Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

กายภาพบำบัดในผู้สูงอายุกายภาพบำบัด

กายภาพบำบัดกับผู้สูงอายุ ตอนที่ 1
ปัจจุบัน เชื่อว่าหลาย ๆ คนพบเจอผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นในกิจกรรมหรือสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยเพราะตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงอายุแล้ว โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete aged society) โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20% จากประชากรทั้งหมด และมีการคาดประมาณว่าในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยเรานั้นจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super aged society) เมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมดนั่นเอง ทั้งนี้ ประเทศไทยเรานั้นยังขึ้นแท่น Top 3 ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยสิงคโปร์ ไทย และเวียดนามตามลำดับ
ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มวัยที่มีความเปราะบาง เมื่อวัยเพิ่มขึ้น การทำงานและโครงสร้างของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะย่อมเสื่อมถอยลงไป โดยปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ กลุ่มโรคทั่วไปที่เป็นได้แม้ยังไม่เข้าสู่วัยสูงอายุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ถึงแม้จะเกิดได้กับคนทุกวัย แต่พออายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้นนั่นเอง ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มอาการที่เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุ ที่เรียกว่า “Geriatric Syndrome” คือเกิดจากความชราภาพของร่างกายหรือจากผลข้างเคียงของโรคที่มารุมเร้าทำให้การดูแลตนเองถดถอยลง เช่น อาการสับสนและสูญเสียความจำ ปัญหาการทรงตัวและการหกล้ม ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น
จากปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รายงานว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงราวร้อยละ 10 โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิงบางส่วนหรือเป็นประเภท “ติดบ้าน” ออกไปไหนไม่ได้ราวร้อยละ 85 และต้องพึ่งพิงทั้งหมดหรือเป็นประเภท “ติดเตียง” ราวร้อยละ 15 และจำนวนผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงมีแนวโน้มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แต่สามารถทำความเข้าใจ ป้องกัน และดูแลได้ บทบาทของกายภาพบำบัดจึงถือว่าสำคัญอย่างยิ่งเพราะครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุได้ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกายภาพบำบัด รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ
ในตอนนี้ จะพาทุกคนไปรู้จักกับบทบาทความสำคัญของนักกายภาพบำบัดกับ “ผู้สูงอายุที่มีปัญหาติดเตียง” เพราะจากปัญหาสุขภาพโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในผู้สูงอายุมักนำไปสู่การเกิดความพิการตามมา โดยเฉพาะการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลกและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย หากผู้ป่วยสูงอายุไม่ได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถสภาพอย่างถูกต้อง จะมีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน บางรายอาจเกิดปัญหาสุขภาพรุนแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยนักกายภาพบำบัดมีบทบาทหน้าที่ในการฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย ฟื้นฟูความสมดุลของร่างกาย ฟื้นฟูการประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อ และเพิ่มขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวเพื่อการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ
มีเรื่องเล่าจากผู้เขียนถึงการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุติดเตียง เป็นเคสที่ประทับใจมาก เนื่องจากเป็นเคสผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิต ล้มป่วยเกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมา ส่งผลให้เกิดอาพาตครึ่งซีกคือร่างกายซีกขวาอ่อนแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย เป็นเคสที่ได้รับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้โปรแกรมขยับข้อต่อไม่ให้ยึดติด โปรแกรมกระตุ้นการทำงานกล้ามเนื้อ รวมถึงโปรแกรมการฝึกการเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ ผ่านไปไม่ถึง 3 เดือน เคสนี้สามารถกลับมาลุกขึ้นยืนและเดินได้โดยมีภรรยาพยุง เป็นเคสที่ต้องยอมรับว่าผู้ดูแลผู้ป่วยมีส่วนสำคัญไม่แพ้นักกายภาพบำบัด ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุติดเตียงนอกจากวิชาชีพทางด้านสุขภาพแล้ว หัวใจสำคัญที่สุดอยู่ที่ “ตัวผู้ป่วยและญาติ” นั่นเอง ในตอนหน้าจะมาเล่าวิธีการส่งเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุโดยเน้นการออกกำลังกายอย่างง่ายในผู้สูงอายุกันครับ
(รูปได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยในการเผยแพร่เป็นที่เรียบร้อย)