Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ดอกไม้สีเหลือง สัญลักษณ์แห่งหน้าร้อน

“สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แล้วสัมพันธ์กับเรื่องราวต่าง ๆ

จะทำให้เราระลึกถึง และคิดถึงเรื่องราวดังกล่าวเมื่อเจอสิ่งนั้นอีกครั้ง

เฉกเช่นสีของดอกไม้ ที่เบ่งบานในหน้าร้อน ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคมของปี จะสังเกตเห็นว่ามักจะมีสีเหลือง หรืออาจจะเรีกกได้ว่าสีเหลืองเป็นสีแห่งหน้าร้อนก็ว่าได้ แล้วเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า และสีเหลืองเหล่านี้แท้ที่จริงแล้วคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อพืชชนิดนั้น ๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบ บทความนี้จะขอกล่าวถึงสีเหลืองของดอกไม้ที่เบ่งบานในช่วงหน้าร้อนของประเทศไทยกันครับ

ดอกไม้ที่มีสีเหลือง และเป็นสัญลักษณ์ของหน้าร้อน เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งเป็นดอกไม้ประจำประเทศไทยอีกด้วย หลายคนคงจำได้ว่าเป็นดอกราชพฤกษ์ หรือดอกคูน หรือมีชื่ออื่นๆ เช่น ชัยพฤกษ์ ลมแล้ง สักเกลือม สักเคย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cassia fistula L. จัดเป็นพืชในวงศ์ Leguminosae (Subfamily) Caesalpinoideae เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยง สีขาวอมเทา แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเกลี้ยง ค่อนข้างบาง หูใบมีขนาดเล็กและร่วงง่าย ดอกช่อแบบช่อกระจะ สีเหลืองสด ออกตามซอกใบหรือปลายยอด 1-3 ช่อ เป็นช่อห้อยลงเป็นโคมระย้า ยาว 20-40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดบานกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่ ปลายมน เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาวคล้ายไหม ผลเป็นฝักยาว รูปแท่งกลม กว้าง 1.5-2.5  เซนติเมตร ยาว 20-60 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกฝักแข็งกรอบ ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตกเป็นชิ้น ภายในฝักจะมีผนังกั้นเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีเนื้อเหนียวเปียกสีดำหุ้ม มีรสหวาน เมล็ดแบนรี สีน้ำตาล มีเมล็ด 50-70 เมล็ด  ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

ภาพที่ 1: แสดง ต้นราชพฤกษ์ หรือต้นคูน โดยในภาพแสดงส่วนของช่อดอก ฝัก ใบ เมล็ดและเนื้อหุ้มเมล็ด ที่บรรจุอยู่ในฝัก

อีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไป เป็นไม้ประดับที่หลาย ๆ พื้นที่นิยม คือต้นทองอุไร ชื่ออาจจะมาจากสีของดอกคือสีเหลืองนั่งเอง ปกติจะติดดอกทั้งปี แต่ในช่วงหน้าร้อนเหมือนจะมีการติดดอกมากเป็นพิเศษ ต้นทองอุไร มีชื่ออื่น ๆ ที่เรียก เช่น ดอกละคร (เชียงใหม่) พวงอุไร สร้อยทอง (กรุงเทพฯ) เป็นต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Tecoma stans   (L.) Kunth เป็นพืชในวงศ์ Bignoniaceae ทองอุไรเป็นไม้พุ่ม สูง 2-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง ใบ เป็นใบประกอบแบบคล้ายขนนก 2 ชั้น กว้าง 14-16 เซนติเมตร  ยาว  20-23 เซนติเมตร ก้านใบยาว 9-12  เซนติเมตร แกนกลางยาว 12-14 เซนติเมตร  ก้านใบย่อย ยาว 0.4-0.5 เซนติเมตร ใบย่อยมีจำนวน 5-11 คู่ กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาง 5-6 เซนติเมตร เรียงตรงข้ามกัน  ตัวใบย่อยมีรูปร่างเป็นรูปไข่  แกมรูปหอก  ฐานใบสอบ ขอบจักเป็นซี่ฟัน ปลายแหลม เนื้อใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยง  ดอก  เป็นดอกช่อแบบช่อกระจะ ก้านช่อ ยาว 7-11 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอม เส้นผ่าศูนย์กลางดอกย่อย  2-3 เซนติเมตร ดอกย่อยประกอบด้วย กลีบเลี้ยงเชื่อมกันปลายแยก 5 แฉก  ปลายแหลม มีสีเขียว กลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีสีเหลืองสด เกสรเพศผู้ มีจำนวน 4 อัน มีสองคู่ยาวไม่เท่ากัน เกสรเพศเมีย มีจำนวน 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ  ผล  เป็นผลแบบผลแห้งแตก ยาวประมาณ 16 เซนติเมตร

