Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เส้นทางของเลือดบริจาค : การแบ่งปันชีวิตผ่านการให้

เขียนและเรียบเรียง โดย : ผศ.ดร.นุรดีนา จารง สำนักวิชาสหเวชศาสตร์

หลายคนมีประสบการณ์ในการบริจาคเลือด ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญคือการทำบุญครั้งใหญ่ เป็นการต่อชีวิตและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  แต่เชื่อว่า ยังมีหลายๆคนที่ยังไม่เคยทราบว่าเลือดที่บริจาคไปแล้วนั้น มีเส้นทางและต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ก่อนที่จะนำไปให้กับผู้ที่ต้องการเลือดเพื่อรักษา

แน่นอนว่าการรักษาโดยการให้เลือดนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตสิ่งที่เทียบเท่ากับโลหิตมนุษย์ได้ การบริจาคเลือดจึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก อย่างไรก็ตามเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่จะนำไปให้ผู้ป่วยนั้น ต้องมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้รับ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการทดสอบทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ในเลือดบริจาคทุกยูนิต ได้แก่ การตรวจหมู่เลือดระบบเอบีโอ อาร์เอช ด้วยวิธีมาตรฐาน เพื่อให้ทราบหมู่เลือดที่ถูกต้อง การตรวจกรองชนิดของแอนติบอดี การตรวจหาเชื้อเอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี  ซิฟิลิส โดยเทคนิควิธีทางภูมิคุ้มกัน และการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ หากพบเชื้อในเลือดบริจาคจะต้องยกเลิกเลือดถุงนั้น นอกจากนี้การให้เลือดในปัจจุบัน จะเป็นการให้ส่วนประกอบของเลือดแทนการให้เลือดครบส่วน เพราะเป็นการให้สิ่งที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย ลดการได้รับส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็น และทำให้การรักษาตรงจุดและได้ผลมากยิ่งขึ้น โดยเลือดบริจาคจะสามารถนำไปปั่นแยกได้ มากกว่า 3 ส่วน และผลิตเป็นส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ หลัก ๆ ได้แก่

1) เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีการสูญเสียเลือด หรือผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น 

2) พลาสมา นำไปรักษาป่วยที่ขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด เช่นผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ ที่ขาดแฟคเตอร์ 8  หรือนำไปรักษาผู้ที่มีอาการช๊อคจากการขาดน้ำ ผู้ป่วยโรคตับ เป็นต้น

3) เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจะสามารถช่วยชีวิตได้มากถึง 3 ชีวิตได้เลยทีเดียว จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจ มีสุขภาพดี ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง มาร่วมบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โรงพยาบาลที่เปิดรับบริจาคโลหิต หน่วยบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้โลหิตเพียงพอ นำไปใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการเลือดได้ทันท่วงที

ที่มา : สภากาชาดไทย https://redcross.or.th/news/infographics/13413/

Facebook Comments Box