เขียนและเรียบเรียง โดย : ผศ.ดร.ศรุดา คุระเอียด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์
ปัสสาวะมีน้ำองค์ประกอบหลักประมาณ 95% นอกจากนั้นจะเป็นยูเรียและสารอื่น ๆ ที่ร่างกายต้องการขับทิ้ง แต่จะตรวจไม่พบน้ำตาล โปรตีน เซลล์เม็ดเลือด แบคทีเรีย เซลล์ผิดปกติหรือตะกอนก่อนิ่วในปัสสาวะของคนที่มีสุขภาพดี
แล้วปัสสาวะของคุณมีลักษณะอย่างไร? คุณเคยสังเกตสีและความขุ่น-ใสของปัสสาวะหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือไม่?

ปัสสาวะครั้งแรกหลังตื่นนอนตอนเช้าจะมีสีเหลืองเข้ม ลักษณะใส มีกลิ่นอ่อน ๆ แต่ลักษณะเหล่านี้จะเปลี่ยนไปในช่วงวัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ กิจกรรมที่ทำ อาหารที่รับประทาน ปริมาณน้ำที่ดื่ม ยาที่รับประทาน เป็นต้น คนสุขภาพดีจะขับถ่ายปัสสาวะ วันละประมาณ 600-2,000 มิลลิลิตร หากขับปัสสาวะน้อยกว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

– ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ จะทำให้มีของเสียสะสมในร่างกายชักนำโรคและทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
– มีการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น จากการมีเนื้องอกหรือก้อนนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
– มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด
สังเกตสุขภาพระบบทางเดินปัสสาวะ ง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง จากลักษณะของปัสสาวะ ดังนี้
– ปัสสาวะของคนที่มีสุขภาพดี จะมีสีเหลืองอ่อนและใส ไม่มีการคงตัวของฟองปัสสาวะ
– ปัสสาวะชมพู-แดง ขุ่น อาจเกิดจากสาเหตุของนิ่วหรือมีก้อนเนื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
– ปัสสาวะสีแดงและใส อาจบ่งชี้ถึงมีการแตกของเม็ดเลือดแดงภายในหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการได้รับเลือดผิดหมู่ หรือในผู้ที่มีภาวะ Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase (G-6-PD) ที่ได้รับสิ่งกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ปัสสาวะสีแดงและใสสามารถพบได้ในผู้ที่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง
– ปัสสาวะเหลืองอ่อนหรือขาวขุ่น ร่วมกับมีอาการแสบขัดขณะถ่ายปัสสาวะ อาจบ่งชี้ถึงมีการอักเสบหรือติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
– ปัสสาวะสีดำ มักพบในผู้ป่วยที่มี มีเมลานินในปัสสาวะ ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกเมลาโนมา หรือพบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคทางพันธุกรรม ร่างกายขาดเอ็นไซม์ในการย่อยสลายโปรตีนบางชนิด
– ปัสสาวะ สีอื่น ๆ เช่น ฟ้า เขียว ส้ม อาจพบได้ในผู้ที่ได้รับยาหรือวิตามิน
หากพบปัสสาวะมีลักษณะผิดปกติ ร่วมกับมีอาการแสบขัดขณะถ่ายปัสสาวะ ปวดบั้นเอว ปวดหลัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะหากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลต่อการทำงานของไตและนำไปสู่ภาวะไตวายได้

บรรณานุกรม
1. Santoro, C., Garcia, M. J. S., Walter, X. A., You, J., Theodosiou, P., Gajda, I., … & Ieropoulos, I. (2020). Urine in bioelectrochemical systems: an overall review. ChemElectroChem, 7(6), 1312-1331.
2. Watso, J. C., & Farquhar, W. B. (2019). Hydration status and cardiovascular function. Nutrients, 11(8), 1866.