Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ตามติดชีวิตนักศึกษาแพทย์ มวล. จากก้าวแรก…..สู่การเรียนชั้นคลินิก

1 เมษายน 2565

บทความโดย ผศ.ดร.ประภาพร จันทร์เอียด
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นักศึกษาแพทย์จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์
ขอบคุณภาพจาก: สำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ประมาณกลางเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ก็เช่นเดียวกัน พวกเรารอคอยที่จะต้อนรับนักศึกษาแพทย์ใหม่ทั้ง 48 คน ซึ่งจะมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว SMD ในวันแรกที่เข้ามาน้องใหม่ทั้ง 48 คน จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสำนักวิชาฯ ผ่านกิจกรรมปฐมนิเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าชีวิตนักศึกษาแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และมีการต้อนรับน้องใหม่อย่างอบอุ่นผ่านกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญโดยทีมคณาจารย์ บุคลากร และรุ่นพี่

ภาพกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญของสำนักวิชาแพทยศาสตร์ฯที่จัดเป็นประจำทุกปี
ขอบคุณภาพจาก: สำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เคยถามนักศึกษาแพทย์ว่าทำไมถึงเลือกเรียนแพทย์?  คำตอบที่ได้ “ชอบ อยากช่วยเหลือคนไข้” “อยากดูแลพ่อแม่ ญาติๆ เมื่อท่านไม่สบาย” “ผู้ปกครองอยากให้เรียน” “อยากทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ” “มันคือความฝัน ความท้าทาย จะเหตุผลใดก็ตาม นับจากนี้ไปทุกคนคือสมาชิกใหม่ของครอบครัว SMD ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตนเพื่อผู้อื่น พร้อมที่จะจบไปเป็นหมอที่จะช่วยดูแลคนไข้ และช่วยเหลือสังคม

สิ่งที่นักศึกษาแพทย์จะต้องเผชิญตลอดระยะเวลาการศึกษา 6 ปี นับจากนี้ไป จะได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์และรุ่นพี่ ผ่านการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ  โดยหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ม.วลัยลักษณ์ มีภารกิจหลักในการมุ่งผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ของกระทรวงสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา มีทักษะพื้นฐานทางวิชาชีพ เป็นผู้มีคุณธรรม มีเจตคติที่ดีในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

หลักสูตรจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1-3 ณ ม.วลัยลักษณ์  และชั้นปีที่ 4-6 ณ สถาบันร่วมผลิตแพทย์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลัก คือ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลตรัง และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก้าวแรกของการเป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์ในชั้นปีที่ 1 นักศึกษาจะได้เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และกลุ่มวิชาการแพทย์และสังคมศาสตร์ ซึ่งจะมีโอกาสได้เรียนร่วมกันกับนักศึกษาหลักสูตรอื่นๆ หลังเสร็จสิ้นในชั้นปีนี้ เป็นช่วงของการปิดเทอมที่นับได้ว่าเป็นการปิดเทอมที่แท้จริงครั้งสุดท้ายของการใช้ชีวิตการเรียนแพทย์ เพราะนับจากนี้ไปนักศึกษาจะต้องทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนอย่างเข้มข้นขึ้น ช่วงการปิดเทอมจากเดิมประมาณ 1-2 เดือน จะเหลือเพียง 5-7 วัน ซึ่งนักศึกษาแพทย์ทราบกันเป็นอย่างดี

จากนักศึกษาเตรียมแพทย์ในชั้นปีที่ 1 จะเข้าสู่ระดับปรีคลินิกในชั้นปีที่ 2 และ 3 ซึ่งจะเรียนเฉพาะนักศึกษาแพทย์ด้วยกันเองเท่านั้น โดยในชั้นปีที่ 2 นักศึกษาจะเรียนเกี่ยวกับ สภาวะปกติของร่างกาย โดยเรียนระบบการทำงานของร่างกายทุกระบบอย่างละเอียด รวมทั้งวิชาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานสภาวะปกติ ในชั้นปีที่ 2 นี้เป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตื่นเต้นและรอคอยที่จะได้เรียน Gross Anatomy หรือวิชากายวิภาคศาสตร์นั่นเอง ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติโดยศึกษาจากร่างอาจารย์ใหญ่  ซึ่งการเรียนกรอสที่นี่  โต๊ะกรอส 1 โต๊ะ จะมีร่างอาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน ต่อนักศึกษา 4 คน และในช่วงเวลานี้ความเครียด ความกดดันได้เริ่มเกิดขึ้นกับชีวิตนักศึกษาแพทย์แล้ว เนื่องจากจะมีการสอบเกือบทุกสัปดาห์ แต่ก็ไม่สามารถทำลายความมุ่งมั่น ตั้งใจและความอดทนของนักศึกษาแพทย์ได้

การเรียนกายวิภาคศาสตร์ของนักศึกษาแพทย์
นักศึกษาแพทย์ให้ความเคารพอาจารย์ใหญ่ระหว่างการเรียน Gross anatomy ที่ห้องปฏิบัติการสำนักวิชาแพทยศาสตร์ฯ
ขอบคุณภาพจาก: สำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผ่านปี 2 ไป ช่วงเวลาปิดเทอมอันแสนสั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว ย่างเข้าสู่ปี 3 นักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับสภาวะผิดปกติของร่างกาย มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ในการศึกษาเกี่ยวกับโรคและภาวะผิดปกติของระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติ เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับใช้ในการเรียนระดับชั้นคลินิก ในชั้นปีนี้ความเหนื่อย ความล้าเริ่มปรากฏให้เห็น การสอบที่มีเกือบทุกสัปดาห์ยังคงดำเนินต่อไป แต่นักศึกษาแพทย์ผู้มีความพยายาม ไม่ย่อท้อ ก็พร้อมฝ่าฝันปัญหาและอุปสรรคเพื่อเดินทางสู่ความสำเร็จที่รออยู่ หลังจบระดับชั้นปรีคลินิกนักศึกษาต้องผ่านด่านการสอบที่สำคัญ 2 ด่านสุดท้าย ก่อนขึ้นไปศึกษาในชั้นคลินิกที่โรงพยาบาล คือการสอบประมวลความรู้ ขั้นตอนที่ 1 (Compre 1) และการสอบเพื่อรับการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นตอนที่ 1 (NL1)

การเรียนในห้องปฏิบัติการของนักศึกษาแพทย์
นักศึกษาแพทย์ได้รับการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในห้องปฏิบัติการโดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุม
ขอบคุณภาพจาก: สำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

หลังจากการเรียนและการสอบในระดับปรีคลินิกผ่านพ้นไป และแล้ววันสำคัญของนักศึกษาแพทย์ปี 3 ก็มาถึงอีกครั้งนึง เป็นวันพิธีมอบเสื้อกาวน์ซึ่งสำนักวิชาฯ จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีกับความสำเร็จในก้าวแรกของการเข้าสู่วิชาชีพแพทย์ ก่อนที่นักศึกษาจะขึ้นไปเรียนในชั้นคลินิก

กิจกรรมมอบเสื้อกาวน์ให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3
กิจกรรมมอบเสื้อกาวน์ให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจก่อนที่จะขึ้นปฏิบัติงานที่ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกต่อไป
ขอบคุณภาพจาก: สำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์