ง
.
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร #ผมภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนปักษ์ใต้และภูมิใจที่เป็นคนไทย รวมทั้งหวังว่าประเทศชาติจะได้พัฒนาไปในทางที่ดีตามที่ทุกคนได้หวังกันเอาไว้
.
ขอบคุณ สุวัฒน์ เกิดมณี สำหรับเชื้อไฟในการเขียนข้อความนี้
.
เรียนเรียงโดย ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง
สาขาวิชาภาษาไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
Facebook Comments Box