Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

6 เทรนด์เทคโนโลยี 2024 เพื่อคว้าโอกาส และลดภัยคุกคามในยุค AI

รายงานฉบับนี้ ได้อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจ “Future of IT” ล่าสุดของ Info-Tech Research Group โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้าน IT หรือบุคลากร ที่มีตำแหน่งบริหารด้าน IT จำนวน 848 คน จาก 15 ประเทศ ทั้งในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ ยังได้รวมเอาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจาก 16 อุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐ การบริการระดับมืออาชีพ การผลิต การศึกษา การดูแลสุขภาพ บริการด้านการเงิน โทรคมนาคม และค้าปลีกมาร่วมพิจารณาด้วย จนได้ข้อสรุปออกมาเป็น 6 เทรนด์เทคโนโลยีการใช้ AI สำหรับองค์กรในปี 2024

ไบรอัน แจ็กสัน (Brian Jackson) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักและหัวหน้าฝ่ายวิจัย Tech Trends 2024 ได้เริ่มต้นด้วยการพูดถึง Generative AI ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำให้เกิดยุคไอทีแบบก้าวกระโดด (Exponential IT) โดยกล่าวว่า นอกจากผู้นำฝ่ายไอทีในองค์กร เช่น CIO (Chief Information Officer) ต้องคว้าโอกาสโดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ Generative AI แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่ตามมาจากการใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังต้องปกป้ององค์กรจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการสร้างข้อกำหนดในการใช้ AI เพื่อให้องค์กรสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในทางที่ถูกต้องและปลอดภัยได้

6 เทรนด์เทคโนโลยี ในการใช้ AI เพื่อคว้าโอกาส และลดภัยคุกคาม

ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนทำงานไปอย่างรวดเร็ว ผู้นำด้านไอทีทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในการใช้ AI อยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง นั่นคือ การยอมรับเอานวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และการจัดการกับประเด็นทางจริยธรรม และภัยคุกคามที่ตามมาจากการใช้เทคโนโลยี AI

1. โมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI (AI-driven Business Models)

จากเดิม AI ที่สามารถทำนายผลจากข้อมูลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลในเชิงลึก เช่น Facebook ที่ใช้ AI ทำนายว่า โฆษณาใดที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แต่ละคนมากที่สุด หรือ Amazon ที่ทำนายว่า ผลิตภัณฑ์ใดที่ลูกค้าคนหนึ่งจะซื้อในครั้งต่อไป แต่แนวโน้มที่จะได้เห็นในอนาคตคือ AI ทำนายข้อมูลจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่นำเสนอคุณค่าขององค์กรได้ เช่น Midjourney เอไอที่สามารถผลิตภาพ จากคำสั่งของผู้ใช้ว่า ภาพควรจะต้องมีลักษณะอย่างไร หรือ ChatGPT ที่คาดการณ์คำตอบที่เหมาะสมกับคำสั่งของผู้ใช้ นอกจากนี้ AI จะมีประสิทธิภาพในการช่วยแก้ปัญหาที่ยังท้าทายอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การใช้ AI ในบริษัททางการเงินเพื่อตรวจจับการฉ้อโกง องค์กรจึงควรต้องเลือก Use Cases ที่เจาะจงมากขึ้นในการสร้างโอกาสที่ดีที่สุด เพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับลูกค้า

จากรายงาน Tech Trends 2024 พบว่าองค์กรด้านไอทีส่วนใหญ่กำลังวางแผนใช้งาน AI ในการช่วยขับเคลื่อนด้านกลยุทธ์ของธุรกิจในปี 2024 โดย 66% ของบริษัทที่เลือกลงทุนไปกับ AI ภายในปี 2024 คาดว่า AI จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อบริษัทของตนเอง ในขณะที่มีเพียง 38% ของบริษัทที่ยังไม่เลือกลงทุนกับ AI เท่านั้นที่คิดเช่นนี้ และมีเพียง 3% ของผู้ที่ยังไม่เชื่อมั่นใน AI เท่านั้นที่รู้สึกว่า AI เป็นภัยคุกคามเสียมากกว่า

