Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เตรียมพร้อมประหยัดพลังงานเครื่องปรับอากาศช่วงหน้าร้อน

        จากสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ต้องเผชิญกับอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นผิดปกติ โดยสถานประกอบการส่วนใหญ่เลือกที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อต้านทานกับความร้อนระอุ
        การปรับอากาศ คือ ขบวนการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความสะอาด การกระจายความเย็น และอื่นๆ ให้ได้สภาวะที่ต้องการ ในส่วนของอาคารขนาดใหญ่ พลังงานที่ใช้ในระบบปรับอากาศจะประมาณ ร้อยละ 60 ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ถ้าหากสามารถประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศได้ ก็จะสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างมาก ดังนั้นการประหยัดพลังงานสำหรับการใช้เครื่องปรับอากาศจึงจำเป็นต้องทราบถึงลักษณะการทำงานของเครื่องปรับอากาศเบื้องต้น ตลอดจนต้องทราบถึงการติดตั้ง การใช้งาน การบำรุงรักษาที่ถูกวิธีด้วย
        หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า เครื่องปรับอากาศก็ยังเย็นอยู่ ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร ไม่จำเป็นจะต้องล้างเครื่องปรับอากาศเลย แล้วทำไมโรงงานผลิต ไม่ว่าจะเป็น Daikin, Mitsubishi, Carrier และโรงงานอื่นๆ อีกมากมาย จึงต้องแนะนำให้ล้างเครื่องปรับอากาศทุกๆ 6 เดือน

เรามาดูหลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศกัน…

           การทำงานของเครื่องปรับอากาศจะมีน้ำยาไหลอยู่ในระบบ ไหลผ่านท่อทองแดง ผ่านไประหว่างเครื่องส่งลมเย็น (Fan Coil) มีการแลกเปลี่ยนความร้อน จะเกิดความเย็นขึ้น เมื่อมีความเย็น สภาวะแวดล้อมภายในที่มีทั้งฝุ่นและก๊าซต่างๆ ก็จะเริ่มจับตัวกัน และไอน้ำที่เกิดจากความเย็นของเครื่องปรับอากาศและความร้อนของอากาศ ก็จะก่อให้เกิดเป็นเมือกเหลวข้นขึ้นมา จึงทำให้เป็นที่สะสมของทั้งแบคทีเรียและก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น และมีเมือกจับตัวอยู่ที่อุปกรณ์ภายในต่างๆ ของเครื่องปรับอากาศ เมื่อใช้งานผ่านไป 3-6 เดือน จะเริ่มสังเกตได้ว่าพัดลมเครื่องปรับอากาศก็เริ่มมีฝุ่นเกาะหนาจนทำให้ลมไม่สามารถปล่อยออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็จะทำให้เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพในการทำความเย็นลดน้อยลง (ความเย็นไม่สามารถส่งผ่านออกมาได้เนื่องจากมีเมือกและฝุ่นมาเป็นตัวกั้นระหว่างอุปกรณ์) ส่งผลให้ต้องใช้ไฟมากขึ้นเพื่อส่งให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน ก็จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีเมือกมากขึ้นไปอีกก็จะเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดน้ำรั่วไหลออกมาจากตัวเครื่องปรับอากาศนั่นเอง

           ดังนั้นการล้างเครื่องปรับอากาศทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการล้างเครื่องปรับอากาศที่สุด ซึ่งบางท่านอาจรู้สึกว่าเพิ่งล้างเครื่องปรับอากาศไปไม่กี่เดือนแต่เครื่องปรับอากาศเริ่มไม่เย็นแล้ว ซึ่งปัจจัยในการพิจารณาว่าถึงเวลาล้างเครื่องปรับอากาศแล้วหรือยัง สามารถสังเกตได้จากการใช้งาน ดังนี้
         1) เครื่องปรับอากาศไม่เย็น เหมือนที่เคยเป็น
        2) เครื่องปรับอากาศเย็นช้า
        3) เครื่องปรับอากาศมีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นอับเวลาเปิดเครื่อง
        4) ใช้เครื่องปรับอากาศเท่าเดิม แต่ค่าไฟเพิ่มขึ้น
        5) เครื่องปรับอากาศทำงานเสียงดังมากจนรำคาญ
        6) เครื่องปรับอากาศมีเสียงติดขัดทุกครั้งที่เริ่มทำงาน
        7) ลมที่เป่าออกมาจากเครื่องปรับอากาศเบามาก
        8) ไม่ได้ล้างเครื่องปรับอากาศนานเกิน 6 เดือน

