Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โภชนาการเพื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกร บุญส่ง หวังสินทวีกุล สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

“อะไรคือโภชนาการเพื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือ อาจจะเจอคำว่า Immunonutrition เป็นคำศัพท์ใหม่หรือปล่าว ก็อาจจะใช่ เกี่ยวกับสารอาหารแน่ ๆ เลย ก็ใช่อีกครับ แต่คงต้องเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยแน่ ๆ แล้วจะเป็นอย่างไรนั้น เรามาทำความรู้จักกันดีกว่านะครับ

เอาดีๆ เรากำลังเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บมากมายที่มีผลต่อสุขภาพ และมีผลกระทบกับการดำรงชีวิตของเราทั้งในมุมแคบ และมุมกว้าง ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น ยังมีผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นพืช และสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่อยู่ใกล้ชิดมนุษย์ ซึ่งอาจจะมีการติดต่อของโรคระบาดที่ข้ามสายพันธุ์มายังมนุษย์ได้ รวมทั้งในปศุสัตว์ ซึ่งหากมีการระบาดของโรค ก็จะมีผลต่อมนุษย์ด้วย ในฐานะผู้บริโภค สำหรับพืช หากพูดไป ก็จะเป็นอีกเรื่องใหญ่ ๆ ไปเลยครับ เพราะมีหลาย ๆ สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลง สภาวะโลกร้อน หรือแม้กระทั่งพวก Alien species หรือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์แปลกปลอม ที่อาจจะมีผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม แน่นอนในที่สุดก็จะมาถึงตัวเราในที่สุด ดังนั้นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญมาก ๆ ครับ

“แหล่งของ Immunonutrients ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย”

ก่อนจะออกไปทะเลมากกว่านี้ เรากลับมาดูที่หัวข้อที่น่าสนใจของเราดีกว่าครับ อย่างที่บอกเรากำลังเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บมากมาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยีสต์ หรือแม้กระทั่งพวกสัตว์เบียน หรือที่เราเรียกว่า “Parasite” เป็นต้น แน่นอนมนุษย์เราคงไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้รังแกสุขภาพของเราฝ่ายเดียวแน่ ๆ เราเองก็มีระบบต่อกรกับสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน สิ่งนั้นที่เราเรียกว่าระบบภูมิคุ้มกัน หรือที่เราเรียกว่า “Immune system” นั่นเองครับ ซึ่งเป็นกลไกที่ป้องกันร่างกายของเราจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ โดยเฉพาะเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ด้วย ทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายกลับมาเป็นปกตินั่นเอง แต่หากระบบภูมิคุ้มกันของเราอ่อนแอ จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ พบว่าผู้ป่วยหนักในห้องโอ.ซี.ยู.พบว่าจะมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทดถอยไป ซึ่งมีการศึกษาว่า หากมีการให้สารอาหารที่ส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ จากจุดนี้ทำให้เรากลับมามองว่าสารอาหารดังกล่าวนั้นคืออะไร ไปมีผลยังไง พบได้ในแหล่งใดบ้าง และเราต้องการได้รับมาน้อยเพียงใด เพื่อให้เรามีสุขภาพดี จึงเกิดเป็นที่มาของคำว่า “Immunonutrition” นั่นเองครับ

“สารอาหารดี ๆ มีประโยชน์ ในรูปแบบที่ดี เหมาะสม ย่อมเกิดผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย”

ขอยกตัวอย่างคือ “Glutamine” ซึ่งร่างกายของเราสังเคราะห์ได้ จึงจัดเป็น Non-essential amino acid แต่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ เช่น ระบบการกำจัดแอมโมเนียที่เป็นของเสียออกจากร่างกาย เป็นตัวสำคัญในส่วนของการทำงานของสมอง มีผลต่อระบบย่อยอาหารของเราด้วย และมีส่วนสำคัญในการสมานของแผล เป็นต้น และที่สำคัญคือมีการพบว่า Glutamine มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะมีผลทำให้ Lymphocyte และ Macrophage ทำงานได้ดี ดังนั้นจึงมีการเติม Glutamine ลงไปในอาหารที่ให้ทางเส้นเลือดในกรณีที่ต้องการเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เป็นต้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า Glutamine มีบทบาทสำคัญในการเป็น Immunonutrient ตัวหนึ่งครับ เราสามารถได้รับ Glutamine จากอาหารเช่น เนื้อสัตว์ นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว รวมทั้งสามารถได้จากผักโขม และกะหล่ำปลีด้วย นอกจากนี้ยังมี “Arginine” ซึ่งจัดเป็น essential amino acid ซึ่งร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์ได้ จำเป็นที่จะต้องได้รับเข้าไปจากภายนอก ซึ่งพบว่ามีผลต่อการพัฒนาของ Lymphocyte และมีผลต่อการทำงานของ Macrophage และ Natural Killer cells ด้วยเช่นกัน เราสามารถได้รับ Arginine จากเนื้อสัตว์ ไข่แดง และยังได้รับจากการรับประทานธัญพืช เช่น ถั่ว เมล็ดงา ข้าวโพดคั่ว ขนมปังโอลวีต ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต เป็นต้น

