Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

หัวใจของการเรียนกฎหมาย

หัวใจของการเรียนกฎหมาย คือ “ตัวบท” ในที่นี้ผู้เขียนขอยืนยันว่าผู้เรียนกฎหมายต้องมีประมวลกฎหมายติดตัวเสมอไม่ว่าจะระหว่างที่ศึกษาวิชากฎหมายหรือช่วงวัยทำงาน สำหรับผู้เขียนแล้วมี 3 เล่ม คือ ฉบับ pocket book ติดหน้ารถหรือกระเป๋าประจำตัวสำหรับอ่านเวลาว่าง ฉบับใช้อ่านเพื่อเตรียมสอบเล่มใหญ่ขนาด A4 อันนี้สำคัญที่สุด ชนิดที่ว่าโทรศัพท์มือถือหายยังดีกว่าเพราะเล่มนี้จะจดโน๊ตเยอะ คำอธิบาย รวมถึงย่อฎีกาสำคัญๆ สำหรับสอบสนามสำคัญๆ ส่วนอีกฉบับขนาด A5 ติดไว้ที่ห้องทำงานเพื่อใช้สำหรับทำงาน

แต่ปัญหานักกฎหมายในยุค 5G คือ ถือเครื่องมือสื่อสารมากกว่าตัวบทกฎหมาย อาจารย์ให้เปิดตัวบทเพื่อประกอบการเรียนการสอน ก็กลับค้นหาจากสื่อโซเซียลซึ่งอาจจะอัพเดทบ้างไม่อัพเดทบ้าง หรือบางครั้งก็อ้างว่าหนัก ขี้เกียจถือ หรือข้อแม้ ข้ออ้างต่างๆนาๆ

วันนี้ผู้เขียนจึงขอนำความสำคัญและวิธีใช้ตัวบทให้เข้าใจง่ายขึ้นมาบอกต่อ

⚖️ เวลาเรียนมาตราสำคัญที่อาจารย์พูดบ่อยๆ แนะนำให้ไฮไลน์เลขมาตราถ้าสำคัญมาก ใส่ดอกจันไปเลย 5 ดอก 10 ดอกตามความพอใจ แต่….แนะนำว่า

ให้ใส่สีที่โดดเด่นหรือสีประจำวันเกิดไปเลยจำง่ายดี ว่ามาตรานี้สำคัญ ออกข้อสอบบ่อยหรือออกแน่ ส่วนสีที่ไม่ชอบแปลว่า สีไม่ค่อยออกสอบนานๆที จะหลงมา ส่วนมาตราไหนไม่ค่อยออกข้อสอบ ปล่อยทิ้งไว้ใสใส

Note : สมมุติผู้เขียนเกิดวันพุธ ใส่สีเขียว เป็นอันรู้ว่า ต้องจำและจำชนิดที่ว่าสำเนาถูกต้องได้ยิ่งดี*** คำว่า “นั้นไซร้” “ท่านว่า” ก็ไม่ต้องก็ได้

ส่วนสีม่วง คือ สีที่ไม่ชอบ ให้รู้ว่า มาตรานี้จำเฉพาะคำสำคัญหรือหลักสำคัญๆก็พอ

และที่ว่างๆ ใสใสนั้น เป็นอันว่ารู้กันว่าดูผ่านๆ จำเลขมาตราและชื่อเรื่องก็พอ (สอนเขียนชื่อเรื่องหัวข้อต่อไป)

⚖️ เขียนเรื่องหรือชื่อที่หน้าหรือข้างบนมาตราลงไปในตัวบท ด้วยปากกาสีชัดเจนตามชอบ (พยายามอย่าใช้ปากกาหมึกซึมหรือดินสอ เพราะนานไปมันจะซึมไปอีกด้านจนอ่านไม่ออก หรือไม่ก็ลบเลือนหายไป)**

Q :: จะรู้ชื่อเรื่องได้ยังไง?

