16 มิถุนายน 2567
บทความโดย รศ.ดร.กิ่งกาญจน์ บรรลือพืช
หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการปรับเปลี่ยนจากการเรียน 3 ภาคการศึกษาต่อปี เป็น 2 ภาคการศึกษาต่อปี เริ่มต้นในปีการศึกษา 2567
“การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์” หมายความว่า การประกอบวิชาชีพ
การแพทย์แผนไทย โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งศึกษาจากสถานศึกษาที่สภาการแพทย์แผนไทยรับรอง รวมทั้งการประยุกต์ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ ตามระเบียบและข้อบังคับของสภาการแพทย์แผนไทย (พระราชบัญญัติวิชาชีพ การแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2566) โดยเป็นการจัดการเรียนการสอน ที่มีการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทางการแผนไทย และ การแพทย์แผนปัจจุบันที่มากขึ้น ทั้งในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อช่วยให้การตรวจวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น ซึ่งยังคงรักษาโดยใช้ศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทย เช่น การรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร การรักษาโรคด้วยการนวดไทย หรือ การอยู่ไฟของคุณแม่หลังคลอด เป็นต้น

นอกจากหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์แห่งแรก และแห่งเดียวในภาคใต้แล้ว ทางสาขายังมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้อีกด้วย

การเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 4 ปีของนักศึกษาการแพทย์แผนไทย นักศึกษาจะต้องเรียนเนื้อหาดังต่อไปนี้
ชั้นปีที่ 1 นักศึกษาจะได้เรียนวิชาชีพ พื้นฐานทั่วไปได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เคมี ชีวิทยา กายวิภาคศาสตร์ เป็นต้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้ ในการต่อยอดในระดับสูงขึ้นไป
ชั้นปีที่ 2 นักษาจะได้เรียนกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ การแพทย์พื้นฐานที่มากขึ้น เช่น จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกัน เภสัชเวท และ เริ่มเรียนรายวิชาของสาขาวิชา ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขาด้วยกันคือ เวชกรรมแผนไทย เภสัชกรรมแผนไทย หัตถเวชกรรมแผนไทย และผดุงครรภ์
ชั้นปีที่ 3 นักศึกษาจะได้เรียน กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียนกับ อาจารย์แพทย์แผนปัจจุบันทั้งหมด ได้แก่รายวิชา การซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการสืบค้นทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยเบื้องต้น เวชศาสตร์ทั่วไปสำหรับการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โภชนาการสำหรับการแพทย์แผนไทยประยุกต์ รวมถึงรายวิชา การจัดการบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทย หลังจากเรียนจบทุกรายวิชาของชั้นปีที่ 3 นักศึกษาจะต้องเข้าสอบประมวลความรอบรู้ขั้นที่ 1 ที่สาขาวิชาจัดขึ้น (comprehensives examination) ก่อนสอบความรู้ขั้นที่ 1 จากสภาวิชาชีพ
ชั้นปีที่ 4 เน้นวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ธุรกิจสุขภาพ และ วิชาโครงงาน เพื่อต่อยอดการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต และเพื่อเตรียมตัวนักศึกษาสำหรับปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ก่อนจบการศึกษา นักศึกษาจะต้องสอบประมวลความรอบรู้ขั้นที่ 2 และ 3 ที่สาขาวิชาจัดขึ้น (comprehensives examination) ก่อนสอบความรู้ขั้นที่ 2 และ 3 จากสภาวิชาชีพ เพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ต่อไป

โดยเมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้ว หลักสูตรคาดหวังว่านักศึกษาจะบรรลุ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Program Learning Outcome: PLOs)
เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะ 4 ด้าน ต่อไปนี้
1) ด้านความรู้ (Knowledge)
PLO 1 อธิบายความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ วัฒนธรรมท้องถิ่น และแนวคิดวิธีการปรับตัว
PLO 2 อธิบายองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทย PLO 3 ประยุกต์แนวคิดนวัตกรรม เพื่อการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย
2) ด้านทักษะ (Skills)
PLO 4 มีทักษะการเลือกใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการนำเสนอ
PLO 5 มีทักษะในการเสริมสร้าง ดูแล ป้องกัน และให้คำแนะนำ ในการดูแลสุขภาพ
PLO 6 มีทักษะในการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การวินิจฉัย สืบค้น รวบรวมข้อมูลและปรับแผนการรักษาที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสุขภาพตามเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้
PLO 7 มีทักษะในการทำหัตถการ ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์
PLO 8 มีทักษะในการผลิตยาจากสมุนไพรรูปแบบต่างๆ โดยกระบวนการผลิตดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice หรือ GMP)
PLO 9 มีทักษะในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยสอดคล้องกับจริยธรรมในการทำวิจัย
PLO 10 มีทักษะการสื่อสารภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และในการทำงานด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน และเสนองานตามวัตถุประสงค์ ในกรณีที่นักศักษาเลือกภาษาจีน สามารถสื่อสารภาษาจีนในชีวิตประจำวันได้
3) ด้านจริยธรรม (Ethics)
PLO 11 แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม
PLO 12 ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2557
4) ด้านลักษณะบุคคล (Character)
PLO 13 สามารถวางแผนธุรกิจ และแผนการตลาด เพื่อการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้
PLO 14 แสดงถึงการมีวินัย มีภาวะความเป็นผู้นำ ใจอาสา และการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพได้
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
อาชีพ | ลักษณะงาน (Job Description) |
1. ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ | ให้บริการด้านสุขภาพในสถานพยาบาลรัฐ และเอกชนรวมถึงสถานบริการสุขภาพ |
2. ผู้ประกอบการด้านคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ | ผู้ประกอบการธุรกิจคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อการตรวจ วินิจฉัย รักษาโรค และสนับสนุนด้านสุขภาพ |
3. ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ | ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาสมุนไพรผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในธุรกิจสปา |
4. นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัยในสถาบันการศึกษา | ศึกษา ค้นคว้า วิจัยในด้านที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ในสถาบันวิจัยและพัฒนาทั้งหน่วยงานมหาวิทยาลัยของรัฐบาลหรือเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในภาคเอกชน |
5. อาจารย์ ผู้ช่วยสอน ครูผู้ช่วย เอกแพทย์แผนไทย หรือนักวิชาการ | จัดการเรียนการสอน และศึกษาค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง |




จากข้อมูลทั้งหมดนี้ที่เต็มเปี่ยมทั้งความรู้และกิจกรรมต่างๆมากมาย หวังว่าน้องๆนักเรียนนักศึกษาจะมาสมัครเรียนกับพวกเราเยอะๆนะคะ
บทความโดย รศ.ดร.กิ่งกาญจน์ บรรลือพืช
หัวหน้าสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์