Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

หน้าแดงเพราะแพ้เธอ หรือว่าแพ้เหล้า

เขียนและเรียบเรียง โดย : อาจารย์ ดร.ชุติมา จั่นสกุล สำนักวิชาสหเวชศาสตร์

เราเคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนถึงหน้าแดงเวลาดื่มเหล้า? 

วันนี้เรามีคำตอบให้กับอาการหน้าแดง หลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า  Alcohol flush Reaction ซึ่งแต่ละคนจะแสดงอาการแพ้แอลกอฮอล์แตกต่างกัน เช่น หน้าแดง (flushing) ตัวแดง ตาแดง หรืออาจจะเป็นการแดงเฉพาะช่วงบน-หน้าอก หรือแดงทั้งตัวก็ได้หรือหัวใจเต้นเร็วร่วมด้วย

โดยคำตอบของเรื่องนี้ มาจากพันธุกรรมนั่นเองค่ะ โดยปกติแล้ว เมื่อเราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ตับจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าเอนไซม์ อัลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนส ทู หรือ aldehyde dehydrogenase 2 (ย่อว่า ALDH2)  ในยีนของชาวเอเชีย โดยเฉพาะคนจีน ญี่ปุ่น หรือคนไทยนี้ส่วนใหญ่จะ มีภาวะพร่องเอนไซม์ ALDH2 ซึ่งเอนไซม์นี้ทำหน้าที่ในการช่วยเปลี่ยนสาร อะซีทอลดีไฮด์ (acetaldehyde) ซึ่งเกิดจากกระบวนการสลายแอลกอฮอล์ เป็นสารที่ทำให้เกิดพิษต่อหลายๆระบบทำให้กลายเป็นสารที่ไม่เป็นพิษ ที่เรียกว่า acetate และช่วยให้ร่างกายขับสารตัวนี้ออกไปตามปกติ

ดังนั้น คนที่มีการพร่องของเอนไซม์ ALDH2  ก็จะทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อ acetaldehyde  ที่ได้จากการกระบวนการเผาผลาญเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้สาร acetaldehyde นี้ตกค้างสะสมอยู่ในร่างกาย  อาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ก่อให้เกิดอาการหน้าแดง ตัวแดง คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน เมาง่าย นั่นเอง และเนื่องจากคนที่พร่องเอนไซม์ ALDH2 ต้องใช้เวลาในการกำจัดสารพิษในร่างกายช้ากว่า จนมีชื่อเรียกเฉพาะของอาการแพ้แอลกอฮอล์ในคนเอเชียว่า Asian Flush ซึ่งหากปล่อยอาการผิดปกตินี้ทิ้งไว้ในระยะยาว อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งหลอดอาหารซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 6-10 เท่า นอกจากนี้สมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาตับ (EASL) ได้รายงานความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับในคนปกติพบว่า  ผู้ชายดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 3 ดื่มมาตรฐานและผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน เป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งและนำไปสู่มะเร็งตับได้ในอนาคต นอกจากปริมาณและระยะเวลาดื่มที่มีผลต่อตับแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ ได้แก่ เช่น เพศ ภาวะอ้วน และโรคตับร่วมกับการมีโรคอื่น เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซี เป็นต้น

เกร็ดความรู้เล็กๆ เรื่อง 1 ดื่มมาตรฐาน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • Wang Q, Chang B, Li X, Zou Z. Role of ALDH2 in Hepatic Disorders: Gene Polymorphism and Disease Pathogenesis. J Clin Transl Hepatol. 2021 Feb 28;9(1):90-98. doi: 10.14218/JCTH.2020.00104. Epub 2021 Jan 4. PMID: 33604259; PMCID: PMC7868706.
  • European Association for the Study of Liver (2012). EASL clinical practical guidelines: management of alcoholic liver disease. Journal of hepatology, 57(2), 399–420. https://doi.org/10.1016/j.jhep.2012.04.004
  • Choi, C. K., Yang, J., Kweon, S. S., Cho, S. H., Kim, H. Y., Myung, E., & Shin, M. H. (2021). Association between ALDH2 polymorphism and esophageal cancer risk in South Koreans: a case-control study. BMC cancer, 21(1), 254. https://doi.org/10.1186/s12885-021-07993-4
Facebook Comments Box