
AI ปัญญาประดิษฐ์ จะเข้าแทนที่นักกฎหมายจริงหรือ?
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คืออะไร
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) คือ โปรแกรมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการประมวลผลข้อมูลรวดเร็วกว่าสมองของมนุษย์ มีฟังก์ชันที่สามารถทำงานได้เหมือนกับมนุษย์ เรียนรู้ วางแผน ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นนวตกรรมที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมากมายได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว สามารถดึงข้อมูลเชิงลึกมาใช้กับธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้อย่างแม่นยำ เพียงแต่ยังไม่ถูกพัฒนาก้าวล้ำไปถึงกิจกรรมที่ต้องใช้ประสาทสัมผัส
แต่ด้วยความก้าวหน้าทางนวัตกรรมทำให้ปัจจุบัน AI เริ่มเข้าไปมีบทบาทแทบทุกวงการรวมถึงวงการนักกฎหมาย ที่ดูเหมือนว่ากำลังจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เพราะแนวโน้มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชื่อได้ว่าคงจะไม่มีอะไรที่ AI ทำไม่ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์สอนให้ AI เรียนรู้อะไรหรือต้องการใช้ประโยชน์จาก AI ด้านไหน? ส่งผลให้น่าคิดต่อไปว่าหากมนุษย์สร้าง AI ให้เป็นนักกฏหมายได้สำเร็จจริง จะมีผล
กระทบต่อวงการวิชาชีพและการศึกษากฎหมายของมนุษย์หรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้เริ่มมีการทดลองใช้ทนาย AI อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
หลักการทำงานของนักกฎหมาย
เมื่อมองลึกลงไปแล้วเบื้องหลังของความยุติธรรมของกฎหมาย ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ใช้วัดความประพฤติของบุคคลในสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือ “หลักสุจริต” Good faith และความสำคัญของหลักนี้ ได้แก่
1) เป็นหลักทั่วไปที่เป็นรากฐานของกฎหมายแพ่งทั้งระบบ เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมในสังคม เกี่ยวข้องกับความไว้วางใจและซื่อสัตย์ต่อกันโดยพิจารณาร่วมกับปกติประเพณีในสังคม
2) หลักสุจริตถูกนำไปใช้กับกฎหมายทุกแขนงไม่ว่าจะกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเอกชน ซึ่งประเทศเยอรมันเป็นประเทศแรกที่นำหลักสุจริตมาบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมาย ส่วนประเทศไทยก็นำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” และมาตรา 6 “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต”
3) หลักสุจริตเป็นหลักสำคัญให้ดุลพินิจแก่ศาล นำมาซึ่งอำนาจในการใช้ดุลพินิจแก่ผู้พิพากษาที่จะนำมาวินิจฉัยตัดสินเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะเกิดแก่คู่ความในชั้นกระบวนพิจารณา โดยการใช้ดุลพินิจของศาลจะมีลักษณะของการนำเอาความผิดในทางศีลธรรมของสังคมเข้ามามีส่วนให้ความยุติธรรม พิจารณาไปถึงบรรทัดฐานของสังคม ภายใต้ขอบเขตการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม โดยไม่ใช้ดุลพินิจจนเกินขอบเขต (abuse of power) หรือใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ (arbitraty) เพราะนั่นจะทำให้ผู้พิพากษาอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งจะขัดกับเจตนารมณ์ของหลักสุจริตและหลักยุติธรรม
4) การใช้หลักสุจริตของนักกฎหมาย จะต้องใช้เพราะความจำเป็น เพื่อให้ความยุติธรรมที่แท้จริงและมีวัตถุประสงค์เพื่อคลี่คลายความเคร่งครัด แข็งกระด้างและความไม่เป็นธรรมของสัญญา (unfair contract)
5) การใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาก็จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ด้วยจิตใจที่เป็นธรรมโดยใช้เหตุผลให้ชัดเจนเหมาะสม และอธิบายได้อย่างมีตรรกะเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป เป็นเหตุผลที่มีลักษณะสากล (universal)
6) นักกฎหมายที่ดีหรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาที่เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ จะต้องมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ วิจารณญาณ ความรอบรู้และรู้รอบ ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงประเด็นต่างๆ ตลอดจนการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมด้วย
ดังนั้น ต่อให้นวตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก้าวล้ำไปอย่างกว้างขวางและเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการวิชาชีพนักกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้แทนที่สมองของมนุษย์ได้ไกลไปจนถึงหลักการใช้ดุลพินิจเพื่อความเป็นธรรมของคดี เพราะสังคมมีความแตกต่างหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย จารีตประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรม ศีลธรรม ศาสนาและความเป็นอยู่ เหล่านี้ล้วนมีบทบาทในการตีความและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคู่ความ อีกทั้งแต่ละปัญหาคดีความ มีข้อเท็จจริงที่แตกต่าง บางเรื่องก็ Sensitive ต่อความรู้สึกของคนในสังคม ขั้นตอนกระบวนพิจารณาจึงเปิดกว้างให้ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเสมอ
“เป็นที่แน่นอนว่า AI มีความรู้ มีความสามารถ วิเคราะห์ ประมวลผลและจดจำได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ AI ยังไม่ถูกพัฒนาต่อยอดไปได้และดูเหมือนว่าจะยากยิ่ง คือ ประสาทสัมผัสและความรู้สึกผิดชอบในเชิงศีลธรรม วิจารณญาณ สุขุมคัมภีรภาพ และการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความยุติธรรม”
ปัจจุบันการทำงานของทนายความหุ่นยนต์ เริ่มต้นด้วยการถามถึงรูปคดี ข้อมูลส่วนตัว และร่างคำคู่ความ ถ้าต้องขึ้นศาลก็จะแนะนำแก่จำเลยว่าควรพูดหรือไม่พูดอะไรในศาล ผ่านทางหูฟังที่เชื่อมต่อกับระบบ AI ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของหลักกฎหมายโดยทั่วไป แต่ถ้าเป็นหลักคิดและการประมวลผลก่อนที่จะเลือกฟ้องคดีหรือระงับข้อพิพาททางอื่น เทคนิคการเข้าสู้คดี การถามพยาน หลักการใช้ดุลพินิจ กระบวนการใช้กฎหมายที่หลายคดีจะต้องแปรเปลี่ยนปรับไปกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการปรับใช้กฎหมายในลักษณะที่ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์สภาพแวดล้อมของแต่ละคดี ที่จัดว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใช้กฎหมายต้องใช้วิจารณญาณและดุลพินิจในการไตร่ตรองเพื่อให้ได้ความเป็นธรรม ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า AI จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่นักกฎหมายได้อย่างสิ้นเชิง.

ที่มา : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์