Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การบริหารจัดการการเงิน งบประมาณ และทรัพย์สิน ในบริบทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เขียนโดย สุภาวดี สารพงษ์ หัวหน้างานยุทธศาสตร์และแผนงบประมาณ

ส่วนแผนงานและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

  1. รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นรายปีให้แก่มหาวิทยาลัย เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย เงินอุดหนุนดังกล่าว ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 ถือเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย กรณีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยไม่สามารถหาเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่นได้ รัฐพึงจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้แก่มหาวิทยาลัยเท่าจำนวนที่จำเป็น กรณีมีเงินเหลือจ่ายไม่ต้องส่งคืนรัฐ และสามารถวางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารการเงินเพียงระเบียบเดียวทั้งที่มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
  2. งบประมาณที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐเป็นรายปีสภามหาวิทยาลัยสามารถนำมาจัดสรรใหม่ตามภารกิจและความจำเป็นของมหาวิทยาลัยได้
  3. รายได้ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสภามหาวิทยาลัย
  4. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินได้ ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมีผู้ยกให้หรือได้มาโดยการซื้อจากเงินรายได้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีอำนาจปกครองดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาประโยชน์จากที่ราชพัสดุได้ รายได้จากการดำเนินงานถือเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย
  5. การบริหารการเงินและทรัพย์สิน เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สิน พ.ศ.2559 เพื่อให้การบริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความเหมาะสม สอดคล้องกับเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยมุ่งเน้นความยืดหยุ่น คล่องตัว และรวดเร็ว โดยให้คณะกรรมการบริหารและทรัพย์สิน ทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สิน เพื่อนำเสนอสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารและทรัพย์สินมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับนี้
  6. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีระบบบริหารการเงินและระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ โดยได้พัฒนาระบบงบประมาณ พัสดุ การเงินและบัญชีกองทุน โดยเกณฑ์พึงรับพึงจ่ายลักษณะสามมิติ ภายใต้ชื่อ WU-MIS ซี่งระบบดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับมาตรฐานและนโยบายการบัญชีที่รัฐกำหนด การใช้จ่ายจากทุกแหล่งเงินของมหาวิทยาลัยได้กำหนดเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยการอนุมัติของสภามหาวิทยาลัย
  7. มีกลไกตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นกลไกภายในมหาวิทยาลัยโดยหน่วยตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่อสภามหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

Facebook Comments Box