
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือเก่า คอมพิวเตอร์ที่เสื่อมสภาพ โทรทัศน์ที่ไม่สามารถซ่อมได้ แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เมื่อหมดอายุการใช้งานหรือเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste: E-Waste) ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากมีสารเคมีอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารหนู ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากไม่ได้รับการกำจัดที่ถูกต้อง
ถึงแม้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะหมดอายุการใช้งานแล้ว แต่ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หากผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสม ทั้งนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักมีโลหะมีค่าต่าง ๆ เช่น ทองคำ เงิน และทองแดง เป็นองค์ประกอบ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด แต่ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในการผลิตอุปกรณ์ใหม่อีกด้วย หลายประเทศจึงมีโครงการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดมลพิษสิ่งแวดล้อม
การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมควรดำเนินการผ่านหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะประเภทนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังนี้
นำส่งที่จุดรับคืน
ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ตั้งจุดรับคืนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าที่พร้อมนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง อย่างเช่น สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และ Shop ของค่ายโทรศัพท์มือถือที่จัดโครงการด้าน E-Waste อย่างที่เห็นการประชาสัมพันธ์โครงการอยู่บ่อยครั้ง ในกระบวนการนี้จะมีการคัดแยกนำชิ้นส่วนที่มีประโยชน์นำกลับมาใช้งาน และนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหลือจากการคัดแยกไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
ส่งต่อให้ผู้ประกอบการรีไซเคิล
เราสามารถค้นหาผู้ให้บริการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการรับรอง และมั่นใจได้ว่าสารเคมีอันตรายจะถูกจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น ๆ ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งอย่างคุ้มค่าและปลอดภัย วิธีการนี้มีทั้งการซื้อขายและการให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดปริมาณการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกที่ได้
บริจาคเพื่อนำไปใช้งาน
หากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถใช้งานได้ สามารถนำไปบริจาคให้กับองค์กรหรือผู้ที่ต้องการ เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ซ้ำและลดปริมาณขยะ เช่น โทรศัพท์เก่าหากยังสามารถใช้งานได้และอยู่ในสภาพดี ก็สามารถส่งต่อให้ผู้อื่นใช้งานต่อได้ก็จะคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น แต่อย่าลืมลบข้อมูลสำคัญออกจากเครื่องให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบ เพื่อป้องกันปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลที่อาจจะเกิดขึ้นได้


ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากกำจัดไม่ถูกวิธีก็ทำให้เกิดโทษมหันต์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้แก่
มลพิษทางน้ำและดิน
มลพิษอันเกิดจากสารเคมีอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถปนเปื้อนลงในดินและแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้
มลพิษทางอากาศ
การทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงถังขยะโดยไม่ผ่านการคัดแยกอย่างถูกต้อง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมลภาวะ โดยเฉพาะการเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้มาตรฐานจะปล่อยสารพิษ เช่น ไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
ผลกระทบต่อสุขภาพ
การสัมผัสสารโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ไตวาย และเกิดความผิดปกติของระบบประสาทได้
ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อตัดวงจรของสารเคมีอันตรายที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลและการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องจึงเป็นแนวทางที่ช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ได้ ทั้งยังเป็นการสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
อ้างอิง:
ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน. (2568, 3 กุมภาพันธ์). ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste). ธนาคารออมสิน. https://www.gsb.or.th/gsbresearch/wp-content/uploads/2024/09/IN_E-Waste_260967.pdf