นอกจากการเผชิญกับเชื้อก่อโรคแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อร่างกายคือการเกิดการอักเสบ หรือที่เราเรียกว่า “Inflammation” ซึ่งตัวการสำคัญของการเกิดการอักเสบนี้คือ Prostaglandins นั่นเองครับ โดยเฉพาะ Prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งพบว่าไปลดการทำงานของ Lymphocyte ซึ่งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อโรคนั่นเอง นอกจากการได้รับยาต้านการอักเสบ หรือ NSAIDs แล้ว ยังมีสารอาหารที่ช่วยลดผลของ PGE2 ด้วยครับ ซึ่งมีการพบว่าการได้รับสารอาหารคือ Omega-3 สามารถลดการสร้าง PGE2 ได้ครับ แต่อย่างไรก็ดี แต่ละตัวก็มีข้อมูลที่ทำให้เราต้องระมัดระวังในการใช้ด้วย เช่น การได้รับ Omega-3 มาก ๆ อย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อการขยายของเส้นเลือด และมีผลทำให้เลือดแข็งตัวช้า เป็นต้น สำหรับแหล่งของ Omega-3 นั้น เช่น ปลาทะเลน้ำลึก ปลาน้ำจืดไทย ธัญพืช เมล็ดพืช และน้ำมันพืช เป็นต้น

แร่ธาตุบางชนิด ก็แสดงตัวเป็น Immunonutrient เช่นกัน อาทิ Zinc (Zn) โดยร่างกายของเราจำเป็นจะต้องได้รับจากภายนอก ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 15 mg ต่อวัน โดยเราสามารถได้รับ Zn จากเนื้อหมู ไข่ อาหารทะเลโดยเฉพาะจำพวกหอย นอกจากนี้ยังสามารถได้จากพวกธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง จมูกข้าวสาลี เมล็ดฟักทอง เป็นต้น โดยมีการศึกษาพบว่า Zn มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีผลทำให้บาดแผลสมานได้ดีอีกด้วย

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังจะมีจำพวกสารที่ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย อาทิ เช่น Vitamin C, Vitamin E เป็นต้น รวมทั้งพวก Phytonutrients ที่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นพวก Polyphenols Flavonoids และ Stilbenes เป็นต้น รวมทั้งยังมีแบคทีเรียตัวดีในระบบทางเดินอาหารของเราที่เราเรียกว่า Gut microbiota หรือที่เราคุ้นเคยกันคือ “Probiotic” ที่มีผลดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งสิ่งเกื้อหนุนต่อการเจริญเติบโตของ Probiotic ที่เราเรียกว่า  “Prebiotic” ก็อาจจะส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราทางอ้อมอีกด้วย

จะเห็นว่าแต่ละตัวมีความสำคัญ และมีบทบาทต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งการเลือกใช้ให้เหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณการใช้หรือขนาดการใช้ รวมทั้งในแต่ละช่วงวัยก็จะมีความต้องการที่แตกต่างกันอีก ดังนั้นการศึกษาในแต่ละกลุ่มเพื่อให้มีการใช้ Immunonutrition ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด และปลอดภัยนั้นจึงมีความสำคัญมาก จะเห็นว่าในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เน้นการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการเติมสารอาหาร หรือ Immunonutrient เหล่านี้ลงไป การศึกษาข้อมูล และการเลือกให้เหมาะสมจึงสำคัญ

กองกำลังป้องกันเชื้อโรคของร่างกาย หรือระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของเรา จะทำงานได้ดีหรือไม่ อยู่ที่การดูแลสุขภาพของเรา การรับประทานอาหารที่มี Immunonutrients เหล่านี้ ก็เป็นตัวหนึ่งที่จะช่วยได้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาความเหมาะสม และความปลอดภัยของการใช้ร่วมด้วยของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อย่างไรก็ดี การป้องกันโรค ย่อมดีกว่าการรักษาโรคแน่ ๆ การดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารครบห้าหมู่ หลากหลาย และปราศจากสิ่งร้าย ๆ เจือปน ออกกำลังายให้เหมาะสม และการได้รับสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ ก็จะช่วยปรับให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ดีได้ด้วยเช่นกัน

          “ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีนะครับ”

เอกสารอ้างอิง

O’LEARY, M.J., COAKLEY, J.H. (1996) Nutrition and immunonutrition, British Journal of Anaesthesia; 77: 118–127

Robert, F.G. (2009) Basics in clinical nutrition: Immunonutrition – Nutrients which influence
immunity: Effect and mechanism of action, e-SPEN, the European e-Journal of Clinical Nutrition and Metabolism, 4, e10–e13

Barry, A., Mizock, M.D., (2010) Immunonutrition and critical illness: An update, Nutrition, 26, 701–707

Vetvicka, V., Vetvickova, J. (2016) Concept of Immuno-Nutrition, J Nutr Food Sci, 6:3

Facebook Comments Box