ประโยชน์จากการล้างเครื่องปรับอากาศ

        1) ป้องกันเชื้อโรค หากเปิดใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเวลานาน แต่ไม่มีการทำความสะอาด ทำให้เครื่องปรับอากาศสกปรก เครื่องปรับอากาศเหม็น เกิดการสะสมของเชื้อโรคต่างๆ เชื้อรา แบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับภูมิแพ้ได้ในอนาคต และส่งผลต่อระบบหายใจ
       2) ช่วยประหยัดค่าไฟ ถ้าเราล้างเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้เครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ กลิ่นอับหายไป อากาศในห้องก็จะสดชื่นขึ้น การทำงานของคอมเพรสเซอร์ คอยล์เย็นคอยล์ร้อนดีขึ้น ลดปัญหาเครื่องปรับอากาศสกปรก ส่งผลให้ระบบทำงานได้สมบูรณ์และช่วยประหยัดไฟได้อีกด้วย
       3) เพิ่มประสิทธิภาพและลดการขัดข้อง ลดการสะสมฝุ่นและเครื่องปรับอากาศสกปรกบริเวณคอยล์เย็น ทำให้อากาศถ่ายเทบริเวณตัวแอร์ได้สะดวกมากขึ้น ลดภาระการทำงานของเครื่อง ใช้พลังงานน้อยลง ภายในสะอาดช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแอร์ระยะยาว
       4) ลดอาการอุดตันของเครื่องปรับอากาศ การอุดตันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เครื่องปรับอากาศไม่เย็น เกิดได้จากฝุ่นทำให้เครื่องปรับอากาศสกปรก นำมาซึ่งปัญหาน้ำรั่วจากเครื่องปรับอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานจนอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้

แนวปฏิบัติที่ดีในการใช้งานเครื่องปรับอากาศเพื่อการประหยัดพลังงาน

การใช้เครื่องปรับอากาศให้มีความเย็นที่สบายต่อร่างกาย จะประหยัดค่าไฟฟ้าอย่างได้ผล ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
      1) ปิดเครื่องทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน
      2) ปิดประตูหน้าต่างและผ้าม่านกันความร้อนจากภายนอก
      3) ตั้งอุณหภูมิไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส
      4) ควรบำรุงรักษาเครื่องให้มีสภาพดีตลอดเวลา
      5) ควรหมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
      6) การล้างทำความสะอาดแผงคอยล์ร้อนและคอยล์เย็น และตรวจสอบระบบไฟฟ้า ควรจะทำทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง
      7) ในฤดูหนาวขณะที่อากาศไม่ร้อนมากเกินไป ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ
      8) ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดไม่ให้ความเย็นรั่วไหล
      9) พิจารณาติดตั้งบังแสงหรือกันแดด เพื่อลดภาระการทำงานของเครื่อง
    10) ควรใช้ผ้าม่านกั้นประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอก
    11) ปฏิบัติตามคำแนะนำที่แนบมากับเครื่องปรับอากาศ

          งานซ่อมบำรุงรักษาและจ้างเหมาบริการระบบปรับอากาศ ส่วนบริการกลาง มีแผนการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการล้างใหญ่ปีละ 1 ครั้ง และล้างย่อย ปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ลดปริมาณการก่อตัวของเชื้อโรค ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าแต่ละเดือน ประหยัดรายจ่ายจากการซ่อมแซม ช่วยลดภาวะโลกร้อนอันเกิดจากการใช้พลังงาน และช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องปรับอากาศ ให้แก่มหาวิทยาลัย
          ทั้งนี้ หากส่วนบริการกลาง ดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศของมหาวิทยาลัย ได้ตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าในปีงบประมาณ 2567 จะสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 33,857.47 หน่วย/เดือน หรือเท่ากับ 406,289.64 หน่วย/ปี คิดเป็นเงินมูลค่า 162,177.27 บาท/เดือน (ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยหน่วยละ 4.79 บาท) หรือเท่ากับ 1,946,127.20 บาท/ปี ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 203,104.19 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ 203.10 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (ไฟฟ้า 1 หน่วย = 0.4999 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์) เทียบเท่ากับเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้ถึง 13,541 ต้น
       

         ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานซึ่งการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอจะมีผลทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยทั้งค่าไฟฟ้า และค่าซ่อมบำรุง ส่วนบริการกลางจึงขอความอนุเคราะห์มายังทุกท่าน ทุกหน่วยงานได้ให้ความร่วมมือในการเข้าดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศภายในหน่วยงาน และขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

Facebook Comments Box