จากรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 เมษายน 2567 พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 123,739 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 0-4 ปี คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน และพบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน
• การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง มีข้อดีอย่างไร
– ลดความรุนแรงของโรค
– ลดโอกาสการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
– ลดการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
• ใครบ้างควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
– หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
– เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
– ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
– ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
– ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
– ผู้ที่มีน้ำหนัก > 100 kg หรือมีดัชนีมวลกาย > 35 kg/m2
– ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
• วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มฉีดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง
• ถ้าอายุน้อยกว่า 9 ปี การฉีดครั้งแรกต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) อาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดธรรมดา โดยอาการทั่วไปที่พบได้เมื่อผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง ปวดเมื่อยตัว คัดจมูก เจ็บคอ ไอ ซึ่งในระยะแรก ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์
ในประเทศไทยโรคไข้หวัดใหญ่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี โดยจะพบมากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนและช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เพราะการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่นั้นในแต่ละปีนั้น สายพันธุ์ที่ระบาดจะมีการแตกต่างไปในแต่ละปี จึงแนะนำให้ทุกท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีก่อนเข้าฤดูกาลระบาดของโรค คือก่อนช่วงเข้าฤดูฝน