ภาพที่ 2: แสดงต้นทองอุไร โดยแสดงภาพของดอกที่มีสีเหลืองสด ใบ ผล และเมล็ดที่มีส่วนของปีกที่ช่วยในการแพร่กระจายของเมล็ด

จะเห็นได้ว่าตัวอย่างพืชทั้งสองชนิดมีดอกสีเหลือง แต่ชนิดหนึ่งออกดอกในช่วงหน้าร้อน และอีกชนิดออกดอกได้ทั้งปี ซึ่งอาจจะทำให้คิดว่าทองอุไร ออกดอกในช่วงหน้าร้อนเท่านั้น ดังนั้นการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมมีความจำเป็นก่อนที่จะสรุปใจความแบบนั้น

สีเหลืองของกลีบดอกไม้นั้น มีความสำคัญต่อพืช โดยรงควัตถุดังกล่าว จะเป็นตัวดึงดูดให้แมลงมาช่วยในการผสมเกสร ซึ่งสารสีเหลืองดังกล่าวจัดเป็นสารทุติยภูมิที่พืชสร้างขึ้นมา เมื่อทำการวิเคราะห์ทางเคมี พบว่าสารดังกล่าวเป็นสารในกลุ่ม Carotenoid และ Flavonoid เป็นสำคัญ ซึ่งพบว่าสารเหล่านี้มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา ที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในเชิงสุขภาพของคนเราได้ โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยในหลาย ๆ พื้นที่นำดอกไม้เหล่านี้มาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สุขภาพหลาย ๆ ชนิด โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ตอลดทั้งนำไปประกอบอาหารอีกด้วย ถึงอย่างไรก็ดีบางชนิดอาจจะมีข้อจำกัด และข้อควรระวัง ซึ่งเราจะต้องดำเนินการหาข้อมูล และระมัดระวังในการใช้ด้วย ผู้เขียนขอยกตัวอย่างดอกขี้เหล็ก ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกับดอกราชพฤกษ์ หรือดอกคูน พบว่าในดอกอ่อนของขี้เหล็กมีสารที่ชื่อว่า Barakol ซึ่งพบในส่วนของใบเช่นกันนั้น มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับได้ แต่ในขณะเดียวกันหากได้รับไปในปริมาณที่สูง ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน และอาจจะถึงขั้นชีวิตได้ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องนำดอกอ่อน และใบอ่อนของขี้เหล็กไปต้มน้ำหลาย ๆ รอบก่อนนำมาประกอบอาหาร เพื่อกำจัด Barakol ออกไปให้มากที่สุดนั้นเอง

ภาพที่ 3: แสดงตัวอย่างสารจากพืชในกลุ่ม Flavonoid ซึ่งเป็นสารทุติยภูมิที่พืชสร้างขึ้นมา

สำหรับการทดสอบ Flavonoid ในพืชนั้น สามารถทดสอบเบื้องต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการนำตัวอย่างพืชที่ต้องการทดสอบมาทำให้ช้ำ แล้วอังเหนือไอของแอมโมเนีย สีที่เกิดขึ้นสามารถระบุชนิดของ Flavonoids ได้ เช่น ในกรณีของ Anthocyanidin (สีแดงถึงสีม่วงแดง) สีจะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำเงินถึงสีม่วงน้ำเงิน กรณีของ Flavone และ Flavonol (สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน) สีจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองเข้ม ถึงสีแดง กรณีของ Aurone และ Chalcone (มีสีเหลืองสด หรือสีส้ม) สีจะเปลี่ยนไปเป็นสีแดง ถึงสีม่วง และกรณีของ Flavanone และ Flavanonol (มีสีขาว หรือสีเหลืองอ่อน) สีจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง เข้มถึงสีน้ำตาล เป็นต้น

สำหรับสีเหลือง เป็นสีโทนร้อน ซึ่งพบเห็นได้ในหน้าร้อน โดยเฉพาะในปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะอากาศร้อน ซึ่งอาจจะมีผลมาจากหลาย ๆ ปัจจัย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกด้วยแล้ว ส่งผลต่อความรู้สึก และสุขภาพของมนุษย์เราได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามในสิ่งเหล่านั้น ก็มีสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอีกด้วย หากเรารู้และนำมาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

http://www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb_04-1.htm (สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2567)

https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=216 (สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2567)

เอกสารบรรยาย รายวิชา PHA62-232 เภสัชเวท ภาคเรียนที่ 3/2566

Facebook Comments Box