Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“Anosmia” ภาวะจมูกไม่ได้กลิ่นจากโรค COVID-19 เรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้…

1 พฤษภาคม 2565

บทความโดย ผศ.ดร.ผานิตย์ คุ้มฮิ้น
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

COVID-19 เกิดจากการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV-2 มีหลายการศึกษาจากยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชียและออสเตรเลียพบการสูญเสียการรับกลิ่นหลายระดับ (anosmia/ hyposmia/dysosmia) เป็นอาการเริ่มแรกของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีการสูญเสียการรับกลิ่นมากกว่าร้อยละ 80 และพบว่าผู้ได้รับเชื้อที่ไม่มีอาการทางคลินิกสามารถพบการสูญเสียการรับกลิ่นได้ร้อยละ 11.8 – 35.5 การสูญเสียการรับกลิ่นนี้สามารถฟื้นกลับมาได้โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 สัปดาห์ บทความนี้จะแสดงสรีรวิทยาการรับกลิ่นเบื้องต้นพร้อมนำเสนอข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับกลไกที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียการรับกลิ่นในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยในปี ค.ศ.2020 มีการพบอาการแสดงที่น่าสนใจในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับกลิ่น ในขณะนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการบาดเจ็บ (injury) ที่โพรงจมูกเนื่องจากมีการตรวจพบปริมาณเชื้อไวรัสในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก (high viral load)

การรับกลิ่น (olfactory function) เป็นระบบที่ช่วยให้เราได้รับข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสัตว์จะมีสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการรับกลิ่นมากกว่ามนุษย์ อย่างไรก็ตามการสูญเสียการรับกลิ่นจะส่งผลให้มนุษย์เรามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง รับประทานอาหารก็จะไม่อร่อยเหมือนเก่าเนื่องจากกลิ่นเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่ทำให้เรารับรู้รสชาติอาหารได้ ในโพรงจมูกประกอบด้วย olfactory epithelium ซึ่งประกอบด้วยเซลล์สำคัญ 5 ชนิด คือ olfactory sensory neurons, sustentacular cells, microvillar cells, duct cells of the olfactory และ basal cells มีตัวรับกลิ่น (odorant receptors) ที่ซิเลียของ olfactory sensory neurons เราสามารถรับกลิ่นที่เข้ามาในโพรงจมูกได้ทั้งทางจมูกและทางปาก หลังจากนั้นจะมีการส่งสัญญาณประสาท (action potential) ขึ้นไปยังสมองหลายส่วน ได้แก่ anterior olfactory nucleus, olfactory tubercle, piriform cortex, amygdala และ entorhinal cortex สัญญาณประสาทที่ส่งต่อไปยังสมองมีการทำงานประสานกันมีบทบาทสำคัญต่อประชาน (เช่น สติปัญญาความรู้ การจดจำและการเรียนรู้ เป็นต้น) และการควบคุมการเคลื่อนไหว การสูญเสียการรับกลิ่นแบ่งสาเหตุได้เป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ การเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินกลิ่นและเกิดจากการทำลายของประสาทรับกลิ่น (conductive olfactory loss และ sensorineural olfactory loss) จากการศึกษาของ Ahmed และคณะในเดือนมีนาคมปีนี้ มีการเสนอกลไกที่ทำให้เกิดการสูญเสียการรับกลิ่น 5 กลไก ด้วยกันดังนี้

  1. การเกิดผลกระทบต่อตัวรับ angiotensin-converting enzyme 2 ที่ olfactory sensory neuron
  2. ความเสียหายที่ supporting cell (sustentacular cells) ใน olfactory epithelium
  3. การเกิดผลกระทบต่อ olfactory centers ใน frontal lobe เช่น mitral cell ใน olfactory bulb
  4. การอุดตันจากการอักเสบใน olfactory cleft ทำให้เกิดการเพิ่มเมือกซึ่งขัดขวางทางเดินกลิ่น 
  5. ผลจากการขาดสังกะสีจากการใช้งานโดยเชื้อไวรัสทำให้เอนไซม์ carbonic anhydrase ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับกลิ่นถูกรบกวนการทำงาน

ภาพแสดงกลไกที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียการรับกลิ่นในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (ที่มา Ahmed et al., 2022)

อย่างไรก็ตามการสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นชั่วขณะนี้ก็เป็นอาการที่สำคัญที่มีประโยชน์ในการตรวจพบการติดเชื้อในระยะเริ่มแรกและป้องกันการระบาดในวงกว้างได้ ความผิดปกตินี้อาจจะหายได้ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือในบางรายงานพบว่าสามารถพบอยู่ได้เกินหนึ่งเดือน ซึ่ง olfactory epithelium สามารถเกิดใหม่ได้โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์

อ้างอิง 

  1. Ahmed, A. K., Sayad, R., Mahmoud, I. A., El-Monem, A., Badry, S. H., Ibrahim, I. H., Hafez, M. H., El-Mokhtar, M. A., & Sayed, I. M. (2022). “Anosmia” the mysterious collateral damage of COVID-19. Journal of neurovirology, 1–12. Advance online publication. https://doi.org/10.1007/s13365-022-01060-92.
  2. Albert Y Han, Laith Mukdad, Jennifer L Long, Ivan A Lopez, Anosmia in COVID-19: Mechanisms and Significance, Chemical Senses, Volume 45, Issue 6, July 2020, Pages 423–428, https://doi.org/10.1093/chemse/bjaa040