
WU Bot Care อุปกรณ์ติดตามและตรวจจับสัญญาณการร้องขอความช่วยเหลือของผู้สูงอายุผ่านสัญญาณการขยับมือโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์
การดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคที่สังคมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ นวัตกรรมล่าสุดที่พัฒนาโดยนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย นางสาวพลัม เกกีงาม, นางสาวมุทิตา คีรีรักษ์ และ นายสุชาครีย์ หลงจิ ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. บูคอรี ซาเหาะ คืออุปกรณ์ติดตามและตรวจจับสัญญาณการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้รับการยอมรับในเวทีระดับชาติด้วยการคว้ารางวัลระดับเหรียญเงินจากมหกรรมงานวิจัย Thailand Research Expo 2024 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการ Thailand ICT Awards 2024
ความแตกต่างและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า
อุปกรณ์นี้ใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ผ่านกล้องอินฟราเรด Adafruit MLX90640 และบอร์ด ESP32 ที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือผู้สูงอายุ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ยังใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบ CNN-LSTM ที่สามารถวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวและประมวลผลผ่านระบบคลาวด์ เพื่อตรวจจับและแจ้งเตือนบุคคลที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ ความช่วยเหลือจึงสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ


วัตถุประสงค์และการประยุกต์ใช้
วัตถุประสงค์หลักของนวัตกรรมนี้คือการพัฒนาอุปกรณ์และตัวแบบ AI ที่สามารถรู้จำการร้องขอความช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยส่วนตัวเพื่อสนับสนุนธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง โดยระดับการพัฒนานวัตกรรมอยู่ที่ TRL Level 4 ที่ผ่านการทดสอบและให้ผลตามที่คาดหวัง ทั้งในด้านความแม่นยำและความถูกต้อง การทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงจะช่วยยกระดับการใช้งานเป็น TRL 6
ประโยชน์ต่อสังคมและธุรกิจ
อุปกรณ์นี้ช่วยสนับสนุนธุรกิจที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุและธุรกิจการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุอย่างทันท่วงที ลดค่าใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนจำกัด นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวโดยช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการร้องขอความช่วยเหลือแบบเรียลไทม์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้สูงอายุในสังคม


เขียนและเรียบเรียงโดย น.ส.สลิลทิพย์ เหมะ หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์