Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

สำนักวิชาการจัดการ: ประตูสู่ความสำเร็จ(School of Management: Gateway to Achievement)

หากจะกล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันเปรียบดังการให้ความรู้ที่ครูผู้สอนหรือสถาบันการศึกษาคือ ผู้ผลิต (Producer) หรือเป็นผู้ให้ความรู้ และผู้เรียนหรือนักศึกษาเป็นผู้รับการถ่ายทอดความรู้ก็คงกระไร เพราะจะกลายเป็นว่าเรากำลังพูดถึงการจัดการเรียนการสอนแบบจ่ายครบจบแน่ และโลกทั้งใบหรือจุดศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ครูผู้สอน (Teacher Center) ถ้าโชคดีเจอครูที่ไฝ่หาความรู้และนำมาถ่ายทอด เด็กก็ได้เรียนรู้มากขึ้น หากเจอครูที่ทำแต่งานตามหน้าที่ก็อาจจะจำกัดกรอบการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้เรียน แต่ปัจจุบัน โลกของการเรียนรู้ขยายกว้างจนไร้ขอบเขตอันเนื่องมาจากการเจริญก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ตทำให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาสามารถค้นคว้าหาความรู้จากสื่ออินเตอร์เน็ต จนในบางครั้งมีประเด็นการหารือหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ กระบวนการเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป

          ด้วยเหตุนี้ กระบวนการเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนไป บทบาทของผู้สอนและผู้เรียนก็เปลี่ยนไปจากบทบาทที่แยกกันอย่างชัดเจนระหว่างครูผู้ให้กับผู้เรียนกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีครูผู้สอนเป็น Facilitator มากกว่าคนมายืนพูดอยู่หน้าห้อง เด็ก ๆ ต้องมีบทบาทเป็นผู้ร่วมสร้าง (Co-creator) มากกว่าเพียงแค่การนั่งเรียน แต่ต้องค้นคว้าหาข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น คิดและต่อยอดฐานทรัพยากรที่มีอยู่ กระบวนการเรียนการสอนจึงไม่ใช่กระบวนการเพียงแค่การบรรยายและการจดเล็กเชอร์ แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยน ค้นคว้า ตั้งคำถาม และตอบคำถาม ซึ่งเป็นกระบวนการที่สมกับการเป็นมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยหรือ University มาจากรากศัพท์คำว่า Universe + City ที่หมายถึงการมองหาองค์ที่มีอยู่จากด้านนอกห้องเรียนแล้วมาถ่ายทอดให้กับผู้เรียน โดยสอนให้ผู้เรียน เรียนรู้และหาวิธีในการค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง ขณะที่โรงเรียนหมายถึงสถานที่ที่ผู้เรียนมาเรียนและรับความรู้จากผู้สอน ด้วยเหตุนี้ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ผู้ใช้บัณฑิต และผู้ปกครอง

          วันนี้ ด้วยศักยภาพของคณาจารย์ในสำนักวิชาการจัดการที่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์และความสามารถที่พร้อมในการเป็นประตูแห่งความสำเร็จที่ช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาเกี่ยวข้องกับสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้บรรลุในเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งภายใต้กระบวนการนี้ กิจกรรม Active Learning จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากกับการเรียนการสอนในสาขาวิชาการต่าง ๆ อาทิ การตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ การจัดการโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวและการบริการยุคดิจิทัล หรือศิลปะการประกอบอาหารแบบมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนการสอนในด้านการประกอบอาหารที่ผู้เรียนต้องได้สัมผัสกับครัวจริง เรียนรู้จากเครื่องมือจริง ในด้านอื่น ๆ ที่คณาจารย์มีการบูรณาการการวิจัยที่ได้รับงบประมาณจากภายนอกและนำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้จากห้องปฏิบัติการทางสังคมที่อยู่ในภาคสนาม ตัวอย่างงานวิจัยที่ได้มีการบูรณาการกันคือ โครงการกระบี่โมเดลที่ได้รับงบประมาณวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ดำเนินการที่จังหวัดกระบี่เพื่อพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนภายใต้แนวคิดการสร้างเครือข่ายคุณค่าที่นำทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนทั้งหน่วยงานที่เป็นพลังอำนาจแข็ง (Hard Power) ดังเช่นหน่วยงานภาครัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น มาบูรณาการกับพลังอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่เป็นความสัมพันธ์ภายในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น มีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้ของเกษตรกรไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าไปขับเคลื่อน

          งานวิจัยที่โดดเด่นด้านอื่นที่มีการบูรณาการกับการเรียนการสอนคือ การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่มุ่งเน้นการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่มีการนำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้กระบวนการจัดทำงานวิจัยและการประยุกต์องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนสังคมในสถานการณ์จริง ยังมีอีกหลาย ๆ งานที่คณาจารย์ในสำนักวิชาการจัดการได้ออกไปใช้ความรู้ในการเป็นที่ปรึกษาและบริการวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ การพัฒนานักศึกษาผ่านกระบวนการ Pitching งาน การทำ Start Up หรือการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะพัฒนาผู้ประกอบการก็เป็นส่วนสำคัญในการร่วมสร้างศักยภาพของบัณฑิตในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ได้เรียนเหมือนคนในยุคก่อน ผู้สอนทุกวันนี้ต้องพยายามลืมเรื่องราวในอดีต และมองปัจจุบันและอนาคต โดยมองอนาคต 60 – 70 % เพื่อวางแผนในการพัฒนาบัณฑิตให้พร้อมต่อการทำงานในภายหลังการจบการศึกษา

          สำนักวิชาการจัดการมุ่งมั่นในการเป็นประตูสู่ความสำเร็จ ด้วยผลการประเมินคุณภาพการจัดการการศึกษาภายในประจำปีการศึกษา 2564 ทุกหลักสูตรฯ ได้รับผลประเมินในระดับดีมาก แสดงออกถึงความมั่นใจได้ว่าเรามีกระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ กระบวนการที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาบัณฑิตยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หลักสูตร 2 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ และหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์มีโครงการ Fast Track ที่นักศึกษาสามารถจบการศึกษาได้ภายในระยะเวลา 3 ปี 2 เทอม และล่าสุดหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์สามารถจัดการได้ภายใน 3 ปี 1 เทอม ในขณะที่การท่องเที่ยวและการบริการยุคดิจิทัลมีการเปิดโลกกว้างในการดำเนินการในต่างประเทศ นำนักศึกษาเรียนรู้วิชาการและกระบวนการในต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับศิลปะการประกอบอาหารแบบมืออาชีพที่ได้ฝึกและเรียนรู้แบบมืออาชีพเพื่อเป็นเชฟที่มีศักยภาพ ทำงานได้ทุกครัวในโลกกว้างใบนี้ วันนี้ มั่นใจได้ครับว่าพวกเราชาวสำนักวิชาการจัดการจะร่วมสร้างนักบริหารจัดการมืออาชีพที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้ความเป็น School of Management: Gateway to Achievement

Facebook Comments Box