Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ตำนานนางสงกรานต์ในสังคมไทย

โดย อ.กรกฎ คำแหง สาขาวิชาภาษาไทย สำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สงกรานต์ มาจากภาษาสันสกฤต सङ्क्रान्ति (สงฺกฺรานฺติ) หมายถึง ผ่านหรือเคลื่อนย้าย ในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนของดวงอาทิตย์เข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง แต่ความหมายที่คนไทยใช้กันในปัจจุบันคือเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน สงกรานต์เป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยมานานและถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วย เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) (ไทยรัฐออนไลน์, 2566)

สงกรานต์ในประเทศไทยถือกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี วันสงกรานต์หรือวันมหาสงกรานต์สัมพันธ์กับเรื่อง “ตำนานนางสงกรานต์” ตำนานดังกล่าวนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงในแผ่นศิลาประดับไว้ที่ศาลารอบมณฑปทิศเหนือในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตำนานดังกล่าวเล่าว่า  ในอดีตกาลมีเศรษฐีคนหนึ่ง มีฐานะร่ำรวยมากแต่ไม่มีบุตร จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับเทวดา แต่รอมาหลายปีก็ไม่มีบุตรสักที กระทั่งฤดูร้อนปีหนึ่ง เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ 7 สี หุงบูชารุกขพระไทร พร้อมเครื่องถวายและตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย และตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร” 

ธรรมบาลกุมารเป็นเด็กหนุ่มผู้มีความฉลาดหลักแหลมและมีชื่อเสียงโด่งดัง สติปัญญาอันเลื่องชื่อของธรรมบาลกุมารทำให้ท้าวกบิลพรหมลงมาท้าทายปัญญาโดยได้ถามปริศนา 3 ข้อกับธรรมบาลกุมารว่า ” ข้อ 1 เวลาเช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ 2 เวลาเที่ยงราศีอยู่แห่งใด และข้อ 3 เวลาค่ำราศีอยู่แห่งใด  ” ท้าวกบิลพรหมให้เวลา 7 วันในการแก้ไขปริศนาดังกล่าว โดยมีเดิมพันว่าหากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา กระทั่งเวลาผ่านไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วยเพราะโดนตัดศีรษะ จึงไปนอนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ปรากฏว่ามีนกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ เมื่อถึงเวลาค่ำนางนกจึงถามสามี พรุ่งนี้จะหาอาหารมาจากที่ใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมารซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดศีรษะเพราะไม่สามารถแก้ปริศนาได้ นางนกจึงถามว่าคำตอบของปริศนาดังกล่าวคืออะไร  สามีจึงตอบว่าเวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำและเครี่องหอมประพรมที่อก ส่วนเวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นจึงดีใจอย่างยิ่ง เมื่อครบกำหนด 7 วันท้าวกบิลพรหมมาถามคำตอบของปริศนา ธรรมบาลกุมารก็ตอบตามที่ได้ยินมา เมื่อธรรมบาลกุมารตอบปริศนาได้ถูกต้อง ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดของท่าน ได้แก่ นางทุงษะเทวี นางรากษเทวี นางโคราคเทวี นางกิริณีเทวี นางมณฑาเทวี นางกิมิทาเทวี และนางมโหธรเทวีมาพร้อมกันแล้วบอกว่า ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ศีรษะของท้าวกบิลพรหมหากจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศฝนก็จะแล้ง และถ้าจะทิ้งใน มหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง ท้าวกบิลพรหมจึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาของท่านนำพานมารองรับแล้วให่แห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ และเชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์เครื่องหอมต่างๆ ครั้นครบถึงกำหนดแต่ละปี นางธิดาทั้งเจ็ดองค์จึงผลัดเปลี่ยนกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่งประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี

ตำนานนางสงกรานต์นอกจากเป็นตำนานในการอธิบายกำเนิดสงกรานต์ในประเทศไทยแล้ว ยังมีความเชื่อว่าสามารถทำนายฝนฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน รวมถึงความเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ธัญญาหารด้วย ในปี พ.ศ. 2567 นี้นางสงกรานต์มีนามว่า “นางมโหธรเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จนอนลืมตา มาเหนือหลังมยุราปักษา (นกยูง) เป็นพาหนะ ทำนายว่า:

  • เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ อังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 300 ห่า ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า ตกในมหาสมุทร 60 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า
  • เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีตุล ชื่อวาโย (ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคราชให้น้ำ 7 ตัว ทำนายว่า ฝนแล้ง
  • เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วงและแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ

นางมโหธรเทวี
จาก https://www.prachachat.net/economy/news-1540868

ทั้งนี้มีบางคติความเชื่อที่ถือว่าท้าวกบิลพรหมคือพระอาทิตย์ (อธิเจต มงคลโสฬศ, 2567) เมื่อนางสงกรานต์อัญเชิญศีรษะของท้าวกบิลพรหมออกมาบูชาและกระทำประทักษิณ จึงเปรียบได้กับการที่นางสงกรานต์อัญเชิญพระอาทิตย์เคลื่อนผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันดังกล่าวถือว่าเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์หรือเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” ในสังคมไทย

อ้างอิง

ไทยรัฐออนไลน์. (6 ธ.ค. 2566). ยูเนสโก ประกาศให้ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ อย่างเป็นทางการ. https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2746054.
อธิเจต มงคลโสฬศ. (28 มีนาคม 2567). เปิดตำนานมหาสงกรานต์ กับ 7 นางสงกรานต์ผู้เปิดคำทำนายผ่านการอัญเชิญพระอาทิตย์. https://www.thaipbs.or.th/now/content/108.
ประชาชาติธุรกิจออนลไน์ (10 เมษายน 2567). เปิดคำทำนาย “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ปี 2567 ฝนตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า. https://www.prachachat.net/economy/news-1540868.

Facebook Comments Box