ผู้ใช้ AI กว่า 77% จะใช้เพื่อการวิเคราะห์ธุรกิจและการข่าวกรองทางธุรกิจ 71% ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงและปรับปรุงระบบความปลอดภัย ขณะที่ผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI ส่วนใหญ่จะยังไม่ประยุกต์ใช้ AI ในกลยุทธ์ขององค์กร และ 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าในปี 2024 AI จะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจหลายๆ ด้าน

2. ระบบหลังบ้านอัตโนมัติ (Autonomized Back office)

ก่อนนี้ฝ่ายไอทีมีบทบาทขับเคลื่อนระบบธุรกิจให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสามารถทำงานและควบคุมตนเองในการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทได้ แต่เมื่อมี Generative AI งานใหม่ๆ หลากหลายชนิดก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติมากขึ้น AI โมเดลสามารถประมวลผลข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างได้ในปริมาณมาก (Unstructured data) อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น การใช้เพื่อจัดประเภทข้อความ แก้ไขข้อความ สรุปเนื้อหา สร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ และอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ดังนั้น แม้องค์กรที่ยังไม่ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาใช้ AI ก็ยังจะได้รับประโยชน์จากการใช้ AI เหล่านี้เข้ามาปรับกระบวนการปฏิบัติงานในปัจจุบัน จากการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน บริการผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เช่น ChatGPT และอีกส่วนหนึ่งที่มาจากการใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ในซอฟต์แวร์ที่นำ AI เข้ามาอัปเกรดฟีเจอร์

รายงานได้เปิดเผยว่า 47% ของผู้ใช้ AI สนใจจะใช้ฟีเจอร์ Generative AI ใหม่ๆ จากผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ ไม่ว่าจะยังอยู่ในช่วง Beta (17%) หรือพร้อมใช้งานแล้ว (30%) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงมีความระมัดระวังในการใช้ โดย 37% ระบุว่า ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจใช้งาน และ 16% จะยังรอจนกว่าองค์กรต่างๆ จะทดสอบฟีเจอร์เหล่านี้ก่อน

และเมื่อถามว่าองค์กรส่วนใหญ่สนใจใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการปฏิบัติงานประเภทใดมากที่สุด 1 ใน 3 ของผู้ใช้ AI ตอบว่า ได้มีการใช้ AI สำหรับงานที่มีกระบวนการทำซ้ำและงานระดับต่ำให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติแล้ว ส่วน 45% ตอบว่า วางแผนจะใช้ AI ทำเช่นนั้นในปี 2024

รายงานยังพบว่า มีความเห็นที่ผู้ใช้ AI และผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI เห็นตรงกัน นั่นคือ ทั้งสองกลุ่มสนใจในการใช้ AI ทำงานต่างๆ ให้แบบอัตโนมัติมากกว่าจะใช้เพื่อช่วยให้พนักงานปฏิบัติการตัดสินใจได้ดีขึ้น

3. การประมวลผลเชิงพื้นที่ (Spatial Computing)

Spatial computing หรือเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการคำนวณเชิงพื้นที่และผสานวัตถุทางกายภาพและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับคอนเทนต์ดิจิทัลในพื้นที่รอบๆ ได้ การประมวลผลเชิงพื้นที่ใช้การโต้ตอบตามธรรมชาติ เช่น ท่าทาง เสียง และสายตา ผ่านการใช้อุปกรณ์อย่าง แว่นตา AR (Augmented Reality) หรือชุดหูฟัง VR (Virtual Reality) แทนที่การใช้อุปกรณ์ส่วนต่อแบบเดิมอย่าง คีย์บอร์ด หรือเมาส์ ตัวอย่างเช่น Apple บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ที่ได้เปิดตัวสินค้า Spatial Computing ใหม่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

จากรายงาน ผู้สนใจใช้เอไอมีความสนใจจะใช้การโต้ตอบระหว่าง AI กับมนุษย์ถึง 42% และ 1 ใน 5 ของผู้สนใจใช้ AI ได้ลงทุนใน Mixed Reality (การผสมผสานระหว่างสภาพแวดล้อมในโลกจริงและสภาพแวดล้อมในโลกดิจิทัลที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น) แล้ว ในขณะที่มี 1 ใน 15 ของผู้ไม่เชื่อมั่นใน AI เท่านั้นที่ลงทุน รายงานยังแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่ลงทุนหรือวางแผนลงทุนใน AI มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใช้ Mixed Reality มากขึ้น แต่การลงทุนส่วนใหญ่จะยังอยู่ในระยะหลังปี 2024

4. การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI)

เป็นเรื่องที่เราต้องหาวิธีวางกรอบการกำกับดูแลที่ดีในองค์กร เพื่อให้เราเข้าใจว่า AI กำลังทำอะไร และเราสามารถอธิบายได้ ซึ่งประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ หนึ่ง เราต้องเข้าใจข้อมูลที่เอามาใช้เทรน AI สอง เราต้องเข้าใจว่า AI สามารถคาดการณ์ได้อย่างไร และ สาม เราต้องเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการคาดการณ์นั้น

หลายบริการจาก AI ได้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวลต่อการใช้ AI ในทางที่ผิด การเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จากการใช้ข้อมูลเท็จ การเป็นต้นเหตุของการว่างงานจำนวนมหาศาล หรือแม้กระทั่งการก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทในการออกกฎหมายมักจะออกข้อบังคับใดๆ ไม่ทันต่อพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วนี้

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งยุโรปก็ได้มีความเคลื่อนไหวในเรื่องกฎหมายแล้ว โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการร่างกฎหมายว่าด้วย AI เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งพูดถึงเรื่องการห้ามใช้เครื่องมือที่ระบุอัตลักษณ์ชีวภาพอย่าง การรับรู้ใบหน้า (Face Recognition) ในที่สาธารณะ หรือทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการดำเนินการคำสั่งฝ่ายบริหารและกฎหมายว่าด้วยการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน บริษัท AI ชั้นนำ 7 แห่งก็ได้ทำการรับรองในการออกมาตรการที่รับประกันความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึงเรื่องการใส่ลายน้ำบนผลงานที่สร้างขึ้นจาก AI หรือจัดทำรายงานเกี่ยวกับข้อจำกัดและขอบเขตการใช้งาน AI ที่ไม่เหมาะสม

แล้วสำหรับองค์กรทั่วไป ใครควรจะเป็นผู้ออกข้อบังคับหรือแนวทางการควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์? จากการสำรวจ Future of IT ของ Info-Tech พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้ AI ระบุว่า CIO จะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการใช้ AI อีก 17% ระบุว่า คณะกรรมการหรือกลุ่มทำงานจะเป็นผู้รับผิดชอบ และอีก 10% ระบุว่า ผู้บริหาร 2 คนขึ้นไปควรร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนี้อาจรวมถึง CIO ด้วย และ 1 ใน 5 ของผู้ใช้ AI ยังไม่ได้มอบหมายใครให้เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการใช้เอไอ

5. การออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัย (Security by Design)

ในข้อนี้เน้นย้ำถึงการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังที่เกิดปัญหา โดยให้นักพัฒนา ฝ่ายไอที คาดการณ์ถึงจุดอ่อนที่อาจจะเกิดขึ้นและหาแนวทางป้องกันที่เข้มข้น เพราะซอฟต์แวร์ที่ผสาน AI จะทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังเขียนโปรแกรมที่อาจมีช่องโหว่ แล้วค่อยมาอัปเดตแพตช์ด้านความปลอดภัย เพื่อแก้ไขช่องโหว่ในภายหลัง ยังคงเป็นหลักปฏิบัติในการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น ส่งผลให้ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงในการใช้งานเอง เป็นผลให้แนวทางนี้อาจจะทำให้ซอฟต์แวร์มีความปลอดภัยไม่เพียงพอต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ องค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนและจัดหาทรัพยากรมากขึ้นเพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

รายงาน AI Trends 2024 ได้แสดงให้เห็นว่า องค์กรส่วนใหญ่ได้วางเป้าหมายในการลงทุนไปกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในปี 2024 โดย 1 ใน 6 ขององค์กรวางแผนที่จะเพิ่มงบในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของตนเองมากกว่า 10% โดยผู้ใช้ AI และผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องนี้แตกต่างกัน โดยผู้ใช้ AI จะให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และจัดฝึกอบรมให้กับทีมงานของตนมากที่สุด โดยเฉลี่ยคิดเป็น 4.3/5 ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI จะให้ความสำคัญกับการมองหาบริการจากบุคคลที่สาม (เช่น การตรวจจับการบุกรุกตลอด 24 ชั่วโมง) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้คะแนนเฉลี่ย 4.1/5

