

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เกินจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (สกุล Rhabdoviridae) สามารถติดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดโดยเชื้อจะอยู่ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้อ ได้แก่ น้ำลาย เป็นต้น หากติดเชื้อและมีอาการแล้ว “ไม่มีทางรักษาหายได้”
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
สุนัขและแมวจะแสดงอาการหลังจากถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด/ข่วน 3-8 สัปดาห์ ไม่เกิน 6 เดือน และจะตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ
โคที่ไดรับเชื้อจะแสดงอาการภายใน 14-90 วัน หรืออาจนานกว่านี้โดยเฉลี่ยประมาณ 21 วัน โดยอาการของโรคพิษสุนัขแบ่งเป็น 3 ระยะ
- ระยะแรก: มีอาการประมาณ 2-3 วัน สัตว์จะมีอารมณ์และนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม
ระยะที่ 2: ระยะตื่นเต้น เริ่มมีอาการทางประสาท สัตว์จะกระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของไม่เลือก ม่านตาขยายกว้าง เสียงเห่าหอนเปลี่ยนไป ตัวแข็ง บางตัวล้มลงชักกระตุก
ระยะที่ 3: ระยะอัมพาต สัตว์จะมีอาการคางห้อยตก ลิ้นแดงคล้ำห้อนออกนอกปาก น้ำลายไหล ขย้อนอาหารคล้ายมีอะไรอยู่ในคอ ขออ่อนเปลี้ย ทรงตัวไม่ได้ ล้มลงอัมพาตทั้งตัว และตายในที่สุด
โดยความเร็วของการแสดงอาการหลังจากถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดจะขึ้นอยู่กับ บริเวณของที่ติดเชื้อ – ใกล้สมองหรือไขสันหลัง จะแสดงอาการเร็ว, ความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด และปริมาณเชื้อไวรัสที่เข้าแผลถูกกัด
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่กัด/ข่วนไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า???
สัตว์ที่ไม่ได้เป็นพิษสุนัขบ้าต้องมีครบ 5 ข้อ ดังนี้
1. สุนัข/สัตว์เลี้ยงนั้นได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เคยฉีดวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายไม่เกิน 1 ปีโดยสัตวแพทย์
2. สุนัข/สัตว์เลี้ยงนั้นได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี อยู่ในบริเวณรั้วรอบขอบชิด มีโอกาสสัมผัสสัตว์อื่นน้อย
3. สุนัข/สัตว์นั้นมีอาการปกติ ยังกินน้ำ-อาหารได้
4. มีเหตุโน้มนำในการที่สุนัข/สัตว์กัด เช่น ไปแหย่ให้สุนัขโกรธ ตกใจ สุนัขดุ เป็นต้น
5. สามารถกักขังสุนัขหรือสัตว์นั้นไว้ดูอาการได้ ถ้าภายใน 10 วัน ถ้าสุนัขยังมีอาการปกติ ถือว่าสุนัขไม่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า
และยังมี 3 กรณีที่สุนัขหรือสัตว์นั้นกัด/ข่วนแล้วให้ถือเสมือนว่าสุนัขหรือสัตว์นั้นมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า!!!
1. หนีหายไปไม่สามารถติดตามดูอาการได้
2. ไม่ปรากฏเจ้าของ
3. ไม่ทราบประวัติที่แน่นอน
วิธีการป้องกันไม่ให้สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
1. ร่วมมือกันทำให้สุนัข/แมวทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ถ้าเก็บหรือซื้อลูกสุนัข/แมวมาเลี้ยง ต้องรีบนำไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ากับ สัตวแพทย์ ครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4เดือน ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
2. ต้องช่วยกันลดจำนวนสุนัข/แมวที่ไม่มีเจ้าของ โดยพาไปผ่าตัดทำหมัน!!!
3. เลี้ยงสุนัข/แมว ต้องไม่ปล่อยออกนอกบ้านตามลำพัง ทำให้ลดโอกาสสัมผัสกับสุนัขบ้า
4. พบเห็นสัตว์สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือจนท.สาธารณสุขทันที ระวังอย่าให้ถูกกัด แล้วนำหัว/ตัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
5. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีรายงานการพบเจอสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถดูผลการายงานผ่านเวบไซต์นี้ได้ http://www.thairabies.net/trn/