25 กุมภาพันธ์ 2568
บทความโดย อาจารย์เดชา ชินอักษร
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
การประสานงานการเคลื่อนไหว (Coordination Ability) เป็นกระบวนการที่สำคัญในการควบคุมกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างราบรื่นและแม่นยำ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยออทิสติกมักมีความผิดปกติในการประสานงานการเคลื่อนไหว ส่งผลต่อความสามารถในการใช้ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กระบวนการประสานงานการเคลื่อนไหวเกิดจากการทำงานร่วมกันของหน่วยควบคุมการเคลื่อนไหวย่อย (motor units) ในกล้ามเนื้อหลายมัด โดยมีสมองส่วน ซีรีเบลลัม (Cerebellum) เป็นศูนย์กลางหลักในการสั่งการ เมื่อระบบนี้ทำงานผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยออทิสติกเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ตามต้องการ

ขอบคุณรูปภาพจาก My ASD Child: Education & Support for Parents of Children & Teens on the Autism Spectrum
ทักษะสำคัญที่ช่วยพัฒนาการประสานงานการเคลื่อนไหว ได้แก่
(1) ทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Skills) ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมการใช้มือและนิ้วมือได้ดีขึ้น ตัวอย่างกิจกรรมฝึกทักษะ ได้แก่ การเขียนหนังสือ การติดกระดุม การวาดรูป/ระบายสี การเป่าลูกโป่ง/ฟองสบู่ การบีบลูกเทนนิส
(2) ทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills) ช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยรวม เช่น การทรงตัวและการเคลื่อนที่ กิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะนี้ ได้แก่ การเดินและวิ่ง การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน การเล่นเวทเทรนนิ่ง การทำบอดี้เวท และ
(3) ทักษะการประสานสายตากับการเคลื่อนไหวมือ (Hand-eye Coordination) เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้สามารถควบคุมมือและนิ้วได้อย่างแม่นยำผ่านการมองเห็น ตัวอย่างการฝึก ได้แก่ การเย็บผ้า การร้อยเชือกเข้าเข็ม การหยิบเหรียญจากพื้นราบการเล่นเกมที่ต้องใช้การแตะหน้าจอหรือคลิกเมาส์ การแตะจุดบนผนังแล้วกลับมาแตะจมูก
การฝึกฝนทักษะเหล่านี้อย่างต่อเนื่องไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ พัฒนาทักษะทางสังคม และปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยรวมอีกด้วย และยังส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และการเข้าสังคมอีกด้วย การฝึกฝนทั้ง 3 ทักษะหลัก อย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยออทิสติกสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ลองนำกิจกรรมเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับผู้ป่วยออทิสติกในชีวิตประจำวัน!
อ้างอิง
- Fine, E. J., Ionita, C. C., & Lohr, L. (2002). The history of the development of the cerebellar examination. In Seminars in neurology (Vol. 22, No. 04, pp. 375-384).
- Gowen, E., Earley, L., Waheed, A., & Poliakoff, E. (2023). From “one big clumsy mess” to “a fundamental part of my character.” Autistic adults’ experiences of motor coordination. PLoS One, 18(6), e0286753.