6. การปกป้องข้อมูลขององค์กรและลูกค้าจากการใช้ AI (Digital Sovereignty)

ในช่วงยุคแรกของระบบประมวลผลบนระบบคลาวด์ หลายองค์กรระมัดระวังที่จะจัดเก็บข้อมูลของตนเองลงบนเซิร์ฟเวอร์ของบุคคลที่สาม เนื่องจากกังวลว่าบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ที่เสนอบริการคลาวด์เหล่านี้จะดึงข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง

ผู้ให้บริการคลาวด์ได้แก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเสนอให้ระบบมีการเข้ารหัสเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า และยังเสนอระบบการเข้ารหัสของข้อมูลขณะที่กำลังประมวลผล เพื่อเป็นการรับประกันแก่ผู้ใช้ที่มีความกังวลเรื่องนี้อีกด้วย

ความกังวลในเรื่องความลับของข้อมูลเกิดขึ้นกับ Generative AI เช่นเดียวกัน ทำให้เหล่าผู้ให้บริการอย่าง Large Language Model Chatbot ออกมาประกาศว่า ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่เอามาใช้เทรนโมเดลมาจาก Common Crawl แหล่งเก็บข้อมูลที่สร้างโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักวิจัย หรือ ผู้ให้บริการโมเดล AI ผลิตภาพ (Image-generating Model) ก็ได้ใช้ชุดข้อมูลภาพสาธารณะ (Open Source) จาก LAION ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร โดยรวบรวมมาจากเว็บคลังภาพ บล็อก เว็บไซต์ช้อปปิ้ง และเว็บไซต์สต็อกภาพ ต่างๆ

นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายบริษัทต่างสงสัยว่า จะสามารถปกป้องข้อมูลและอัตลักษณ์ดิจิทัลของตนเองได้อย่างไร ทำให้บริษัทต้องหาวิธีรับมือในการป้องกันต่างๆ เพื่อรักษาข้อมูลบนดิจิทัล ไม่ให้ AI ของบุคคลที่สามนำข้อมูลของบริษัทไปใช้ได้

จากรายงาน Tech Trends 2024 ระบุว่า ไม่ว่าองค์กรต่างๆ จะมีแผนการลงทุนใน AI หรือไม่ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วกำลังรอเครื่องมือ Generative AI แบบมืออาชีพที่มีการกำกับดูแลในเรื่องข้อมูล ก่อนที่พนักงานจะได้รับการอนุมัติให้นำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้

สำหรับ VISAI เราได้มีนโยบายในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าอย่างเข้มงวด โดยข้อมูลที่นำมาใช้งานกับโมเดลปัญญาประดิษฐ์จาก AI Cloud Platform จะไม่มีการเก็บข้อมูลหลังจากเรียกใช้งาน API และจะไม่มีผู้ใดเข้าถึงข้อมูลนี้ได้นอกจากผู้ใช้งานโดยตรง ในส่วนของข้อมูลที่นำมาใช้เทรนโมเดลจะเข้าถึงได้เฉพาะผู้ใช้งานโดยตรง เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นในการซ่อมบำรุงระบบ ซึ่งต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอนุมัติก่อนเท่านั้น ส่วนการพัฒนาระบบ AI Solutions จะมีการยินยอมในเรื่องการรักษาความลับของข้อมูล ตั้งแต่ที่เริ่มมีการวางแผนโครงการ VISAI จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้โดยปราศจากความยินยอมก่อน บริษัทและองค์กรที่ต้องการใช้บริการจึงมั่นใจได้ว่าสามารถใช้ AI ได้อย่างปลอดภัยสูงสุด ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริการเทคโนโลยี AI แบบครบวงจร

อ้างอิง
สราญรัตน์ ไว้เกียรติ เว็บไซต์ VISAI (2024), 6 เทรนด์เทคโนโลยี 2024. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2567. จาก.https://visai.ai/th/blogs/13/6-trends-technology-2024

Facebook Comments Box