
ภาพข่าวที่ดีต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพนั้นได้ โดยมีความสอดคล้องกับเนื้อหาข่าวที่จะนำเสนอ ภาพข่าวอาจไม่สามารถสื่อความหมายได้ครบถ้วนในภาพเดียวว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่ภาพข่าวจะช่วยให้ข่าวนั้นมีความชัดเจนและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ช่างภาพจึงต้องหาวิธีการให้ได้มาซึ่งภาพข่าวที่ดี และทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น โดยมีเทคนิคการถ่ายภาพข่าว ดังนี้
1. เลือกบุคคลในข่าวให้น่าสนใจและเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อข่าวที่จะนำเสนอ
2. การถ่ายภาพบุคคลควรอยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสม เพื่อเป็นการให้เกียรติบุคคลในข่าว ไม่นั่งหรือยืนตัวตรงอย่างการถ่ายรูปบัตรประชาชน แต่ควรอยู่ในท่าทางที่ส่งเสริมบุคลิกภาพ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของบุคคลในข่าวด้วยเสมอ
3. ภาพข่าวแนวตั้งและภาพข่าวแนวนอน ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้งานกับสื่อใด ควรวางแผนว่าต้องการใช้ภาพข่าวรูปแบบไหน เพื่อจะได้เก็บภาพให้ครบถ้วนสำหรับการใช้งาน
4. ภาพข่าวต้องมีความคมชัดและมีความสว่างในภาพที่เหมาะสม ดังนั้น ในการถ่ายภาพในสถานที่ที่มีปริมาณแสงน้อยจึงจำเป็นของใช้แฟลชช่วย
5. ฉากหลังในภาพต้องไม่รกสายตา ยิ่งหากเป็นการถ่ายภาพบุคคล ต้องระวังเรื่องกิ่งไม้ เสา หรือแนวเส้นต่าง ๆ ที่จะโผล่ออกมาในลักษณะเหมือนมีเขา หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรถ่ายเบลอฉากหลัง ด้วยการปรับรูรับแสงให้กว้าง ความเร็วชัตเตอร์สูง ก็จะได้ภาพที่เหมาะแก่การใช้งานมากยิ่งขึ้น
6. การถ่ายภาพบุคคลครึ่งตัว ช่างภาพต้องย่อตัวลงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ดูเป็นภาพมุมกด (ศีรษะใหญ่ ช่วงตัวสั้น รูปร่างดูไม่สมดุล) โดยให้กล้องอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาของบุคคลในภาพเสมอ
7. น้ำหนักในภาพถ่ายฝั่งซ้ายและฝั่งขวาควรสมดุลกัน หากเป็นการถ่ายภาพหมู่ช่างภาพควรจัดตำแหน่งการยืนให้เหมาะสม เพื่อให้น้ำหนักในภาพสมดุล
8. ข้อควรระวังในการถ่ายภาพหมู่ คือ บุคคลในภาพบางคนอาจมีการหลับตา การถ่ายภาพกันเหนียวเอาไว้อีกหนึ่งหรือสองภาพ จะช่วยให้มีภาพตัวเลือกในการใช้งาน แก้ปัญหาบุคคลในภาพหลับตาได้เป็นอย่างดี
9. ควรให้สัญญาณการกดชัตเตอร์เสมอ เพื่อให้บุคคลในภาพมีเวลาในการเตรียมตัวและป้องกันการหลับตาระหว่างการถ่ายภาพ ซึ่งการพูดให้สัญญาณนี้เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรในวงการถ่ายภาพ เช่น หากเป็นการถ่ายภาพ Portrait ของนางแบบ ช่างภาพไม่จำเป็นต้องให้สัญญาณก็ได้ เพราะการเลือกจังหวะกดชัตเตอร์ถ่ายไปเรื่อย ๆ จะทำให้ได้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อใดที่เป็นการถ่ายภาพหมู่การให้สัญญาณกดชัตเตอร์ถือว่าสำคัญมาก โดยช่างภาพอาจจะนับ 1, 2 แล้วกดชัตเตอร์ ซึ่งเป็นการให้สัญญาณแบบพื้นฐาน หรือพูดให้สัญญาณเป็นอย่างอื่นตามความเหมาะสมก็ได้เช่นกัน
10. การถ่ายภาพหมู่ไม่จำเป็นต้องจัดไว้เป็นลำดับสุดท้ายหลังเลิกงาน แต่สามารถถ่ายได้ก่อนตั้งแต่เริ่มงาน เพื่อที่แขกคนสำคัญจะได้อยู่ร่วมถ่ายภาพครบทุกคน
11. เมื่อใดที่เป็นการถ่ายภาพกลางแจ้งที่แดดร้อน ช่างภาพต้องคิดให้ไว ถ่ายให้เร็ว เพื่อบุคคลในภาพจะได้ไม่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ
นอกจากเทคนิคในข้างต้นแล้ว การถ่ายภาพกิจกรรมหรืองานใด ๆ ก็ตาม ควรถ่ายภาพให้มีหลากหลายเพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้งาน ซึ่งนอกจากภาพบุคคลและภาพหมู่แล้ว ควรมีภาพบรรยากาศ สถานที่ ของตกแต่ง การดำเนินกิจกรรม ผู้ร่วมงานในอิริยาบถต่าง ๆ ถ่ายเก็บอารมณ์ผู้คน (candid) ซึ่งภาพเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่องานประชาสัมพันธ์
อ้างอิง:
การถ่ายภาพและเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ งานประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร