Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

รีวิวหนังสือ POSTLIBERAL

รีวิวหนังสือ POSTLIBERAL ของ Adrian Pabst

ผู้เขียนเสนอว่าระเบียบการเมืองแบบเสรีนิยมที่ดำรงอยู่ในโลกขณะนี้ เป็นระเบียบแบบผีดิบ คือสูญเสียความชอบธรรมและคุณค่าต่อชีวิตทางการเมืองของผู้คนธรรมดาโดยเฉพาะการปล่อยให้กลไกตลาดของระบบทุนนิยมกลายเป็นตัวกำหนดชีวิตที่ดีของแต่ละคน หากแต่ขณะเดียวกันก็ยังอยู่ในภาวะไม่ยอมตาย เพราะระเบียบการเมืองอื่นๆยังไม่สามารถสถาปนาขึ้นมาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบประชาธิปไตยแบบประชานิยมของฝ่ายชวา หรือระเบียบแบบอำนาจนิยมเอเชียของจีน ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอตัวแบบของระเบียบใหม่ที่จะขึ้นมาแทนที่ระเบียบการเมืองเสรีนิยม นั่นก็คือระเบียบแบบชุมชนนิยม โดยผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าระเบียบดังกล่าว เป็นระเบียบที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในชีวิตทางการเมืองของมนุษย์ ซึ่งวางอยู่บนธรรมชาติทางสังคมที่ทุกคนหาใช่ปัจเจกที่เป็นอิสระสามารถแยกตนออกจากสายสัมพันธ์ต่างๆได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่เป็น embedded entity หรือตัวตนที่การดำรงอยู่จะสัมพันธ์กับสายสัมพันธ์อื่นๆเสมอ วิถีทางการเมืองที่สำคัญจึงเป็นวิถีที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมและจริยศาสตร์ที่กำหนดคุณค่าบนความสัมพันธ์ที่ปัจเจกแต่ละคนมีร่วมกันกับผู้อื่นเสมอ
 
การเมืองในแบบหลังเสรีนิยม หรือ postliberal politics ตามที่ผู้เขียนเสนอ จึงมิใช่การเมืองของการสร้างระบบกฏหมายเพื่อปกป้องสิทธิ/เสรีภาพของปัจเจกเป็นลำดับแรก(เพราะนั่นจะนำไปสู่การให้อำนาจกับกลไกตลาดของทุนนิยมในท้ายที่สุด) แต่คือการเมืองของการสถาปนา common good หรือความดีร่วมกัน ที่สามารถผสานผู้คนซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางความเชื่อวัฒนธรรมและชาติพันธ์ให้อยู่ร่วมกัน บนการหล่อหลอมความผูกพันธ์ทางสำนึก (affective attachment) ที่เปิดรับความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรมภายใต้น้ำหนักของพันธะที่ต่างฝ่ายต่างก็ให้ค่ากับเพื่อนพลเมืองของตน (mutual obligation) ก่อนเสรีภาพส่วนบุคคลของตนเอง ระเบียบทางการเมืองแบบหลังเสรีนิยมจึงเป็นระเบียบภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มิใช่เพราะประชาธิปไตยคือระบอบที่วางอยู่บนหลักการเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคส่วนบุคคล แต่เพราะประชาธิปไตยคือระบอบที่ตระหนักถึงความสำคัญของพลเมืองทุกคนในฐานะที่แต่ละคนต่างก็เป็นกลไกส่วนหนึ่งของระเบียบที่โอบอุ้มส่วนรวมให้ชีวิตที่ดีของทุกคนเป็นไปได้
 
ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบหลังเสรีนิยม (postliberal democracy) จึงควรเป็นประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสถาบันทางสังคม (หรือชุมชน) ไม่ว่าจะเป็นสโมสร กลุ่มทางสังคม กลุ่มอาชีพ ชมรม ฯลฯ ในฐานะของพื้นที่ที่ช่วยฝึกฝนและหล่อหลอมให้พลเมืองตระหนักถึงสายสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่น อันจะเป็นจุดตั้งต้นของการรวมพลังประชาชนที่สามารถถ่วงดุลกับพลังของรัฐรวมศูนย์และกลไกตลาด อันจะเป็นจุดเร่ิมต้นของประชาธิปไตยอันแท้จริงที่ประชาชนสามารถต่อรองและคัดค้านการละเมิดเสรีภาพต่างๆทั้งจากกลไกรัฐและกลไกทุนได้เสมอ
 

รีวิวโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง

อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box