23 ธันวาคม 2567
บทความโดย รศ.พญ.นนทพรรณ ผาสุข
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Respiratory Syncytial Virus (RSV) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มีสองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปี ในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว
ในปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ทาง Food and Drug Administration (FDA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติ ผลิตภัณฑ์ 2 ชนิดที่ใช้ในการการป้องกันการติดเชื้อ RSV ในทารก คือ RSV Vaccine ซึ่งฉีดในมารดาที่ตั้งครรภ์ และ RSV Monoclonal Antibody สำหรับทารก
RSV Vaccine ในหญิงตั้งครรภ์
วัคซีน RSVpreF (Abrysvo) เป็นวัคซีนที่ใช้สตรีมีครรภ์ช่วงสัปดาห์ที่ 32-36 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ RSV ในทารกหลังคลอด โดยการฉีดวัคซีนในมารดาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถถ่ายทอดไปยังทารกผ่านทางรก ทำให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อ RSV ในช่วงแรกเกิด
จาก Clinical trial พบว่าการฉีด RSV Vaccine ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่รุนแรงจาก RSV (Severe RSV-Associated Lower Respiratory Tract Illness) ในทารกที่ 90 และ 180 วันหลังทารกคลอด ได้ร้อยละ 82 และ 69 ตามลำดับ ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 Vaccine efficacy ต่อ medically attended severe RSV-associated lower respiratory tract illness among infants ในการฉีด RSV Vaccine ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์
Ref: Kampmann B, Madhi SA, Munjal I, Simões EAF, Pahud BA, Llapur C, et al. Bivalent Prefusion F Vaccine in Pregnancy to Prevent RSV Illness in Infants. N Engl J Med. 2023;388(16):1451-64.
RSV Monoclonal Antibody สำหรับทารก
Nirsevimab เป็นยาใหม่ในกลุ่ม long-acting human recombinant monoclonal antibody สำหรับป้องกัน การติดเชื้อ Respiratory Syncytial Virus ในทารก
จากการศึกษาวิจัย Clinical trial: HARMONIE พบว่า Nirsevimab มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการติดเชื้อ RSV ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างในทารกได้เท่ากับร้อยละ 83 ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 Kaplan–Meier curves แสดง Hospitalization for RSV-Associated Lower Respiratory Tract Infection จากการศึกษา HARMONIE
Ref: Drysdale SB, Cathie K, Flamein F, Knuf M, Collins AM, Hill HC, et al. Nirsevimab for Prevention of Hospitalizations Due to RSV in Infants. N Engl J Med. 2023;389(26):2425-35.
จากการศึกษาวิจัย Clinical trial:MELODY พบว่า Nirsevimab มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ RSV ที่ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ในทารกที่เกิดครบกำหนดและก่อนกำหนดเล็กน้อยที่ 150 วันหลังฉีด ได้ร้อยละ 74.5 ดังแสดงในรูปที่ 3

รูปที่ 3 Medically Attended Lower Respiratory Tract Infection through Day 150 จากการศึกษา MELODY
Ref: Hammitt LL, Dagan R, Yuan Y, Baca Cots M, Bosheva M, Madhi SA, et al. Nirsevimab for Prevention of RSV in Healthy Late-Preterm and Term Infants. N Engl J Med. 2022;386(9):837-46.
การเปรียบเทียบ:
Maternal RSV Vaccine | RSV Monoclonal Antibody | |
ผลิตภัณฑ์ | RSVPreF vaccine Trade name: Abrysvo™ | Nirsevimab Trade name: Beyfortus™ |
ระยะเวลาของการป้องกัน | ประมาณ 3-6 เดือน | ประมาณ 5 เดือน |
จำนวนครั้งที่ฉีด | 1 ครั้ง | 1 ครั้ง |
อายุครรภ์/อายุที่ฉีด | สัปดาห์ที่ 32-36 ของการตั้งครรภ์ | ทารกอายุน้อยกว่า 8 เดือน หรือทารกอายุ 8-19 เดือนที่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV |
ความปลอดภัย | จาก Clinical trial พบว่าอาการที่พบมากที่สุดหลังการฉีดคืออาการปวดบริเวณที่ฉีด ทั้งนี้พบว่าในกลุ่มที่ได้วัคซีนมีการคลอดก่อนกำหนด (ร้อยละ 0.8) สูงกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก (ร้อยละ 0.6) แต่อย่างไรก็ตามไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ | จาก Clinical trial พบว่าอาการที่พบมากที่สุดหลังการฉีดวัคซีนแก่ทารกคือ ผื่นและปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด (injection-site reactions) ทั้งนี้เกิดน้อยกว่าร้อยละ 1 |
ข้อดี | เป็นการฉีดในมารดา โดยไม่ต้องฉีดเพิ่มเติมในทารก | มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ RSV ในทารก |
ข้อเสีย | อาจเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด | ต้องฉีดในทารก |
โดยสรุป ทั้งการฉีด RSV vaccine ในมารดาและการให้ RSV Monoclonal Antibody ในทารกเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ RSV ในทารก การเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความพร้อมของผลิตภัณฑ์ที่มีในแต่ละที่ สุขภาพของมารดาและทารก และคำแนะนำของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ในปี 2024 นี้ องค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติขึ้นทะเบียนในประเทศไทยทั้งในส่วนของวัคซีน RSVpreF (Abrysvo®) ในหญิงตั้งครรภ์ และ Nirsevimab (Beyfortus®) ในทารก ซึ่งคาดว่าทั้งสองชนิดจะมีใช้ในประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้
อ้างอิง
1. Kampmann B, Madhi SA, Munjal I, Simões EAF, Pahud BA, Llapur C, et al. Bivalent Prefusion F Vaccine in Pregnancy to Prevent RSV Illness in Infants. N Engl J Med. 2023;388(16):1451-64.
2. Drysdale SB, Cathie K, Flamein F, Knuf M, Collins AM, Hill HC, et al. Nirsevimab for Prevention of Hospitalizations Due to RSV in Infants. N Engl J Med. 2023;389(26):2425-35.
3. Hammitt LL, Dagan R, Yuan Y, Baca Cots M, Bosheva M, Madhi SA, et al. Nirsevimab for Prevention of RSV in Healthy Late-Preterm and Term Infants. N Engl J Med. 2022;386(9):837-46.