A :: ตอนเรียนหรืออ่านตำราหรือไม่ก็ตั้งชื่อเองตามความเข้าใจ จะได้จำได้

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 149 ความหมายนิติกรรม ,มาตรา 420 ละเมิด, มาตรา 1382 ครอบครองปรปักษ์ ,มาตรา 1312 สร้างโรงเรือนรุกล้ำ เป็นต้น

Trick : ก่อนสอบเขียนเลขมาตราและชื่อเรื่อง และท่องเนื้อหาออกมาให้ได้ หรือสร้างเกมส์ kahoot ทายเนื้อหาจากเลขมาตราและชื่อเรื่องที่ปรากฏ เพื่อเพิ่มทักษะความจำ

⚖️ ในมาตราจะมีถ้อยคำงงๆ ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจทันทีปรากฏอยู่ เช่น “บริบูรณ์” “ทรัพยสิทธิ” “พ้นวิสัย” “กลฉ้อฉล” “การฉ้อฉล” “ทุจริต” “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” “สุจริต” “ประมาท” “จงใจ” ฯลฯ ให้โน๊ตคำอธิบายที่ได้จากการเรียนหรือตำราลงไป

⚖️ บางมาตราที่มีความหมายเป็นนัยหรือเชื่อมโยงหลักต่างๆ ก็ควรขีดเส้นใต้และจดคำอธิบายลงไป เช่น คำว่า “ไม่บริบูรณ์” ที่ปรากฏในมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ให้เขียนว่า “ไม่เป็นทรัพยสิทธิแต่ยังเป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกับคู่สัญญาและทายาทผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญานั้นๆได้”

คำว่า “ไม่สมบูรณ์” ในมาตรา 306 วรรหนึ่ง อาจเขียนว่า “ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 152” หรือ

“สร้างโรงเรือน” ในมาตรา 1310,1311 และมาตรา 1312 เขียนไว้ว่า “สร้างลงไปทั้งหลังไม่รวมต่อเติม”

มาตรา 1522 “ถ้าสามีภรรยาหย่าโดยความยินยอม เรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 ไม่ได้”

ปวิพ.มาตรา 322 ชื่อตัวบท “ร้องขอกันส่วน” เขียนไปว่า กรณีหนี้เงินเท่านั้น

ปวิอ.มาตรา 22 ชื่อตัวบท “เขตอำนาจศาล” มาตรา 22(1) “ก็ได้” เขียนไปว่า “ไม่เป็นบทบังคับที่ศาลต้องรับชำระคดี จึงเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะรับพิจารณาคดีนั้นหรือไม่” เป็นต้น

⚖️ เขียนตัวอย่างที่เคยมีคำพิพากษาฎีกาตัดสินไว้ ดังนั้น ควรใช้ตัวบทเล่มใหญ่ฉบับใช้เรียน** และถ้อยคำใดๆ ที่ศาลฎีกาเคยอธิบายวางหลักไว้ ก็ควรเขียนฎีกาลงไป ใกล้ๆ คำนั้นๆ เพื่อการค้นคว้าอ่านฎีกาเต็มเพิ่มเติม

Q :: จะรู้ได้ยังไง??

A :: อ่านหนังสือ/ตำรา/เข้าเรียนจร้าาาา

⚖️ ไล่สายตัวบทสำคัญมาก เวลาผู้เขียนสอนนักศึกษามักจะสอนการจับกลุ่มการใช้ตัวบทและการไล่สายจนสุดสาย อย่า***เรียนแค่ท่องจำเพื่อไปสอบให้จบๆ โดยที่ใช้ไม่เป็น เพราะในตัวบทบางเรื่องกฎหมายจะบัญญัติเหตุไว้ในมาตราหนึ่งแต่ผลการฝ่าฝืนไปอยู่ในอีกมาตราหนึ่ง แบบนี้ต้องเขียนไล่สายไว้ให้สุด เวลากลับมาดูจะได้ดูเป็นสายไป

เช่น ปวิอ. มาตรา 2(4),3,4,5 ผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์มาตรา 2(7) ,17-19 สืบสวน สอบสวน ทำสำนวน ,อำนาจฟ้อง 120,121 การสั่งคดีของพนักงานอัยการ 140-144 และเขตอำนาจศาลมาตรา 22 เป็นต้น สำหรับคดีอาญาโดยเริ่มจากผู้เสียหายถึงชั้นศาล จะได้จำได้อย่างเป็นระบบ

ลองฝึกทำตั้งแต่ปี 1 เป็นต้นไป พอถึงเรียนเนติฯ หรือสอบศาล สอบอัยการ จะได้ไม่ต้องเตรียมตัวนานเกินไป

☘️ ขอให้ทุกคนโชคดีและสนุกกับการเรียนกฎหมายนะคะ เป็นกำลังใจซึ่งกันและกันเพราะผู้เขียนก็ทำเช่นนี้ในทุกๆครั้งที่อ่านหนังสือ

🌻 Tin-Tin 🌻

Article on : law.wu.ac.th

October – December 2023

หัวใจของกฎหมาย
Facebook Comments Box