“ถ้าการซักผ้าด้วยมือเคยเป็นกิจกรรมที่เหนื่อย น่าเบื่อ และทำให้ชีวิตของเราเสียเวลาเป็นอย่างมาก ทำไมการที่ทุกวันนี้เรามีเครื่องซักผ้าอัตโนมัติ ชีวิตของเรากลับยังเหนื่อย น่าเบื่อ และเสียเวลากับการซักผ้า”
คือหนึ่งในคำถามที่หนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ ของโอลิเวอร์ เบอร์คีแมน (Oliver Burkeman) ได้กระตุกให้ผู้อ่านฉุกคิด เพื่อมองภาพการใช้ชีวิตของพวกเราในปัจจุบันให้ลึกขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ หรือ Four Thousand Weeks เป็นหนังสือแนวการพัฒนาตัวเอง ผสมผสานกับแนวคิดกึ่งปรัชญา ที่ให้อธิบายถึงแนวทางการบริหารจัดการเวลา (Time Management) ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผู้เขียนใช้วิธีการตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดว่า จริงๆแล้วชีวิตเรามีเวลาแค่เพียงสี่พันสัปดาห์เพียงเท่านั้น สำหรับการทำอะไรก็ตามที่เราอยากจะทำ ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่น้อยมากหากเปรียบเทียบกับกาลเวลาตั้งแต่ดาวเคราะห์ที่เราเรียกว่าโลก ได้ถือกำเนิดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาอันน้อยนิดที่เรามีอยู่นั้น มนุษย์กลับพยายามที่จะตีกรอบระยะเวลาที่มีอย่างจำกัดให้สั้นลง ด้วยความพยายามที่จะยัดเอาสิ่งต่างๆเข้ามาในชีวิต เพื่อให้คนเราว่ามีเรื่องต้องทำมากขึ้นกว่าเดิม ผ่านกับดักของคำศัพท์ที่เราต่างคุ้นเคยกันดีอย่างคำว่า “ประสิทธิภาพ (Productivity)”
ใจความหลักของหนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ คือการที่ผู้เขียนชี้ให้เราเห็นว่า ในปัจจุบัน นักคิด นักวิชาการ นักธุรกิจ หรือหนังสือหลายต่อหลายเล่ม พยายามตีกรอบการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน เพื่อโน้มน้าวให้เราพยายามที่จะควบคุม และเป็นเจ้าของเวลา พยายามที่จะบริหารจัดการเวลาให้เป็นของเราเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความพยายามนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา เช่น เครื่องซักผ้า หรืออีเมล์ ซึ่งควรจะช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายและมีเวลาเพิ่มมากขึ้น แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามคือเรายังรู้สึกยุ่ง และไม่มีเวลาอยู่ดี หรือการสร้างความกดดันทางสังคมให้เราขยันทำงานตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง และพยายามค้นคว้าหาความรู้ใส่ตัวตลอดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความก้าวหน้าในชีวิต จนส่งผลเรารู้สึกผิดเมื่อใช้เวลาว่างไปอย่างเสียเปล่าโดยไม่ทำอะไรที่เกิดประโยชน์ โดยผู้เขียนพยายามอธิบายให้เราเข้าใจว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีมากมายขนาดไหนเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก หรือไม่ว่าเราจะพยายามขยันตั้งใจทำงานและหาความรู้ใส่ตัวมากมายแค่ไหน แต่เราก็ยังรู้สึกว่าไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ นั่นเป็นเพราะเราพยายามที่จะควบคุมเวลาให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในชีวิต ทั้งที่จริงๆแล้วเราไม่สามารถนิยามคำว่า ประสิทธิภาพได้ และเวลา (Time) เอง ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถควบคุมได้ แต่เวลาและการดำรงอยู่ของตัวเราเป็นสิ่งเดียวกันมากกว่า การพยายามอยู่เหนือการเวลาโดยมี “ประสิทธิภาพ” เป็นเป้าหมาย จึงกลายเป็นระยะทางที่ไม่สิ้นสุด ในขณะที่เวลาของเราเองกำลังหมดลง
ตลอดการเดินทางที่ผู้อ่านใช้ไปกับการอ่านหนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ จึงเต็มไปด้วยแนวคิดและคำอธิบายที่ผู้เขียนพยายามจะโน้มน้าวให้เราทำใจยอมรับข้อจำกัดสำคัญในชีวิต นั่นคือเราไม่สามารถทำทุกอย่างที่เราต้องการได้ เพราะชีวิตเรามีเวลาจำกัด หนังสือจึงพยายามที่จะสื่อสารกับผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นจนจบ ว่าสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือ ให้เรา “เลือก” สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ มากกว่าการพยายามที่จะทำทุกอย่างให้สำเร็จให้ได้ เพราะสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การปฏิเสธงานที่เราไม่ได้อยากทำ แต่เป็นการปฏิเสธสิ่งที่เราอยากจะทำมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตเรามีอย่างจำกัด นั่นคือมีแค่เพียงสี่พันสัปดาห์เท่านั้น สำหรับใครที่สนใจอยากจะอ่านเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงข้อจำกัดด้านเวลาในชีวิตของเรา สามารถเข้าไปเดินทางร่วมกันกับผู้เขียนผ่านหนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ หรือ Four Thousand Weeks ได้จากร้านหนังสือทั่วไป
เขียนโดย อาจารย์พีรศุษม์ บุญแก้วสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์
