การดำเนินโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (social engagement) โดยใช้หลักการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development: HAB) ที่ตอบสนอง ความต้องการของสังคม ผ่านกระบวนการบูรณาการระหว่างการวิจัยเชิงพื้นที่ บริการวิชาการ และการมีส่วนร่วมของชุมชน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและของประเทศ เป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อน พันธกิจบริการวิชาการ ของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ด้วยกระบวนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเชิงรุกด้านบริการวิชาการ ร่วมกับ หน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และ NGO ทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม ตามโมเดลต้นไม้แห่งความสุข (WU Happy Tree) ที่ครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติอาชีพ มิติสุขภาพ มิติการศึกษา มิติทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มิติสังคมและวัฒนธรรม
ซึ่งแต่ละมิติยังสอดคล้องตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations) ดังนี้
มิติอาชีพ (Occupation) สอดคล้องกับ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มิติสุขภาพ (Health) สอดคล้องกับ เป้าหมายที่ 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มิติการศึกษา (Education) สอดคล้องกับ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มิติทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environment and Resources) สอดคล้องกับ เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มิติสังคมและวัฒนธรรม (Culture and Society) สอดคล้องกับ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดังนั้น หลักการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวมกับโมเดลต้นไม้แห่งความสุขของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์หลักในถิ่นและมุ่งสู่ความเป็นเลิศสู่สากล ด้วยการยกระดับงานบริการวิชาการ วิชาการรับใช้สังคม และวิจัยเชิงพื้นที่ สร้างผลกระทบเชิงประจักษ์และตอบโจทย์สร้างการยอมรับในระดับสากลสู่การจัดอันดับโลกมหาวิทยาลัยความยั่งยืน
ที่มา: 1. United Nations. (2015). Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development. https://sdgs.un.org/2030agenda
- สำนักกิจการเพื่อสังคม เครือเบทาโกร. (2018). แนวทางการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development: HAB). http://new.research.doae.go.th/wp-content/uploads/Betago_HAB-DOAE-final_.pdf
- 3. อมรศักดิ์ สวัสดี. (2024). วิสัยทัศน์ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. https://cas.wu.ac.th/