Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร?

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร? เกี่ยวข้องแค่ไหนกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL)

treaty-of-versailles-gettyimages-544274844-1180x620

หลังจากที่เราได้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฏหมายสิทธิมนุษยชน หลายคนอาจสงสัยว่าหากมีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศขึ้นมา จะมีการจัดการสอบสวน ลงโทษ หรือมีมาตรการอย่างไร และใครเป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ บทความของเราจะมาไขข้อสงสัยในโพสต์เดียว

Playlist

1 Videos

อาญชากรรมสงครามคืออะไร?

อาชญากรรมสงคราม คือ อาชญากรรมที่กระทำในบริบทของสงคราม กล่าวคือ อาชญากรรมที่เกิดขี้นที่เกี่ยวข้องกับการทำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างประเทศหรือไม่ โดยที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) นิยามอาชญากรรมสงครามไว้ว่าเป็น
 
“การละเมิดกฎหมายและจารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันทางอาวุธที่มีลักษณะระหว่างประเทศ (และไม่ระหว่างประเทศ)อย่างร้ายแรง”

อาชญากรรมสงครามนั้นมีตัวอย่างเช่น ทรมาน ตัดอวัยวะ ลงโทษทางร่างกาย จับเป็นตัวประกัน และการก่อการร้าย และยังรวมไปถึงการละเมิดศักดิ์สรีความเป็นมนุษย์เช่นการข่มขืนหรือบังคับค้าประเวณี ปล้นสะดม และการประหารโดยไม่ขึ้นศาล ทั้งนี้อาชญากรรมสงคราม ต่างจากอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ตรงที่อาชญากรรมสงครามสามารถเกิดขี้นได้เมื่อมีสงครามเท่านั้น
 

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หากมีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ(International Humanitarian Law – IHL) หรือที่เราเรียกกันว่าเป็น กฎหมายสงคราม


รัฐที่เข้ารบเป็นหน่วยหลักในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่และการกระทำตนของทหารภายใต้การบังคับบัญชา โดยที่กองทัพต่างๆ ต้องพยายามปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL), อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และพันธะทางกฎหมายอื่นๆ อย่างเต็มที่และไม่ยกเว้น ทั้งนี้ต้องมีการรักษาวินัยและการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ ป้องกันพฤติกรรมอันเป็นอาชญากรในหมู่กำลังพล และต้องรายงาน ยับยั้งขัดขวางหรือดำเนินการเกี่ยวกับการปฎิบัติที่ผิดหรือการละเมิดกฎหมาย IHL และเน้นย้ำถึงการไม่ออกและรับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
ในส่วนของกระบวนการหลังความรุนแรงยุติ อาจมีการจัดตั้งศาลเฉพาะกิจเพื่อดำเนินคดีกับอาชญากรสงคราม หรืออาจจะมีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยอาจผ่านช่องทางทางพันธะจากสนธิสัญญากรุงโรม หรือผ่านช่องทางอื่น เช่น สำนักงานอัยการของ ICC เอง หรือรับเรื่องผ่านมติสหประชาชาติเป็นต้น

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรสงครามด้วยหรือไม่ และได้ทำการแชร์ข้อมูลกับ ICC ด้วยหรือเปล่า

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) มีการเก็บข้อมูลหรือหลักฐานในบริบทของสงครามแต่ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกเปิดเผยสู่ภายนอกโดยเด็ดขาด และ ICRC เองไม่มีพันธะหรือหน้าที่ที่ต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ใด แม้แต่ศาลเองก็ตาม เพราะว่า ICRC ต้องปฏิบัติหน้าที่บนหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่าย และการเก็บรักษาความลับ เพื่อรักษาความเชื่อใจและเป็นกลาง เพื่อให้ ICRC สามารถทำงานได้กับทุกฝ่าย ในการให้ความช่วยเหลือ แนะนำและเป็นช่องทางในการเจรจาและสร้างความเคารพต่อหลักกฎหมายสงครามในทุกๆ ฝ่าย หมายความว่าเจ้าหน้าที่ของ ICRC จะไม่เปิดเผยข้อมูลในทุกกรณี

ICC เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากอนุสัญญาเจนีวาด้วยหรือเปล่า ICC และ ICRC มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่

ICC เป็นองค์กรที่แยกต่างหาก เกิดขึ้นจากการลงนามในสนธิสัญญากรุงโรม ดังนั้น การจะให้ ICC มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องในทางคดีกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศที่ว่านั้นจะต้องเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญากรุงโรม โดย ICC มีอำนาจดำเนินคดี 4 ประเภท คือ 1. อาชญากรรมสงคราม 2. การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ 3.อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 4.การรุกราน

ICC เป็นศาลที่เรียกว่าเป็นศาลที่เข้ามาเสริม complementarity คือไม่ได้แทนที่ศาลภายใน เพราะการนำเรื่องสู่ ICC ได้จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับความผิดภายใต้เขตอำนาจศาล จากภายในประเทศจนหมดหนทางก่อน และ/หรือ เมื่อปรากฏว่ากระบวนการภายในไม่สามารถหรือไม่ยินยอมให้ความเป็นธรรม ICC จึงจะสามารถเข้ามาเสริมและเกี่ยวข้องได้

ข้อเกาะเกี่ยวระหว่าง ICC และ ICRC คืออนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปรับใช้โดยตรงในสงคราม โดย ICC อาศัยหลักต่างๆที่ปรากฎใน Geneva Conventions และสนธิสัญญากรุงโรม ในการพิจารณาและตัดสินคดี เปรียบได้ทำนองว่า ICRC เป็นกรรมการที่คอยดูแลให้ทุกคนทำตามกฎ ในขณะที่ ICC คือผู้จัดการ ลงโทษนักกีฬาที่ทำผิดกฎ

อ้างอิง
ICRC Blog | Thailand. (2022). ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร? เกี่ยวข้องแค่ไหนกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566. จาก https://blogs.icrc.org/th/2022/09/22/icc-icrc-ihl/

Facebook Comments Box